xs
xsm
sm
md
lg

เจาะเบื้องหลัง “น้องภูมิ” เก็บเงินแสนคืนเจ้าของ “แค่สอนน้องตามประสาคนบ้านนอก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ทำดีไม่หวังผลตอบแทน! เปิดใจ “ครอบครัว-ครูประจำชั้น” เด็ก ป.3 เก็บเงินแสนคืนเจ้าของ แถมไม่ยอมรับเงินค่าขนม ส่วนคนเป็นแม่สุดภูมิใจ แม้อยู่ห่างกันช่วงเปิดเทอม ด้านยายที่เลี้ยงมาตั้งแต่ 2 เดือน ภูมิใจไม่ต่างกัน ยืนยันเลี้ยงดูหลานชายเป็นอย่างดี

“ผมขี่จักรยานผ่านไปแล้ว แต่คิดว่าเจ้าของตามหาอยู่ เลยไปเก็บมาครับ”

คำพูดสั้นๆ จากปาก ด.ช.ภาวัต ตู้ลา หรือ น้องภูมิ นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนบ้านสันต้นดู่ ต.สันมะเค็ด อ.พาน จ.เชียงราย เก็บเงินได้รวมเป็นเงิน 100,000 กว่าบาท แม้ทีมข่าวจะโทร.ไปสัมภาษณ์น้องเพิ่มเติม แต่น้องก็ไม่ได้พูด เพราะเป็นคนค่อนข้างขี้อาย จึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวการทำความดีผ่านครอบครัวและครูประจำชั้นแทน

สำหรับผู้ให้กำเนิดเด็กดีของสังคมอย่าง กีรนัส อุปละ แม่ของน้องภูมิ ก็ได้เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live ว่าตนเองรู้สึกภูมิใจในตัวลูกอย่างมากหลังจากทราบข่าวว่าลูกชายเก็บกระเป๋าได้และส่งคืนเจ้าของ

















“คนเป็นพ่อเป็นแม่ ถ้าลูกทำความดี ก็มีความภูมิใจค่ะ ไม่ว่าความภูมิใจนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แล้วน้องภูมิเขาเป็นคนร่าเริง มีอะไรเขาก็จะคุยจะพูด แต่ส่วนมากคุณยายจะเป็นคนอบรมสั่งสอน เพราะคุณแม่มาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่น้องจะมาหาแม่ช่วงปิดเทอม จะเอามาเลี้ยงที่กรุงเทพฯ พอเปิดเทอมก็จะกลับต่างจังหวัดค่ะ แล้วเวลาเราสอนอะไรเขา เราจะต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้เขาดูเป็นแบบอย่างค่ะ

อย่างเรื่องที่น้องทำ แม่ก็ภูมิใจนะคะ เพราะเป็นความดีอย่างหนึ่งของสังคมต้องมีค่ะ แล้วอยากฝากถึงเด็กๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าหรือว่าสิ่งของอย่างอื่นที่ไม่ใช่ของเรา ถ้าเก็บแล้วคืนเจ้าของก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

ไม่ใช่แค่นี้ คนที่เลี้ยงดูน้องภูมิมาตั้งแต่อายุได้เพียง 2 เดือน อย่าง ยายบุญยงค์ อุปละ เผยกับทีมข่าวว่า ตนเองต่างก็รู้สึกภูมิใจกับหลานชายอย่างมากจนรู้สึกพูดอะไรไม่ออก

“ตอนนั้นเขาเก็บได้ก็เอาไปให้ตาก่อน แล้วดูว่าเป็นของใคร แล้วเขาก็บอกแม่ไปส่งหนูหน่อย เขาจะเรียกยายว่าแม่ค่ะ เราก็พาไปส่งคืนที่บ้าน แล้วเงินในธนาคารเขามีอยู่ 100,000 กว่าบาท ส่วนเงินสดมีอยู่ 3,000 กว่าบาท เจ้าของเขาก็บอกว่า หนูเป็นเด็กดีของประเทศ เป็นเด็กดีของสังคม ถ้าไม่ได้หนู ลุงไม่ได้เงินแสนคืนจริงๆ



หลังจากนั้นเจ้าของกระเป๋าต้องการให้เงินแก่น้องภูมิ 1,000 บาท แต่ยายก็พูดว่าให้เพียงค่าขนมก็พอไม่ต้องให้เยอะ พอเจ้าของนำเงินใส่มือ น้องภูมิก็ไม่ยอมเอาแล้วมองหน้ายาย หลังจากยายพยักหน้าอนุญาตจึงยอมรับเงินนั้นมา

ยายก็เลี้ยงน้องอย่างดีเลยค่ะ เมื่อก่อนตัวเล็กๆ ก็มีตามใจอยู่ พอโตขึ้นเริ่มเอาใจตัวเอง ยายก็ต้องคอยเปลี่ยนนิสัย คอยสอนว่าอย่าทำอย่างนี้ เขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนของเขาเอง ยายไม่มีเคล็ดลับหรอกค่ะ ก็สอนไปตามประสาบ้านนอกค่ะ”

ทางด้านเจ้าของกระเป๋าก็ได้เขียนจดหมายถึงคุณครูประจำชั้น เพื่อเล่าเรื่องราวดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ครูเล่าเหตุการณ์ให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียนได้เก็บเอาไปเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลก! “ปลูกฝังเด็ก” ให้รู้จักทำความดี

รู้จักตัวตนน้องภูมิผ่านครอบครัวไปแล้ว ลองมาฟังจากปาก ครูอำไพ จังขันธ์ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของน้องภูมิกันบ้าง ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับทีมข่าวผ่านปลายสายถึงเหตุการณ์ในวันที่น้องภูมิเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ แต่ไม่คิดที่จะเอาไปเป็นของตนเอง

“เรื่องราวเกิดขึ้นขณะน้องภูมิปั่นจักรยานในหมู่บ้าน ซึ่งกำลังไปเล่นไปเที่ยวกับเพื่อน กระทั่งเขาไปเจอกระเป๋าบนถนน หลังจากนั้นน้องภูมิได้เอาไปให้ที่บ้าน และได้เปิดดูในกระเป๋า พอดีมีบัตรประชาชนของคุณสมเดช คนในหมู่บ้านเดียวกันค่ะ แต่บ้านอยู่ห่างกัน น้องภูมิจึงไปบอกคนในครอบครัวค่ะ”



ทั้งนี้ ในกระเป๋าจะมีเงินสดและบัตรเอทีเอ็มอยู่ซึ่งมีหมายเลขโทรศัพท์ติดไปด้วยไปด้วย ครอบครัวของน้องภูมิจึงเอาไปส่งให้เจ้าของคืนที่บ้าน

“โรงเรียนบ้านสันต้นดู่ก็จะมีโครงการต่างๆ ที่ก็จะคอยปลูกฝังการทำความดีให้แก่เด็กในโรงเรียนนะคะ อย่างกรณีน้องภูมิ เราก็ยกตัวอย่างให้นักเรียนว่า เห็นไหมเขาทำความดี ความดีก็ตอบแทน ถึงแม้เราไม่ได้เงิน แต่เราก็ได้ชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน ให้กับคุณพ่อคุณแม่ ในอนาคตถ้าเรามีความซื่อสัตย์ เราก็จะเป็นที่รักของคนทั่วไป

น้องภูมิเขาก็เป็นเด็กปกติ ธรรมดา เรียบร้อย ซุกซนตามประสาเด็กบ้าง บ้านอยู่ใกล้โรงเรียน และเป็นลูกคนสุดท้อง เป็นเด็กน่ารัก ไม่ค่อยดื้อ ไม่พูดเสียงดัง เด็กธรรมดาตามชนบททั่วๆ ไปค่ะ

แต่เด็กที่นี่ส่วนใหญ่เขาก็จะทำแบบนี้ เพราะว่าโรงเรียนเราจะมีโครงการเก็บของได้ให้ส่งคืน ซึ่งเป็นโครงการของห้องสมุดที่มีมาหลายปีมากแล้ว และจะมีคณะกรรมการ มีสมุดบันทึก เพราะในโรงเรียนจะมีเด็กที่เก็บปากกา เก็บนาฬิกา เก็บเงินได้ 5 บาท 10 บาท เขาก็จะมาแจ้งครูเวรประจำวันหรือครูประจำชั้น แล้วก็จะเอามาประกาศหน้าเสาธง ในเพื่อนๆ น้องตบมือชมเชยค่ะ แล้วแต่คุณครูจะดำเนินการยังไง หรืออาจจะให้น้องๆ เป็นดินสอเพื่อเป็นกำลังใจ





ใครทำความดีก็จะมีการจดลงในสมุดรวมของโรงเรียนจะมีคณะกรรมการเขาดูแลอยู่คอยบันทึกว่าใครเก็บอะไรได้ แล้วถ้าใครเป็นเจ้าของก็จะมารับคืนที่หน้าเสาธง ถ้าเขาไม่ใช่เจ้าของเขาก็ไม่เอา เมื่อ 2-3 วันก่อนก็มี ด.ญ.ณัฎฐณิชา นักเรียนชั้น ป.1 เก็บกระเป๋าสตางค์ของผู้ปกครองได้ในโรงเรียน มีเงินประมาณ 4,000 กว่าบาท”

ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันต้นดู่ อย่าง ประพันธ์ สมบูรณ์ ได้เป็นตัวแทนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 มอบเกียรติบัตรให้แก่น้องภูมิ นักเรียนชั้น ป.3 และ ด.ญ. ณัฎฐณิชา จุมปู นักเรียนชั้นป.1 เพื่อเชิดชูคุณงามความดีของเด็กทั้ง 2 คน ที่เก็บเงินได้และนำส่งคืนเจ้าของอย่างครบถ้วน

สำหรับโครงการเก็บเงินได้ส่งคืนเจ้าของ ครูอำไพบอกกับทีมข่าวต่อว่า เป็นโครงการที่ดีมากๆ อีกโครงการ เพราะสามารถสอนให้เด็กไม่รู้จักเอาของคนอื่น ถ้าไม่ใช้ของตัวเองก็ไม่เอา แล้วโรงเรียนยังมีแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของโรงเรียน ซึ่งมีอยู่ 8 ข้อด้วยกัน เกี่ยวกับคุณธรรมของเด็กในด้านต่างๆ เพื่อประเมินทางพฤติกรรมแต่ไม่ใช่คะแนน รวมทั้งยังให้ผู้ปกครองที่บ้านประเมินมาด้วย แล้วเอามารวมกันหลังจากนั้นก็ประกาศให้นักเรียนทราบ

สุดท้าย คุณครูอำไพมองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กเก็บของได้แล้วหาทางส่งคืนเจ้าของ เพราะว่าเด็กแต่ละคน ก็จะเห็นตัวอย่างการทำความดีจากทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้องและเพื่อนๆ ในโรงเรียนที่มีให้ได้เห็นต่อๆ กันมาอยู่ตลอด

ข่าวโดย MGR Live




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น