xs
xsm
sm
md
lg

“9 ปี เราไม่ได้สักบาท” เปิดใจพ่อเหยื่อแพรวา 9 ศพ ยังหวังว่าจะได้รับการเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


คร่าชีวิตลูกสาว! เปิดใจพ่อผู้เสียชีวิต คดี “แพรวา 9 ศพ” ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับการเยียวยา “เราไม่ได้เงินสักบาท มีแต่เสีย ตอนนี้ก็เดือนกว่าแล้ว จำเลยก็เงียบ ไม่มีติดต่อมาเลยครับ” ด้านคนรอดตายคดีนี้ ไม่เคยรู้สึกถึงความใส่ใจการเยียวยาจากอุบัติเหตุเลย

คับข้องใจ 9 ปี ความสูญเสียสุดเจ็บปวด!

“9 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เงินสักบาท มีแต่เสีย อย่างผมก็จะมีค่าเดินทาง ค่าที่พัก มันหลายสิบเที่ยวแล้วนะครับ ตั้งแต่ประชุมที่ธรรมศาสตร์ เดินทางมาศาล มาเบิกความ มาฟังคำพิพากษา ค่าใช้จ่ายมันเยอะ

พ.ต.อ.ศรัญ นิลวรรณ อดีต ผกก.สภ.ทุ่งศรีอุดม พ่อของนุ่น-สุดาวดี ผู้เสียชีวิต เปิดใจผ่านปลายสายกับ ทีมข่าว MGR Live ถึงระยะเวลาที่รอการเยียวยาจากคดีแพรวา 9 ศพ ยาวนานถึง 9 ปี โดยคดีแพ่งถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.62 ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์ทั้ง 28 คน ก็คือญาติผู้ตาย รวมถึงผู้บาดเจ็บด้วย ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ 27 ธ.ค.53

[พ่อของนุ่น-สุดาวดี ผู้เสียชีวิต]

“แต่ในวันพิพากษานั้น จำเลยกับทนายความไม่มาศาล ก็ต้องอยู่ในขั้นตอนการส่งคำพิพากษายุติหมาย โดยศาลกำหนดว่าภายใน 30 วัน ต้องนำเงินมาชำระ แต่ถ้าปิดหมายก็ต้องภายใน 15 วัน ต้องมาชำระ

ตอนนี้ก็เดือนกว่าแล้ว จำเลยก็เงียบๆ อยู่ และจำเลยไม่มีติดต่อมาเลยครับ ในส่วนของผมเขาไม่เคยมาพูดคุยติดต่อมา 9 ปีแล้ว ที่ศาลก็ไม่ได้คุยกัน เขาไม่มาทักทาย จะไปทักทายก็ยังไงอยู่ เพราะเราเป็นฝ่ายที่ต้องสูญเสีย

ทางคดีไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว คุณผิดฝ่ายเดียว ทั้งอาญา ทั้งแพ่ง คุณก็ต้องจ่ายตามที่ศาลพิพากษา คุณทดเวลามา 9 ปีมันแน่นอนอยู่แล้วเขาเรียกว่าการทำละเมิด เมื่อคุณไม่ชำระคุณก็ต้องเสียดอกเบี้ย พวกเรารอคอยกัน เวลาขึ้นศาลมันก็ต้องมีค่าธรรมเนียม ทุกอย่างก็ต้องควักจ่ายเอง บางคนก็ไม่พร้อม เขาก็ไม่สู้



จริงๆ ก็มีความหวังอยู่ว่าเขาจะชำระ เพราะเขาพูดเป็นเอกสาร ที่เขายื่นเอกสาร ถ้าคดีถึงที่สุดเขาจ่ายได้หมด ทั้งดอกเบี้ย ทั้งเงินต้นทั้งหมด เพราะเขามีฐานะมั่นคง อยู่ในตระกูลที่มีชื่อเสียง ตามเอกสารเลยไม่ใช่ว่าพูดลอยๆ เขาสามารถจ่ายได้ แต่เขายังไม่จ่าย คือพูดจ่ายๆ ว่าเขาขอให้ศาลทุเลาการบังคับคดี เพราะว่าเขายังสู้ได้อีก ยังมีอุทธรณ์ ฎีกาอยู่ คือพูดง่ายๆ ยังจะไม่ขอจ่าย จนกว่าจะถึงที่สุดแล้วจะจ่าย”

หากย้อนไปเมื่อปี 53 คดีแพรวา 9 ศพ ขณะนั้นเธออายุยังไม่ถึง 18 ปี และไม่มีใบขับขี่ กระทั่งขับรถยนต์ไปชนท้ายกับรถตู้สาย มธ.รังสิต-จตุจักร ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน โดยผู้ที่เสียชีวิตล้วนเป็นคนที่มีความรู้และมีอนาคตที่ดี ทั้งอาจารย์ด้านสถาปัตย์ นักศึกษารัฐศาสตร์ นักศึกษานิติศาสตร์ นักวิจัย นักศึกษาทุนที่ได้รับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเรียนด้านนาโนเทคโนโลยี

ขณะที่ผู้รอดชีวิตอย่าง ติน-วรัญญู เกตุชู นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเปิดเผยความรู้สึกผ่านทวิตเตอร์ “tintinwarunyoo” หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายมาได้

โดยตินเล่าว่า วันที่ 27 ธ.ค.53 เป็นช่วงมิดเทอม ปี 3 ของ ม.ธรรมศาสตร์ อ่านหนังสือจนดึกเพื่อสอบตัวสุดท้ายวันพรุ่งนี้ และกลับบ้านด้วยรถตู้ หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้กลับมาสอบอีกเลย

“เราหลับตื่นมาอีกทีด้วยเสียงกรีดร้อง พบว่าตัวเองอยู่บนโทลล์เวย์แล้ว ถึงโรงพยาบาลกระดูกไหปลาร้าเราหัก 3 กระดูกเข่าซ้ายแตก แขนขวาหักพร้อมแผลใหญ่ กระจกรถปักทั่วร่างจนเลือดอาบหน้า เราโดนชน 3 ทุ่ม แต่ได้เข้าห้องผ่าตัดตอน 7 โมงเช้า ตอนนั้นมีคนหนักกว่าเราเยอะ

เหตุการนี้แหละบั่นทอน 9 ปีที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าเรายอมเขา ขอประวิงเวลาอย่างเห็นได้ชัด สู้กันถึง 3 ศาลทั้ง 3 คดี เราไม่เคยเจอแพรวา และพ่อแม่เลย มาถึงไกล่เกลี่ยเราหวังว่ามันคือการพูดคุยกันที่ดี ปรากฏว่าเขาไม่มา ส่งทนายผู้เป็นญาติฝั่งแม่มา

เขาต่อราคาเรายังกับผักปลา ในคำร้องให้ศาลทุเลาบังคับคดี โดยทนายแพรวา บอกเป็นลายลักษณ์ว่า ยินดีชดใช้ถ้าคดีถึงสิ้นสุด โดยอ้างเรื่องชื่อเสียงวงศ์ตระกูล บุคคลผู้มีชื่อเสียงและประกอบคุณงามความดีของประเทศนี้ เขาเขียนอย่างนี้จริงๆ

เราเลยไม่โอเค ไม่ยอมรับเงินก้อนนั้น ถึงแม้ตอนแรกอยากจะรับเพราะเหนื่อยแล้ว และมันเป็นเงินที่ต่ำกว่าศาลให้ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาเลยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมด แต่เป็นเรื่องความใส่ใจต่างหากที่เราไม่รู้สึกเลย”

“แพรวา 9 ศพ” ไร้วี่แววเยียวยาผู้สูญเสีย

เมื่อผู้สัมภาษณ์ย้อนถามถึงช่วงก่อนเกิดเหตุได้มีการพูดคุยกับลูกสาวครั้งสุดท้ายเรื่องอะไรบ้าง พ.ต.อ.ศรัญ พ่อของนุ่นผู้เสียชีวิต จึงเล่าให้ฟังว่า ลูกสาวได้โทร.มาพูดคุยกับแม่ก่อนที่จะมีการเดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่ แต่ก็มาประสบอุบัติเหตุเสียก่อน

“รู้สึกลูกจะโทร.มาหาแม่ครับ ในตอนเย็นก่อนจะขึ้นรถน่าจะยังไม่มืดหรอกครับ เขาก็ว่าตั๋วรถทัวร์เต็มหมด ต้องจองตอนเช้า เป็นรถเสริมของนครชัยแอร์ จองตอนเช้า เดินทางตอนเย็น รถเสริมจะไม่เข้าบขส. จะไปจอดที่บริษัทรถ ก็ให้พ่อไปรับฝั่งอำเภอวาริน ก็ให้แม่ไปซื้อเส้นกวยจั๊บ ซื้อผัก ซื้ออะไรมาเตรียมไว้ตอนเช้า พอเขามาถึง เขาจะทำกวยจั๊บญวนกินกันครับ

ช่วงที่จะกลับก็เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็จะหยุดยาว แล้วตั๋วมันก็เต็มหมด เพราะปีใหม่ใครก็เดินทางกัน ตอนเขาขึ้นรถตู้ก็น่าจะเป็นเที่ยวสุดท้าย เพื่อที่จะไปขึ้นรถที่นครชัยแอร์ หรือหมอชิต 2 เราก็ไม่ทราบว่าเขาจะไปขึ้นที่ไหน เพราะสามารถขึ้นได้ 2 ที่

[ครอบครัวของนุ่นผู้เสียชีวิต]

ตอนเกิดเหตุผมอยู่ที่อุบลราชธานี เหตุเกิดตอนกลางคืน ตอนเช้าผมถึงเดินทางมารับศพลูก ไปติดต่อกับตำรวจเจ้าของคดี พนักงานสอบสวนเพื่อที่จะเอาทรัพย์สินของลูกที่ติดตัว ที่ตกหล่น อย่างเสื้อผ้า กระเป๋า เพราะเขาจะกลับอุบลฯ ไงครับ ปีใหม่เขาจะกลับไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ครับ ผมก็รับศพลูกขึ้นเครื่องบินกลับวันนั้นเลย

ตัวผมเองเนี่ย ไม่มีน้องสาวไงครับ ผมเป็นพี่คนโต มีน้องชาย 3 คน พอมีลูกคือ น้องนุ่นเป็นลูกคนโต พอมีลูกสาวก็ดีใจ ดีใจมากนะครับ ผูกพันกันเพราะว่าเขาจะคล้ายๆ ผม แม้กระทั่งเขาจะเรียน เขาก็บอกว่าเขาจะเรียนแบบพ่อ คือเรียนธรรมศาสตร์ เรียนนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์อะไรแบบนี้ เขาเรียนเก่งนะครับ สอบหมอก็ได้แต่เขาไม่เรียน ส่วนน้องชายเขาก็จะมาเรียนหมอให้พ่อ ลูกสาวเราเขาก็อยากเป็นผู้พิพากษามีความตั้งใจอย่างนั้น นิสัยใจคอเขาก็จะคล้ายๆ กับคุณพ่อ เราก็จะสนิทกัน”

ทางด้านของ ชุติมา นิลวรรณ แม่ของนุ่นผู้เสียชีวิตได้เผยว่า ลูกสาวโทร.มาหาว่าเดี๋ยวจะกลับบ้านให้ไปเตรียมซื้อของที่อยากทาน จึงได้ไปซื้อของเพื่อเตรียมไว้ให้ลูกแต่ลูกก็ต้องมาเจออุบัติเหตุและไม่ได้กลับมาถึงบ้าน

[ครอบครัวของนุ่นผู้เสียชีวิต]

“ตอนเห็นข่าวในทีวี เราก็ไม่ได้สนใจ เพราะว่าไม่นึกไม่ฝันว่าจะเป็นลูกเรา แล้วตอนนั้นลูกชายกับพ่อเขาก็ยังไม่กล้าที่จะบอกเรา คือน้องนุ่นเขาเป็นแก้วตาดวงใจของคนในครอบครัว เขาจะเป็นคนดูแลคุณพ่อ คุณแม่ แล้วก็น้อง ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ไม่มีแม้แต่สักวันเดียวที่เราจะไม่คิดถึงเขา ของที่เก็บมาจากมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในกล่องเหมือนเดิม 9 ปีที่ผ่านมา คนในครอบครัวให้กำลังใจซึ่งกันและกันมาตลอด”

ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องไปกรมบังคับคดี แต่อาจเป็นหน้าที่ของพ่อผู้เสียชีวิตเองที่ต้องไปสืบว่าอีกฝ่ายมีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อที่จะนำมาชำระหนี้

“ต้องเสียค่าใช้จ่ายครับ อาจจะจ้างนักสืบ หรือไปสืบเองว่าเขามีทรัพย์สินตรงไหนบ้างบังคับคดีได้ ก็ต้องไปยื่นต่อกรมบังคับคดี ให้ไปพิทักษ์ทรัพย์ของเขามา หรือไปเอาทรัพย์ของเขามาเพื่อที่จะขายทอดตลาด เพื่อที่จะเอาเงินมาชำระหนี้ แต่ถ้าไม่พอก็จะสามารถฟ้องล้มละลายได้ว่ามีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้

การขับรถเนี่ย ต้องระมัดระวัง ต้องมีสติ ต้องอย่าเมา เขาก็รณรงค์กันอยู่นะครับ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันไม่ได้เกิดจากเจตนาแต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรากระทำ เพราะว่าต้องมีคนผิด รถชนกันก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิด หรือทั้งสองฝ่าย ถ้าเราเป็นคนผิดก็ต้องรับผิดชอบ เหมือนเสี่ยเบนซ์ไง เขาผิดเขาก็รับผิดชอบ เขารับสารภาพ ไปขอขมา คือเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แล้วก็ยอมชดใช้ค่าเสียหายเท่าที่เขาจะทำได้ 45 ล้านบาท คนตาย 2 คน แต่อันนี้คนตายตั้ง 9 คน ค่าเสียหายยังไม่เท่าเสี่ยเบนซ์เขารับผิดชอบเลย ที่เขาเยียวยาครอบครัวผู้ตาย”

ทั้งนี้ คดีทางแพ่ง กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้มีการฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย 113 ล้านบาท ปี 58 ศาลชั้นต้น สั่งให้จ่ายชดเชยกว่า 26 ล้าน และต่อมาได้มีการยื่นอุทธรณ์ ในปี 60 ศาลพิพากษาลดวงเงินชดเชยลงเหลือ 19.8 ล้าน ให้แก่ญาติมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาท แต่วันพิพากษาศาลฎีกา ฝ่ายจำเลยไม่มีใครมาแม้แต่ทนาย

ข่าวโดย MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น