xs
xsm
sm
md
lg

ทางรอดและทางไม่รอดของมหาวิทยาลัยไทย : เมื่อยังไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป

เผยแพร่:

ภาพจาก pixabay.com
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


มหาวิทยาลัยไทยเกิดวิกฤติอย่างหนัก การสอบ TCAS ในปีนี้มีที่เรียนว่างเกือบสองแสนที่ นักเรียนต้องการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไม่มากนัก สาเหตุหลักคือภาวะสังคมสูงอายุ (Aging Society) และนับวันจะยิ่งหนักไปมากกว่านี้เพราะเราจะกลายเป็น ภาวะสังคมสูงอายุเต็มขั้น (Aged Society) และภาวะสังคมสูงอายุขั้นสุด (Superaged Society) ประกอบกับประเทศต่าง ๆ ในโลกไม่ว่าจะอเมริกาหรือในยุโรปก็เผชิญปัญหาเดียวกัน คือไม่มีนักศึกษาเพราะปัญหาภาวะสังคมสูงอายุเช่นกัน โลกยังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเกิดการระเบิดดิจิทัล (Digital Disruption) การไปเรียนในมหาวิทยาลัยลดความจำเป็นลงไปเรื่อย ๆ และการไปเรียนเมืองนอกก็ไม่ได้ยากเย็นเช่นในอดีต

มหาวิทยาลัยไทยเริ่มเจ๊ง เริ่มขายกิจการ เริ่มทยอยปิดตัวลง และหลายแห่งเริ่มปรับตัว เพื่อหาทางรอด (และก็อาจจะไม่รอด)

บทความนี้ขอนำเสนอวิธีการปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทยที่เป็นอยู่ และดูแล้วมีทั้งที่น่าจะรอดและยั่งยืนและมีทั้งที่ไม่น่าจะรอดและไม่น่าจะยั่งยืน และที่อยากให้เป็นและอยากเห็นมากขึ้นเพื่อให้อยู่รอดอย่างยั่งยืนต่อไปได้

ทางที่หนึ่ง ใช้การตลาดนำหน้าการศึกษา เช่น ให้ทุนดารานักร้องศิลปินมาเรียน ให้ดารานักร้องศิลปินเป็น presenter ของมหาวิทยาลัย ให้ส่วนลดค่าเล่าเรียนกับนักศึกษาที่สามารถชักชวนเพื่อนมาเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แจกไอแพดเมื่อมาสมัครเป็นนักศึกษา วิธีการเหล่านี้ ไม่น่าจะยั่งยืน การศึกษาไม่ควรใช้ hard sale แบบนี้ ทำให้ดูไร้คุณค่า ไม่น่าเชื่อถือ อาจจะได้ผลในระยะสั้นแต่ในระยะยาวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพาณิชย์ แสวงหากำไร หรือง้อนักศึกษาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ทำให้คุณค่าของมหาวิทยาลัยเองลดลง

ทางที่สอง หานักศึกษาจีนผ่านเอเยนต์ ซึ่งเท่าที่ทราบมาเอเยนต์จีนจะหักค่าเทอมแต่ละเทอมไปจนกว่าจะจบร้อยละ 25 เช่น ค่าเทอมเทอมละแสน เรียนแปดเทอมก็จะถูกเอเยนต์หักไว้เท่ากับ สองแสนบาทต่อคน วิธีการนี้ได้ผลในระดับหนึ่ง ช่วยให้มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ปัญหาคือนักศึกษาจีนที่ได้มาอาจจะไม่ได้มีคุณภาพมากนัก เป็นนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศจีนไม่ได้ ประเทศจีนไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชน และในประเทศจีนนั้นวางแผนการศึกษาจากส่วนกลางโดยพรรคคอมมิวนิสต์ มีการจำกัดจำนวนรับเท่าที่จำเป็นต่อประเทศชาติ นักศึกษาจีนที่มีเงินจริง ๆ ก็จะไปเรียนยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ส่วนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในจีนได้ก็เป็นครีมของประเทศ เก่งมาก ดังนั้นที่มาเรียนเมืองไทยเพราะบ้านเราค่าใช้จ่ายถูกกว่าประเทศจีนมากเหลือเกิน และไม่ใช่เด็กที่เก่งนักและไม่ใช่เด็กที่มีเงินร่ำรวยมากแต่อย่างใด วิธีการนี้ได้นักศึกษาอย่างรวดเร็ว แต่จะหมดไปในทันทีหากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนนโยบายเช่นให้มีการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น หรือยอมให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยเอกชน นักศึกษาจีนที่จะมาเรียนในประเทศไทยก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจีนบางส่วนที่ไม่ได้มาเรียนหนังสือจริง ๆ แต่ใช้วีซ่านักเรียนมาทำมาค้าขายรอบ ๆ มหาวิทยาลัย เปิดร้านค้าต่าง ๆ หรือไปค้าขายอย่างอื่น ซึ่งจะนำปัญหาการตรวจคนเข้าเมืองมาให้มหาวิทยาลัยด้วย

ทางที่สาม เปิดมหาวิทยาลัยออนไลน์ หลักสูตรออนไลน์ ใช้ e-learning มากขึ้น ขณะนี้ในประเทศไทยทำกันอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือ โยกการเรียนการสอนไปอยู่ออนไลน์ทั้งหมด เรียนกันบนออนไลน์จริง ๆ ข้อดีของวิธีการนี้คือตรงกับ lifestyle ของนักเรียนสมัยใหม่ จะเป็นที่นิยม แต่นักเรียนที่เข้ามาอาจจะไม่ได้ผ่านการคัดเลือก รับนักศึกษาได้มาก แต่อัตราการสำเร็จการศึกษาอาจจะไม่สูงมากนัก และการเรียนการสอนบนโลกออนไลน์สอนทักษะสูง ๆ ที่ต้องทำให้ดูหรือให้ feedback ได้ยากกว่าการสอนกันในห้องเรียน แต่ถ้ามีแค่การบรรยาย การสอนออนไลน์น่าจะดีกว่าด้วยซ้ำ ทางที่สองคือพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์แล้วเปิดให้เรียนฟรีแนว Massive Online Open Course: MOOC วิธีนี้จะเลือกเนื้อหาง่าย ๆ ไม่ยากนัก จูงใจคนเรียน ไม่ยาวเพื่อทำให้ยากแล้วมาสมัครเรียนในห้องเรียน เป็นวิธีการทางการตลาดที่เรียกว่า อ่อยเหยื่อแล้วลากให้เปลี่ยนใจมา (Bait and Switch) เข้ามาเรียนจริง ๆ สำหรับวิธีการนี้ มีข้อดีคือสอนได้จำนวนมาก และทำให้มีคนอยากมาเรียนมาก สะดวกกับคนรุ่นใหม่สมัยใหม่ ข้อเสียคือ มหาวิทยาลัยไหน ๆ ก็โกออนไลน์ได้ไม่ยากเย็นอะไร ต่อไปมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ยังไม่ทำออนไลน์ก็จะมาโกออนไลน์แบบนี้ แล้วสุดท้ายการเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์ก็จะไม่ได้แตกต่างอะไรอีกต่อไป ต้องกลับมาแข่งกันที่เนื้อหาหลักสูตรอยู่ดี

ทางที่สี่ มหาวิทยาลัยของบริษัท (Corporate University) ไม่ใช่มหาวิทยาลัยของเอกชน แต่เป็นการที่บริษัทเอกชนมาจัดตั้งมหาวิทยาลัยของตนเอง หรือซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนไปเป็นของตนเองและเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อผลิตคนเข้าทำงานให้บริษัทของตัวเอง โมเดลธุรกิจอุดมศึกษา เช่นนี้ มีข้อดีหากบริษัทเจริญรุ่งเรืองทางธุรกิจ เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยของบริษัทจะมีงานทำ และมีทักษะการทำงานที่ตรงกับการทำงานได้ทันทีหลังจบ ปัจจัยความสำเร็จของมหาวิทยาลัยของบริษัท คือบริษัทต้องมีกิจการรุ่งเรือง และสามารถจ้างงานนักศึกษาที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยของบริษัทเองได้ กล่าวคือต้องทำหน้าที่ทั้งนักการศึกษา นายจ้าง และนักธุรกิจได้ดีพร้อมกันไปด้วย ปัญญาภิวัฒน์เป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะกิจการก็รุ่งเรืองดีและมหาวิทยาลัยของบริษัทก็ได้รับความนิยมอย่างยิ่งมีคนอยากเรียนด้วยมากมาย แต่ในมุมกลับกันก็เคยมีบริษัทที่มาซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนแล้วเปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยของบริษัท แต่กิจการหลักของตนเองกลับประสบปัญหาเลยทำให้มหาวิทยาลัยของบริษัทที่ตนเองบริหารก็มีปัญหาด้วย เพราะนักเรียนองไม่เห็นโอกาสในการได้โอกาสในการทำงานได้ดีหลังจบ วิธีการนี้จึงมีความเสี่ยงมาจากความเสี่ยงของบริษัทด้วย

ทางที่ห้า สหกิจศึกษาและโรงเรียนปฏิบัติ (practice school) มหาวิทยาลัยต้องผูกมิตรและเป็นพันธมิตรกับบริษัท การเรียนการสอนและการวิจัยต้องกลมกลืนกับธุรกิจของบริษัท ช่วยตอบโจทย์ ในการแก้ปัญหา วิจัย ให้บริษัท นักศึกษาจะได้ทำงานไปด้วยในบริษัท อาจจะมีการนิเทศก์การฝีกงาน ในรูปแบบการฝึกงานหรือการมีพี่เลี้ยง ทำให้ภาคปฏิบัติกับทฤษฎีได้เจอกัน ทำให้จบไปทำงานได้ในทันที ปัจจัยความสำเร็จสำคัญคือมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี มีความร่วมมือกันแน่นแฟ้น อาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะไม่เท้าลอยอยู่บนหอคอยงาช้าง หลายแห่งบริษัทก็ให้การสนับสนุนทางการเงินกับมหาวิทยาลัยด้วย ข้อที่ต้องระวังมากคืออย่าพึ่งพิงบริษัทที่เป็นพันธมิตรมากจนเกินไป มีคณะแห่งหนึ่งมีพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างสหกิจศึกษากันมายาวนานและดีมาก แต่วันหนึ่งพันธมิตรทางธุรกิจแห่งนั้นตัดสินใจจัดตั้งมหาวิทยาลัยของบริษัทด้วยตนเอง จึงเลิกส่งนักศึกษามาเรียน เลิกให้ทุนการศึกษา และไม่ส่งงบวิจัยให้คณะแห่งนั้นอีกต่อไป ทำให้คณะแห่งนั้นถึงกับซวดเซ ขาดทุนหนัก และแทบจะไม่มีนักศึกษา ดังนั้นวิธีการนี้ควรกระจายความเสี่ยง โดยเป็นพันธมิตรกับหลาย ๆ บริษัทอย่าผูกปิ่นโตกับบริษัทเดียว

ทางที่หก ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย ให้หลักสูตรขายได้ด้วยตนเอง ต้องสอนวิชาความรู้ใหม่ที่ไม่อาจจะหาเรียนได้จากที่อื่น เป็นที่ต้องการของสังคม อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากสอนหนังสือในสิ่งที่ตัวเองเรียนเมื่อสามสิบปีก่อน ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว ยกตัวอย่างเช่น วิชาทางนิเทศศาสตร์จะสอนเหมือน 20 ปีก่อนไม่ได้เลย สื่อเก่าตายไปแทบจะอยู่ไม่ได้ สื่อใหม่สื่อสังคม การตลาดดิจิทัลมาแรงมาก ถ้าอาจารย์ทางนิเทศศาสตร์จะสอนแบบเก่า ด้วยเทคโนโลยีเก่าที่เลิกไปหมดแล้ว ใครจะอยากเรียนด้วย วิธีนี้เป็นวิธีที่น่าจะยั่งยืน แต่อาจารย์ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องทันโลก ทันสมัย ต้องปรับปรุงหลักสูตร หรือคิดหลักสูตรใหม่ๆ ให้ทันสมัย มีนวัตกรรมและนำการเปลี่ยนแปลง จึงจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ถ้าหมดไอเดีย ก็จะเริ่มล้าสมัยและอยู่ได้ยากไม่ยั่งยืน

ทางที่เจ็ด Think Tank ทำงานวิจัยมากขึ้นรับงานวิจัยแนว commissioned research มากขึ้น ขณะนี้บางคณะในบางมหาวิทยาลัย แทบไม่มีนักศึกษา ก็ผันไปทำงานวิจัยเป็นหลัก รับทำ policy research เป็นหัวคิดให้กับประเทศ ทำงานวิจัยชี้นำสังคม และรับทุนวิจัยจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน การจะออกไปรับงานวิจัยเป็น think tank แบบนี้ได้ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องมีชื่อเสียงเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ว่าจ้าง ให้มาจ้างงานหรือให้คำปรึกษา อย่างไรก็ตามวิธีการนี้อาจจะไม่ทำให้ได้นักศึกษามากนัก ยกเว้นนำทุนวิจัยมาจ้างนักเรียนเรียนระดับปริญญาโท-เอก

ทางที่แปด เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม เป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม สร้างนวัตกรรม/สิทธิบัตรให้ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยในไต้หวันหลายแห่งทำเช่นนี้ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ได้ทุนวิจัยมุ่งเป้าเพื่อจดสิทธิบัตร เอาเงินมาจากนักศึกษามาเรียนโท-เอก สร้างผลงาน/นวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์/สิทธิบัตร มีการแบ่งปันสัดส่วนกำไร/ยอดขาย ให้ทั้งอาจารย์/นักศึกษา/มหาวิทยาลัย/ผู้ประกอบการ อาจารย์แต่ละคนเป็น tech start up ในมหาวิทยาลัย ทำให้อุตสาหกรรมมีสิทธิบัตรผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและมูลค่าสูง และมหาวิทยาลัยก็ได้รายได้ดี

ทางที่เก้า ปิดหลักสูตร lay off อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องทำใจเหมือนกันว่า เรามีมหาวิทยาลัยเยอะความต้องการมากเหลือเกิน ถึงอย่างไรก็ใช่ทุกมหาวิทยาลัยหรือทุกคนจะอยู่รอดได้ทั้งหมด ดังนั้นต้องทำใจแข็ง ปิด ยุบรวม ควบกิจการ เลิกจ้างอาจารย์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นต้องทำใจและเตรียมตัวออกไปทำงานที่อื่นในโลกกว้าง หากอาจารย์มหาวิทยาลัยคนไหนที่เป็นของจริง มีทักษะความรู้ที่ภาคเอกชนต้องการย่อมสามารถหางานได้โดยไม่ยากเย็นอะไร

มหาวิทยาลัย/คณะ/ภาควิชาที่อยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่เก่งแข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นผู้ที่ปรับตัวได้ไวที่สุด ทันเวลา จึงอยู่รอด และหนทางแห่งการอยู่รอดไม่ได้มีเพียงทางเดียวแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น