xs
xsm
sm
md
lg

ชี้น้ำโขงแห้งทำสะพานเชื่อมไบค์เลนถล่มรอบสอง ชาวบ้านจี้ออกแบบได้มาตรฐานอย่าผลาญภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

สะพานข้ามลำห้วยบังกอ ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมไบค์เลนนครพนม เกิดถล่มรอบสอง
นครพนม-ทีมช่างวิศวกร ลงพื้นที่แก้ปัญหา สะพานข้ามลำห้วยบังกอ เชื่อมไบค์เลนนครพนม เกิดถล่มรอบสอง พบต้นเหตุจากน้ำโขงแห้งดินตลิ่งทรุด ทั้งการออกแบบผิดพลาด ตัวแทนชาวบ้านจี้ต้องสำรวจออกแบบ ให้มีมาตรฐาน อย่าผลาญภาษีประชาชน

วันนี้ (17ก.ค.) ทีมช่างวิศวกรจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.นครพนม ลงพื้นที่สำรวจหาทางแก้ปัญหา กรณีมีสะพานข้ามลำห้วยบังกอ ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่รับน้ำระบายลงสู่น้ำโขง บริเวณริมน้ำโขง บ้านกุดข้าวปุ้น หมู่ 3 ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม ได้เกิดปัญหาทรุดพังถล่มเสียหายเป็นรอบที่ 2 ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้อนุมัติงบประมาณออกแบบก่อสร้างขึ้น เพื่อเชื่อมเส้นทางไบค์เลนเลียบน้ำโขง จากตัวเมืองนครพนม เชื่อมไปยัง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ตามแผนพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.นครพนม

โดยสะพานข้ามลำห้วยบังกอ มีความสูงประมาณ 10 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 61 เมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างปี 2559 จำนวน 7,694,000 บาท สร้างเป็นเส้นทางข้ามลำห้วยบังกอที่ไหลลงน้ำโขง ซึ่งความเสียหายในครั้งแรกหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2560 ได้พังถล่มเสียหาย แต่ยังอยู่ในช่วงประกันสัญญา ผู้รับจ้างซ่อมแซมให้ใหม่ พึ่งแล้วเสร็จเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังมีฝนตกหนัก ทำให้พังถล่มเสียหายเป็นรอบที่ 2

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโขงผันผวน ระดับวิกฤติต่ำสุดรอบ 10 ปี ทำให้ดินตะกอนที่ทับถม บริเวณจุดก่อสร้าง ระหว่างลำห้วยบังกอเชื่อมแม่น้ำโขง เกิดปัญหาดินสไลด์ริมตลิ่งทรุด กระทบโครงสร้างตอหม้อสะพานพังถล่มลงมา ส่วนสาเหตุหลักจากการตรวจสอบข้อมูล คาดว่าจะมีปัญหาที่ผิดพลาดตั้งแต่การสำรวจออกแบบ รวมถึงการสร้างฐานตอหม้อไม่มั่นคงแข็งแรง คล้ายกับการก่อสร้างไบค์เลน ในตัวเมืองนครพนม ที่พังถล่มเสียหาย หลังจากนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง จะรวจเร่งออกแบบแก้ไข และหาบริษัทผู้รับผิดชอบ มาแก้ไขเร่งด่วน


ขณะเดียวกันมีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ออกมาสะท้อนปัญหาอยากให้จังหวัดนครพนม รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สำรวจออกแบบ ให้มีมาตรฐาน เนื่องจากมีการซ่อมแซมไปแล้ว 1 ครั้ง ต้องสูญเสียงบประมาณภาษีประชาชน และไม่เกิดประโยชน์ สร้างแล้วไม่ได้ใช้งาน ต้องมาเสียเวลาก่อสร้างใหม่ อยากให้ทำงานที่ได้มาตรฐาน ได้ใช้งานจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น