ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - จับตา "สายการบินนกแอร์" ต่อการดำเนินแผนฟื้นฟูธุรกิจ หลังได้ CEO คนใหม่จากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ "จุฬางกูร" เข้ามาขับเคลื่อนองค์กร
หลังจากที่ "นายพาที สารสิน" ได้โบกมือลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ตั้งแต่ปลายปี 2560 และถูกจับตาว่าใครจะขึ้นมานั่งตำแหน่งนี้แทน ซึ่งหลังจากยืดยื้อมานาน ล่าสุด “นกแอร์” ประกาศแต่งตั้ง “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” นั่งซีอีโอ และให้ “ประเวช องอาจสิทธิกุล” ซึ่งเคยนั่งตำแหน่งซีอีโอรักษาการณ์มาแล้ว กลับมานั่งประธานคณะกรรมการบริหารเช่นเดิม พร้อมโชว์ต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจการบินอีก 10 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อครั้งที่ 6/2562 วันที่ 13 มิถุนายน 2562
"การมีตัวแทนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ คุณวุฒิภูมิ จุฬางกูร มานั่งเป็นซีอีโอ นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับนกแอร์ เพราะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการจัดทัพผู้บริหารที่สะท้อนให้ถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นไปตามแผนฟื้นกิจการโดยเร็ว เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักลงทุนและผู้โดยสารไว้วางใจในการใช้บริการของสายการบินนกแอร์ได้เป็นอย่างดี” นายประเวช กล่าวไว้
ทั้งนี้ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ได้ผ่านการอบรมบทบาทหน้าที่กรรมการจากสมาคมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หลักสูตร Director Certification Program (DCP) รุ่น 148/2554 และหลักสูตร Finance for Director (FFD) รุ่นที่ 12/2554 อีกทั้งมีประสบการณ์ด้านการทำงานที่หลากหลายโดยนั่งเป็นกรรมการและผู้บริหาร ทั้งในบริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งด้วยกัน อาทิ เป็นกรรมการ, กรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น, กรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บมจ.ไอร่า แคปปิตอล เป็นต้น
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ NOK กล่าวต่ออีกว่า นกแอร์ยังคงมุ่งมั่นในการประกอบกิจการ เพื่อเป็นสายการบินของคนไทยที่ตอบรับทุกสไตล์ของการเดินทาง ล่าสุดได้รับมอบใบต่ออายุใบอนุญาตให้ประกอบกิจการการค้าขายในการเดินอากาศแบบประจำ มีกำหนดภายในประเทศและระหว่างประเทศ และแบบไม่ประจำ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
“สายการบินนกแอร์ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา และวันนี้นกแอร์ได้แต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น"
การบินไทยไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน NOKAIR
อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปี 2562 NOK ประกาศเพิ่มทุนอีก 908.79 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 2,499.25 ล้านบาท เป็น 3,408.40 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 908.79 ล้านหุ้น จะเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ในราคาหุ้นละ 2.75 บาท อัตราส่วนในการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน 2.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน
โดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว และต้องรับสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน 198.16 ล้านหุ้น เป็นเงินมูลค่า 544.93ล้านบาท กลับสละสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว ส่งผลให้เมื่อการขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้นของ NOK ทำให้สัดส่วนในการถือหุ้นของ การบินไทยลดลงจาก 21.80 % เหลือ 15.94% หรือลดลง 5.86%
สำหรับการเพิ่มทุนดังกล่าวนั้น NOK ให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอรองรับแผนการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงฝูงบิน รวมทั้งขยายเส้นทางและเครือข่ายการบิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทให้สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยจะเร่งดำเนินการตามแผนลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้และเร่งปรับโครงสร้างองค์กร อีกทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องและเพื่อให้การเพิ่มทุนของ NOK สำเร็จ
ท้ายที่สุดผู้บริหารได้ชักชวนกลุ่ม "จุฬางกูร" เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มจุฬางกรูมีการถือหุ้นใน NOK รวมกันมากกว่า 67% กลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ขณะที่ บมจ.การบินไทย จากสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลงหลังตัดสินใจไม่ยอมเพิ่มทุน ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 15.94%
ทั้งนี้ NOK ตั้งเป้าแผนงานปี 2562 ว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานหยุดขาดทุน ซึ่งในความตั้งใจเดิมนั้นบริษัทควรหยุดขาดทุนตั้งแต่ปี 2561 แต่ปัญหาน้ำมันราคาสูงจากสงครามการค้าและตลาดจีนหดตัว ส่งผลให้ต้องเลื่อนเป้าหมายการหยุดขาดทุนมาในปี 2562 แทน โดยคาดว่าจะหยุดการขาดทุนได้เร็วสุดในช่วงสิ้นปีนี้
เบื้องต้น NOK ตั้งเป้าหมายจะหยุดขาดทุนให้ได้ 3 ไตรมาส จากนั้นจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูเฟสที่ 2 คือสร้างเสถียรภาพ และเฟสที่ 3 สร้างการเติบโตต่อไป โดยแนวทางการหยุดขาดทุน คือ การเพิ่มรายได้ ด้วยการเพิ่มโค้ดแชร์และความร่วมมือกับสายการบินนกสกู๊ตมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มเส้นทางอินเดียเพื่อชดเชยตลาดจีนที่หดตัว รวมถึงเปิดเส้นทางในตลาดญี่ปุ่น เพิ่มเติม
ขาดทุนสะสมหนัก ตลท.แขวน C
ที่ผ่านมา NOK มีผลการดำเนิงานขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ยังไม่มีท่าทียุติ จนในที่สุดถูกตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นเครื่องหมาย “C” เตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวัง ล่าสุดเมื่อ 29 พ.ค.2562 ทำให้บริษัทได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ในการที่หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย “C” จากการที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชาระแล้ว สำหรับงบการเงินไตรมาสที่ 1/2019 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 ซึ่งชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลดอลล่าร์สหรัฐ
ส่วนปัจจัยภายในคือการปรับปรุงด้านรายได้ ประสิทธิภาพของการบริหารต้นทุนในการดำเนินงาน และความตรงต่อเวลาของเที่ยวบิน ซึ่งที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร
ทั้งนี้ NOKAIR ได้ปรับแนวทางการตลาดให้เน้นขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาต่อหน่วยสูงขึ้น การจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะพันธมิตรธุรกิจสายการบินเท่านั้น พร้อมขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศ การเพิ่มรายได้อื่น นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสาร (Ancillary revenue) และ การสื่อสารให้ผู้โดยสารเกิดความเชื่อมั่นต่อบริษัท โดยเฉพาะในเรื่องของการมีเที่ยวบินที่ตรงต่อเวลาสายการบิน อีกทั้งลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยการนำเครื่องบิน ATR 2 ลาออกจากฝูงบิน การเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบิน โดยเพิ่มการบินในเวลากลางคืน การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงการบริหารงานด้านการให้บริการภาคพื้นดิน การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้มีระยะทางการบินที่ยาวขึ้น การลดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยบริหารจัดการแผนการนำเครื่องขึ้น (Take off) และลงจอด (Landing) ซึ่งบริษัทได้ปรับปรุงไปในหลายส่วนแล้ว ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 6.4%
ขณะเดียวกันแม้ว่าจำนวนเครื่องบินจะลดลงแต่บริษัทสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารต่อลำได้ดีขึ้นจากการเพิ่มเที่ยวบิน เช่น เส้นทางเช่าเหมาลำ ดอนเมือง-ฮิโรชิม่า และเส้นทางเช่าเหมาลำอื่นสู่ประเทศจีน ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนต่อหน่วยลดลง เนื่องจากการใช้ฝูงบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการสานต่อพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบันเพื่อที่จะขยายเครือข่ายได้มากขึ้นและการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ล่าสุด ผลดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2562 บริษัทขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวด 391.29 ล้านบาท มีรายได้รวม 5,449.21 ล้านบาท ส่วนผลดำเนินงานในช่วงต่อจากนี้ สายการบินนกแอร์จะสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ คงต้องรอพิสูจน์ฝีมือ CEO คนใหม่จากตระกลูผู้ถือหุ้นใหญ่ "จุฬางกูร" จะสามารถขับเคลื่อน NOK ให้กลับมาแข็งแกร่งงอีกครั้งได้หรือไม่?