xs
xsm
sm
md
lg

ไปดู “CNBC Indonesia” ก่อนจะย้อนดูทีวีบ้านเรา

เผยแพร่:


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดี กับการเปิดตัวคอนเทนต์ของ JKN CNBC ที่ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) คว้าลิขสิทธิ์จาก NBC (Universal) เจ้าของช่อง CNBC จากสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 10 ปี

โดยเปิดตัว 3 รายการข่าวที่ร่วมผลิตกับช่อง GMM 25 ได้แก่ รายการ SQUAWK BOX วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-08.00 น., POWER LUNCH วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.30-13.30 น. และ STREET SIGN วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.15-18.00 น.

ล่าสุด ได้เวลากับทาง ททบ.5 ผลิตรายการที่ชื่อว่า HALFTIME REPORT วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.20-12.00 น. โดยทั้ง 4 รายการ จะออกอากาศพร้อมกัน วันที่ 1 กรกฎาคม 2562

JKN CNBC ไม่ใช่สถานีโทรทัศน์ แต่เป็น Content Provider ผลิตรายการป้อนให้กับทีวีดิจิทัลอีกที นอกจากจะผลิตรายการให้กับ GMM 25 และ ททบ. 5 แล้ว ยังมีแพลนที่จะผลิตรายการเสาร์-อาทิตย์ที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ อีกด้วย

สตูดิโอใช้อาคารเจเคเอ็น แกลเลอรี่ ศาลายา สร้างด้วยงบลงทุน 50 ล้านบาท กองบรรณาธิการข่าวถูกออกแบบมาให้กระชับ มีประมาณ 40 คน แม้ข่าวทั่วไปและข่าวประจำวันใช้วิธีซื้อจากหลายแหล่ง แต่ก็มีทีมรายงานสดในเหตุการณ์สำคัญ
งานแถลงข่าวเปิดตัวรายการ JKN CNBC ช่อง GMM 25
ผู้บริหาร JKN CNBC คือ “แอ้ม-สโรชา พรอุดมศักดิ์” ที่ผ่านประสบการณ์ผู้ประกาศข่าวทั้งในและต่างประเทศ เคยบริหารช่องภาษาอังกฤษ Thailand Outlook Channel และ Thai-Asean News Network ในยุคทีวีดาวเทียมกำลังบูม

ส่วนผู้ประกาศข่าวหลัก ล้วนแล้วแต่จากต่างที่มา ได้แก่ ริชาร์ด-วัชราทิตย์ เกษศรี อดีตผู้ประกาศข่าวช่องนิว 18, ปาล์มมี่-สินิดา เพชรวีระกุล พิธีกรรายการรวยหุ้น รวยลงทุน

กีตาร์-วรินท์มาศ ปัญญาดี อดีตพิธีกรช่องกรุงเทพธุรกิจทีวี, นาว 26 และ ทีเอ็นเอ็น 24, อิ๊ก-บรรพต ธนาเพิ่มสุข อดีตพิธีกรช่อง 3SD และ Money Channel และ ทีน่า-สุภัททกิต เจตทวีกิจ อดีตพิธีกรรายการ ช่อง Money Channel

นับตั้งแต่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยุติออกอากาศช่อง Money Channel เมื่อเดือนธันวาคม 2561 นอกจากเสียดายแบรนด์ที่สั่งสมมาเป็นสิบปีแล้ว เราแทบจะเหลือสื่อทางเลือกเพื่อเศรษฐกิจและการลงทุนที่น่าเชื่อถือจริงๆ น้อยมาก

แม้ไม่รู้ว่าอนาคตช่อง JKN CNBC จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ก็ขอชื่นชมผู้บริหาร JKN ที่กล้าซื้อลิขสิทธิ์แบรนด์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาให้คนไทยเสพเป็นทางเลือก และหวังว่ารายการที่ออกมาจะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวัง

ไปกันที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่นั่นมีความพยายามผลักดันช่องข่าวธุรกิจในภาษาของตนเองมานานแล้ว ยุคนั้นช่องข่าวเศรษฐกิจและธุรกิจในอินโดนีเซีย มีเพียงแค่ช่อง เอ็มเอ็นซี บิซเนส (MNC Business) ออกอากาศทางเพย์ทีวีของตัวเองเท่านั้น
ช่อง Bloomberg TV Indonesia ที่ปัจจุบันไม่ได้ออกอากาศแล้ว
เริ่มจากกลุ่มไอเดีย กรุ๊ป ซื้อแฟรนไชส์จาก “บลูมเบิร์ก” ช่องเศรษฐกิจและการเงินจากสหรัฐอเมริกา เปิดตัวช่อง “บลูมเบิร์ก ทีวี อินโดนีเซีย” (Bloomberg TV Indonesia) ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556

บลูมเบิร์ก ทีวี อินโดนีเซีย ออกอากาศทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินในกรุงจาการ์ตา เมืองสุราบายา รวมทั้งเคเบิลทีวี และแอปพลิเคชันมือถือ นำเสนอข้อมูลและให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจ การเงิน และธุรกิจ เพื่อตอบสนองชนชั้นกลางประเทศที่เพิ่มขึ้น

โดยมีรายการที่ผลิตเองเป็นภาษาอินโดนีเซีย 80% เฉพาะรายการสดมีอยู่ 8 ชั่วโมง นอกนั้นเป็นรายการจากช่องบลูมเบิร์ก ทีวี อินเตอร์เนชั่นแนล 20%

หลังออกอากาศมานานกว่า 2 ปี ปรากฎว่าไม่ประสบความสำเร็จ ประสบปัญหาทางการเงิน ในหมู่ผู้ชมมองว่า รายการเจาะเป้าหมายเฉพาะกลุ่มมากเกินไป เนื้อหาขาดความสนใจ ยากที่จะได้รับความนิยมในประเทศ

ที่สำคัญ เพย์ทีวีคู่แข่งอย่างเอ็มเอ็นซี เจ้าตลาดในอินโดนีเซีย ที่มีช่อง เอ็มเอ็นซี บิซเนส ไม่ยอมเกี่ยวสัญญาณช่องบลูมเบิร์ก ทีวี อินโดนีเซีย ให้แก่สมาชิก อีกทั้งเพย์ทีวีรายอื่นเคยให้เกี่ยวสัญญาณออกอากาศ 6 เดือน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

สุดท้าย ช่องบลูมเบิร์ก ทีวี อินโดนีเซีย จึงยุติการออกอากาศไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558

ขณะที่ช่องคู่แข่งอย่าง เอ็มเอ็นซี บิซเนส ออกอากาศเมื่อ 29 กันยายน 2553 เป็นสถานีข่าวเศรษฐกิจและธุรกิจ 24 ชั่วโมง ออกอากาศเฉพาะเพย์ทีวีของเอ็มเอ็นซี และแพลตฟอร์มที่กำหนดเท่านั้น

ต่อมาได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (IDX) ออกอากาศภายใต้ชื่อ “ไอดีเอ็กซ์ แชนแนล” (IDX Channel) โทรทัศน์อย่างเป็นทางการของตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย
ชัยรุล แทนจุง (Chairul Tanjung) ประธานกรรมการ ซีที คอร์ป อินโดนีเซีย (ภาพ : CNBCIndonesia.com)
ช่วงที่บลูมเบิร์ก ทีวี อินโดนีเซีย ปิดตัว เป็นจังหวะเดียวกับที่กลุ่ม ซีที คอร์ป (CT Corp) ของ ชัยรุล แทนจุง (Chairul Tanjung) มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย ออกอากาศช่อง ซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย (CNN Indonesia) เมื่อ 17 สิงหาคม 2558

ซีที คอร์ป เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ทรานส์ทีวี (Trans TV) และ ทรานส์ ตูจู (Trans 7) ฟรีทีวีที่มี ทรานส์ มีเดีย (Trans Media) บริษัทในเครือเป็นเจ้าของ ซื้อลิขสิทธิ์ออกอากาศจาก เทอร์เนอร์ บอร์ดคาสติ้ง ซิสเต็ม เอเชียแปซิฟิก

ตอนนั้นผู้ประกาศจากบลูมเบิร์ก ทีวี อินโดนีเซีย อย่าง เฮรา ฮารีน (Hera F. Haryn) และ ปาเงรัน ปันซ์ (Pangeran Punce) ก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ เป็นผู้ประกาศข่าวเศรษฐกิจ และดำเนินรายการซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย บิซเนส

ซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย พยายามเข้าถึงตลาดแมสเรื่อยๆ พร้อมกับขยายช่องทางออกอากาศ จากเดิมเฉพาะสมาชิกทรานส์วิชั่น (TransVision) ก็ขยายไปยังโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบยูเอชเอฟ (UHF) ในกรุงจาร์ตา เมืองบันดุง และเมืองสุราบายา

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการเป็นเจ้าของสื่อของมหาเศรษฐีแทนจุงยังไม่จบ เดือนมกราคม 2559 ทรานส์ มีเดีย เซ็นสัญญาร่วมกับ เอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล (NBC Universal) เปิดตัวช่อง ซีเอ็นบีซี อินโดนีเซีย (CNBC Indonesia)

วัตถุประสงค์หลักของช่องซีเอ็นบีซี อินโดนีเซีย เพื่อให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจระดับโลกเป็นภาษาอินโดนีเซียแก่ผู้ชม โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เติบโต เพื่อเติมเต็มศักยภาพของตลาดทุนและธุรกิจของอินโดนีเซีย







เริ่มจากเปิดตัวเว็บไซต์ CNBCIndonesia.com เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ก่อนที่จะเปิดตัวช่องโทรทัศน์เต็มรูปแบบเมื่อ 10 ตุลาคม 2561 ที่เมืองบาหลี โดยออกอากาศผ่านเพย์ทีวี ทรานส์วิชั่น ช่อง 805 พร้อมกับสตรีมมิ่งทางเว็บไซต์

เฮรา และ ปาเงรัน ผู้ประกาศข่าวเศรษฐกิจหลักของ ซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย ก็ย้ายสังกัดไปอยู่ซีเอ็นบีซี อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่อาคารเดียวกัน โดยเฮรา ก้าวถึงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร และ ปาเงรัน เป็นรองบรรณาธิการบริหาร

ขณะเดียวกัน ได้ดึงผู้ประกาศข่าวจากช่องอื่นเสริมทัพ ได้แก่ เอร์วิน เซอร์ยา บาร์ตา (Erwin Surya Brata) จากช่อง ไอดีเอ็กซ์ แชนแนล และ จัวนิตา วิรัตมาจา (Juanita Wiratmaja) จากช่อง เอ็มเอ็นซี เวิลด์ นิวส์ (MNC World News)
ภาพ : CNBCIndonesia.com
รายการส่วนใหญ่มาจากช่องซีเอ็นบีซี ดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับนักลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย โดยทรานส์มีเดียเป็นผู้ผลิตรายการเอง ส่วนบริษัทแม่ซีเอ็นบีซี จะสนับสนุนให้ใช้ชื่อรายการ ซอฟท์แวร์ออกอากาศ และกราฟฟิก

รายการสดส่วนใหญ่จะออกอากาศในช่วงเช้าถึงค่ำ ไล่ตั้งแต่รายการ SQUAWK BOX, PROFIT, INVESTTIME, CLOSING BELL และ NUMBER’S BITE หลังจากนั้นรายการก็จะฉายรีรันวนไป

นอกจากนี้ ยังมีข่าวสั้น NEWS FLASH ข่าวสำคัญในช่วง BREAKING NEWS รวมทั้ง เฮรา ยังเป็นพิธีกรรายการสนทนาที่ชื่อว่า “ไอโคโนมิคส์” (ICONOMICS) ออกอากาศทุกวันจันทร์อีกด้วย

ใครที่สนใจอยากเห็นหน้าตา ซีเอ็นบีซี อินโดนีเซียว่าเป็นอย่างไร เข้าชมได้ที่เว็บไซต์ CNBCIndonesia.com แต่จะมีบางรายการไม่สามารถรับชมได้เนื่องจากติดลิขสิทธิ์ สงวนไว้เฉพาะผู้ชมผ่านทรานส์วิชั่นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น