xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแพ่ง สั่ง “แพรวา” จ่ายชดเชยเหยื่อ 26 ล้าน ชี้รถตู้ไม่มีส่วนผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

แฟ้มภาพ
MGR online - เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง “แพรวา” สาวขับซีวิคชนรถตู้ดับ 9 ศพ อ้างอิงคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาระบุชัด เยาวชนไม่มีใบขับขี่ขับรถความเร็วสูงชนท้ายรถตู้โดยสาร ส่วนคนขับรถตู้ไม่มีส่วนผิด สั่งแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ชดใช้เงินค่าเสียหาย ตามศาลชั้นต้นร่วม 26 ล้านบาท ถือว่าคดีถึงที่สุด

วันนี้ (17 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ น.ส.แพรวา (นามสมมติ) ขับรถยนต์ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่ำจนมีผู้เสียชีวิต 9 ศพ เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ได้เป็นโจทก์ทั้งหมด 28 ราย ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (นามสมมติ) คนขับรถยนต์, พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา, นางนิลุบล อรุณวงศ์ บิดาและมารดา และ นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค เป็นจำเลย 1-4 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 54 เรื่องกระทำละเมิด ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 เห็นว่า คดี น.ส.แพรวา เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำละเมิด จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อรับฟังได้ว่า น.ส.แพรวา จำเลยที่ 1 กระทำผิด บิดาและมารดา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ก็ไม่ได้นำสืบถึงความระมัดระวังในการดูแล น.ส.แพรวา จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพิพากษา ให้ น.ส.แพรวา บิดา และมารดาของ น.ส.แพรวา ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วย ค่าไร้อุปการะ และค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าอื่นๆ ให้กับโจทก์ทั้งหมด 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่ละคน โดยให้ชำระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท,โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 10,000 บาท, โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 10,000 บาท, โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,800,000 บาท, โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1,800,000 บาท, โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 100,212 บาท, โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 400,000 บาท, โจทก์ที่ 24 เป็นเงิน 4,000 บาท, โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 150,000 บาท, โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 256,925 บาท, โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 100,000 บาท และ โจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 150,000 บาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 26,881,137 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2553

ต่อมาโจทก์ที่ 5, 11 และ จำเลย 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์พิพากษา เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2560 แก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,440,000 บาท, โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,044,000 บาท, โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 800,000 บาท, โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 1,200,000 บาท, โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 226,925 บาท, โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 120,000 บาท และ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,826,925 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

ต่อมาโจทก์ที่ 1-5, 9-19, 21, 22, 25-28 และจำเลยที่ 1-4 ยื่นฎีกา โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์ที่ 1, 3, 9, 15, 19 และที่ 25-28 จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ส่วนจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1-3 เฉพาะในส่วนของโจทก์ที่ 1-6, 9-19, 21-23 และไม่รับฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 7, 8, 20 และที่ 24-28 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง
แฟ้มภาพ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า มีข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุละเมิดจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 2-3 เป็นบิดามารดา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปตามทางยกระดับอุตราภิมุข ขาเข้าจากดอนเมืองมุ่งหน้าไปดินแดงด้วยความเร็วสูงเมื่อถึงบริเวณใกล้ทางลงบางเขน รถของจำเลยที่ 1 ชนท้ายผู้โดยสาร ซึ่งมี นางนฤมล ปิตาทานัง เป็นผู้ขับ เมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปชนขอบกำแพงคอนกรีต ด้านซ้ายเสาไฟฟ้าและเสาป้ายบอกทางแล้วรถตู้โดยสารตกลงมาที่พื้นทางลงจากทางยกระดับ

ส่วนรถคันที่จำเลยขับเสียหลักไปชนขอบกำแพงธุรกิจด้านขวาและหมุนกลับไปชนรถตู้โดยสารเป็นเหตุให้มีผู้เสียหายได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายซึ่งหลังเกิดเหตุพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ซึ่งศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงแล่นแซงรถตู้โดยสารแล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสารจำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทให้ลงโทษจำคุกโดยรอการลงโทษไว้คดีอาญาถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยจำเลยที่ 7 ซึ่งรับประกันภัยรถคันที่ต้องมาที่จำเลยที่1ขับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายโจทก์ทั้ง 28 จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายทดแทนจากจำเลยที่ 7 ต่อไปโดยระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 6-8 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ที่ 6-8 ยินยอมรับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1-3 รวมเป็นเงิน 500,000 บาทและได้รับเงินดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์ที่ 6-8 ไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ จากจำเลยอีกต่อไปซึ่งศาลชั้นต้นได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาและส่งสัญญาประนีประนอมยอมความมายังศาลฎีกาเพื่อพิพากษาตามยอม ที่จำเลยที่ 1-3 ฎีกาขอลดจำนวนค่าเสียหายที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 23 จากที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าทุกข์ทรมานแก่โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 400,000 บาทนั้นโจทก์ที่ 23 ไม่ได้อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 1-3 อุทธรณ์ว่าเมื่อรถตู้แล่นมาด้วยความเร็วสูงนางนฤมลผู้ขับรถตู้จึงขับรถด้วยความประมาทเช่นกันจากพฤติการณ์ที่นางนฤมลมีส่วนประมาทในเหตุละเมิดการกำหนดค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นจำนวนที่สูงเกินควรซึ่งเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งค่าเสียหายของโจทก์รายอื่นไม่เกี่ยวข้องกับค่าเสียหายที่เป็นค่าทนทุกข์ทรมานของโจทก์ที่ 23 แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1-3 กลับมาฎีกาขอให้ลดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 200,000 บาท ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่งที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนปัญหาวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์รับฟังว่านางนฤมลคนขับรถตู้มีส่วนประมาทแล้วรถจำนวนค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดชอบนั้นชอบแล้วหรือไม่และสมควรให้จำเลยที่ 1-3 ชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด

ในปัญหานี้ศาลในคดีส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนในเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมลคนขับรถตู้ ศาลในคดีส่วนอาญาไม่ได้วินิจฉัยไว้คงมีเพียงพฤติการณ์ในการขับรถของคนขับรถตู้โดยสารเท่านั้นและไม่ได้มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่านางนฤมลขับรถด้วยความประมาท

เหตุแห่งความเสียหายจึงเกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวผู้ตายเป็นเพียงผู้โดยสารที่นั่งมาในรถตู้ไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ที่จำเลยที่ 2ให้การว่าเหตุ เกิดจากความประมาทของนางนฤมลนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องนำสืบพยานหลักฐานตามคำให้การ แต่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้สืบพยาน จึงไม่มีข้อเท็จจริงให้รับฟังว่านางนฤมลมีส่วนประมาทที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้และกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน จึงคลาดเคลื่อนและขัดต่อกฎหมาย

ส่วนจำเลยที่ 1-3 ฎีกาว่าเหตุแห่งความเสียหายมิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดฝ่ายเดียว

เห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนในเรื่องรถตู้โดยสารแล่นพร้อมช่องทางจำเลยที่ 1 กะพริบไฟขอทางรถตู้โดยสารแล่นเปลี่ยนช่องทางจากขวาสุดมาช่องกลางและเมื่อจำเลยที่ 1 เร่งความเร็วเพื่อแซงรถตู้โดยสารทันใดนั้นรถตู้โดยสารเบนหัวมาช่องขวาสุดทำให้จำเลยตกใจห้ามล้อพร้อมบีบแตรและหักพวงมาลัยไปทางซ้ายแต่ตามคำฟ้องในคดีอาญาไม่ปรากฏเรื่องการกะพริบไฟขอทางและหลักฐาน รอยห้ามล้อ ของรถจำเลยที่ 1 ทำให้ไม่ได้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งจะเป็นคุณแก่จำเลยที่1และในส่วนค่าเสียหายฝ่ายรถตู้โดยสารจะต้องรับผิดจำเลยที่ 1-3 ที่เนื่องจากเป็นรถโดยสารสาธารณะทั้งในขณะเกิดเหตุรถตู้โดยสารมาด้วยความเร็วสูงและไม่ได้มีเข็มขัดนิรภัย ทำให้ผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถแล้วเสียชีวิตแต่ผู้โดยสารไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายรถตู้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดต่อโจทก์อะไรจึงต้องลดจำนวนลงนั้นเมื่อแต่ละฝ่ายฎีกาโต้เถียงเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมล และจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดจึงเห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกันโดยเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46

ซึ่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับฟังข้อเท็จจริงสรุปความได้ว่ารถของจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารและรถตู้โดยสารแล่นเข้าปะทะกับเสา cctv ซึ่งเป็นการชนปะทะอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายแก่รถตู้โดยสารถึงกับหลังคาโค้ง ซึ่งเกิดจากรถตู้โดยสารยังมีความเร็วสูงอยู่มาก

พฤติการณ์แห่งคดี แสดงว่า รถทั้งสองคันแล่นด้วยความเร็วสูงมาก การที่รถของจำเลยที่ 1 ซึ่งแล่นตามหลังสามารถแล่นทันและเข้าเฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารแสดงว่ารถของจำเลยที่ 1 แล่นด้วยความเร็วสูงกว่ารถตู้โดยสาร

จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินขีดจำกัดความเร็วในทางยกระดับแล่นแซงรถตู้โดยสารแล้วรถของจำเลยที่1เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสารจนเกิดเหตุขึ้นจำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทจำเลยที่1ต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าวส่วนเรื่องการมีส่วนประมาทของ นางนฤมล ศาลในคดีส่วนอาญามิได้วินิจฉัยไว้และปัญหาดังกล่าวใช่ประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญาไม่

ที่ศาลในคดีส่วนอาญาให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยว่านางนฤมล ขับรถตู้โดยสารมาด้วยความเร็วสูงเป็นเพียงแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่หนึ่งขับรถด้วยความเร็วที่ สูงมากจนแล่นทันรถตู้โดยสารแล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วสูงเช่นกันทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปปะทะกับเสาริมทางจนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงจึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 เฉพาะจำเลยที่หนึ่งจึงเป็นผู้กระทำความผิดในครั้งนี้คำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้วการที่จำเลยที่ 1-3 มาฎีกาในทำนองว่าคำฟ้องในคดีอาญาไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์การขับรถที่ไม่เป็นปกติของนางนฤมล ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้เป็นสาระแก่คดี ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่านางนฤมลมีส่วนประมาทในอุบัติเหตุครั้งนี้การที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์การขับรถตู้โดยสารของนางนฤมลที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังว่านางนฤมลมีส่วนประมาทแล้วลดจำนวนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะละให้จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วนนั้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

เมื่อพิจารณาว่าอุบัติเหตุรุนแรงทั้งนี้เกิดจากการขับรถประมาทของจำเลยที่1ผู้โดยสารที่นั่งในรถตู้ ไม่ได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหาย หากแต่เป็นผู้ได้รับเคราะห์ภัยจากอุบัติเหตุจนต้องเสียชีวิต สำหรับนางนฤมลคนขับรถตู้ที่ถึงแก่ความตายข้อเท็จจริงก็ยังรับฟังไม่ได้ว่านางนฤมล มีส่วนประมาทด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะลดจำนวนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะ ส่วนจำเลยที่ 1-3 ฎีกาว่าฝ่ายรถตู้โดยสารต้องรับผิดมากกว่า เพราะเป็นรถโดยสารสาธารณะและไม่มีเข็มขัดนิรภัยก็ไม่ได้มีเหตุผลให้รับฟังแต่อย่างใด

จำเลยที่ 1-3 จึงไม่มีข้ออ้างที่จะขอลดจำนวนค่าเสียหายลงอีกเมื่อเป็นดังที่วินิจฉัยข้างต้นการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวนแล้วลดหย่อนให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชดใช้ 4 ใน 5 ส่วน นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง

ด้วยจึงสมควรแก้ไขโดยให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวน ดังนั้น จำเลยที่ 1-3 ต้องชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแกโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท, โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,800,000 บาท, โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 150,000 บาท, โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 150,000 บาท, โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 150,000 บาท

ซึ่งค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวเหมาะสมแล้วจึงให้เป็นไปตามจำนวนเงินนั้นโดยไม่ต้องลดส่วนความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1-3 เช่นนี้ ฎีกาของโจทก์ที่ 1-5, 9-16, 18, 19, 21, 22 และที่ 24-28 จึงฟังขึ้นและฎีกาของโจทก์ที่ 17 ฟังขึ้นบางส่วนสำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1-3 ฟังไม่ขึ้น ส่วนประเด็นจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1-3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 11 หรือไม่เพียงใด

เห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์ไม่มีใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย ย่อมต้องตระหนักว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับรถอาจเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้แต่จำเลยที่ยังรู้เห็นยินยอมให้นำรถยนต์ที่ตนครอบครองอยู่ไปขับซึ่งหากจำเลยที่ 4 ไม่รู้เห็นยินยอมเช่นนั้นความเสียหายคงไม่เกิดขึ้นจำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ไม่มีใบอนุญาตขับรถในช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 4 จะต้องยับยั้งไม่ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ออกไปหรือต้องห้ามปรามจำเลยที่ 1 ในทันที หรือต้องรีบโทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์กลับเมื่อคืนโดยเร็ว แต่จำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เป็นการไม่เอาใจใส่ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์จะขับรถไปเสี่ยงเเก่การเกิดอุบัติเหตุ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย จึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลจำเลยที่ 1 เช่นนี้จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดซึ่งจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดเป็นจำนวนเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 5 และที่ 11 หาได้มีเหตุที่จะลดความรับผิดของจำเลยที่ 4 ให้เหลือเพียงบางส่วนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1-3 รับผิดต่อโจทย์ ที่ 5 และที่ 11 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยจึงกำหนดให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1-4 ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาทและโจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ได้แก้ค่าเสียหายในส่วนขาดไร้อุปการะที่ศาลอุทธรณ์มองว่า นางนฤมล ปิตาทานัง คนขับรถตู้มีส่วนประมาทอยู่บ้างย่อมถือมีส่วนทำผิดความผิดก่อให้เกิดความเสียหายแต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน

ส่งผลให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ที่ 1- 5, 9-19, 21-22, 25-28 รวมเป็นเงิน 19,826,925 บาท แต่ศาลฎีกามองว่าค่าขาดไร้อุปการะ นั้นจำเลยที่ 1-3 ต้องร่วมชดใช้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์แต่ละราย นั้นเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้วส่งผลให้ฝ่ายจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายกับกลุ่มโจทก์ในชั้นฎีกา และตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมทั้งสิ้น 26 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น