xs
xsm
sm
md
lg

"หมอระวี" จี้กลางสภาฯ ตั้งกมธ.ศึกษาต่อสัมปทานBEM เตือนรบ.ไม่ฟังชาติเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประชุมสภาฯพิจารณาญัตติขอตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาต่อสัญญาสัมปทานBEM "หมอระวี" ย้ำถ้ารบ.ตัดสินใจต่อสัมปทานไม่รอผลการศึกษา ประเทศเสียหาย เสี่ยงเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ



วันนี้ (11ก.ค.) หลังจากจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเนื้อหารายมาตราในวาระ 2 แล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกลับเข้าสู่การพิจารณาญัตติสำคัญที่ค้างตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว คือญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทาน ให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอโดยนายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ จากกรณีที่คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. มีมติต่อสัญญาสัมปทานให้บีอีเอ็มอีก 30 ปี ใน 3 โครงการ เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท 137,000 ล้านบาท โดยมีข้อเสนอให้รัฐดำเนินการเองหรือประมูลสัญญาสัมปทานใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐและประชาชน

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะผู้เสนอญัตติ ได้ชี้แจงผลการศึกษาเบื้องต้นประกอบกับข้อมูลที่เตรียมมา ตั้งแต่ที่มาของข้อพิพาทกับ BEM อันนำมาสู่ค่าเสียหาย 137,089 ล้านบาท โดยมี 1.) กรณีที่คดีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแล้ว ต้องชำระค่าเสียหาย 4,318 ล้านบาท ส่วนกรณีอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีประกอบด้วย 2.) คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดค่าเสียหาย 6,332 ล้านบาท 3.) คดีที่อยู่ระหว่างการพิพากษาของศาลปกครองกลาง 7,226 ล้านบาท 4.คดีที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ BEM ชนะแล้ว 12,050 ล้านบาท 5.) คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ 35,986 ล้านบาท และ 6.) คดีที่เอกชนเตรียมยื่นอนุญาโตตุลาการ 75,473 ล้าน รวม 137,089 ล้านบาท

นพ.ระวี เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียว่า หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อสัญญาสัมปทานให้กับ BEM อีก 30 ปี การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะมีรายได้อยู่ที่ 326,856 ล้านบาท แม้จะแลกกับการไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย 137,089 ล้านบาท แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจมีการแก้สัญญาหรือจ่ายค่าเสียหายในอนาคต แต่หากไม่ต่อสัญญากับ BEM แล้วให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยบริหารจัดการเองจะมีรายได้ถึง 651,612 ล้านบาท ซึ่งหักจากการจ่ายค่าเสียหายแล้ว และไม่มีความเสี่ยงต้องจ่ายค่าเสียหายอีกในอนาคต อีกทั้งการบริหารจัดการพื้นที่จะเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทั้งหมด

นพ.ระวี ยังชี้ให้เห็นถึงข้อดีหากไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับ BEM ว่าเป็นการลดภาระให้กับประชาชนได้ เพราะหากต่อสัญญากับ BEM ค่าทางด่วนจะขึ้น 10 บาททุก 10 ปี แต่หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยบริหารจัดการเอง ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าทางด่วน และไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วนระหว่างทางซ้ำ สามารถเก็บค่าทางด่วน 30 บาท รวดเดียวทั้งเส้นทางได้

นพ.ระวี กล่าวสรุปตอนท้ายย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากรณีนี้ เพราะสัญญานี้มีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท จึงควรเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมโดยการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาข้อมูลจากทุกฝ่ายให้รอบคอบททั้งจากวิศวกรและนักกฎหมาย หากรัฐบาลไม่ตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาก่อน เท่ากับว่ารัฐบาลพร้อมรับเผือกร้อนด้วยตนเอง หากมีข้อมูลชัดเจนแบบนี้ แล้วรัฐบาลยังจะต่อสัญญาสัมปทานให้ BEM ไปอีก 30 ปี ถ้าตนเองเป็นฝ่ายค้าน ก็จะนำเรื่องนี้ไปยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน พร้อมย้ำว่าการเสนอญัตตินี้ไม่ได้มีอคติกับบริษัทเอกชนใด และไม่ได้ฟันธงว่าจะต้องต่ออายุสัมปทานหรือคัดค้านการต่ออายุสัมปทาน แต่เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชนให้พอดี หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เพียงพอ เชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยความสบายใจ เพราะมีข้อมูลพร้อมหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้านต่างอภิปรายสนับสนุนญัตติเพื่อให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาศึกษากรณีดังกล่าว อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การให้บริการด้านการคมนาคม เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ก็เป็นเรื่องธุรกิจด้วย เพราะมีการลงทุนมหาศาล ซึ่งในต่างประเทศเมื่อเก็บเงินจนคุ้มทุนแล้วก็เปิดให้บริการใช้ฟรีโดยไม่คิดค่าบริการ แต่กรณีของประเทศไทย มีการให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ลงทุน และกรณีนี้ก็มีการเก็บเงินจนคุ้มทุนแล้ว รัฐก็ไม่ควรต้องต่อสัมปทานให้เอกชนอีก ดังนั้น กรณีที่รัฐจะต่อสัญญาให้เอกชนต่อไปอีก 30 ปี โดยมีเงื่อนไขจากสัญญาครั้งที่แล้วว่า ถ้าไม่ต่อสัญญาให้รัฐจะต้องจ่ายค่าโง่จากการผิดสัญญาเป็นจำนวน137,000 ล้านบาท ถามว่า ถูกต้องหรือไม่ เพราะเรื่องค่าโง่มักจะมาพร้อมกับการทำสัญญาที่ส่อไปในทางทุจริตตั้งแต่แรก จึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวก่อนที่รัฐจะดำเนินการ ด้าน นพ.ระวี ในฐานะเจ้าของญัตติจะลุกขึ้นขอบคุณที่ที่ประชุมที่ร่วมกันรักษาผลประโยชน์ประชาชน ก่อนที่ที่ประชุมจะมีเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 39 คน เพื่อศึกษาต่อไป โดยใช้เวลาพิจารณาญัตติดังกล่าวนานกว่า 4 ชั่วโมง

ภายหลังจากการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเสร็จสิ้น นพ.ระวี ได้แถลงขอบคุณสมาชิกสภาฯทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ร่วมมือกันพิทักษณ์ประโยชน์ของประเทศ ซึ่งประชาชนสบายใจได้ว่า เรื่องนี้มีตัวแทนของท่านเข้ามาดูแลให้แล้ว ทั้งนี้ตนมั่นใจว่าจะไม่มีการจ่ออายุสัมปทานก่อนที่กรรมาธิการจะพิจารณาเสร็จอย่างแน่นอน ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเริ่มทำงานในวันพฤหัสบดีหน้า




กำลังโหลดความคิดเห็น