การตลาด - ตลาดอีเวนต์ในประเทศไทย มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ยังคึกคัก เติบโตต่อเนื่อง เผย “EFFRO : เอ็ฟโฟร” แพลตฟอร์ม ออนไลน์จากสิงคโปร์บุกไทย “อินเด็กซ์” โหมงานสร้างเอง “รอยัล พารากอน ฮอลล์” ขยายครบวงจร ด้าน”ไบเทค”เจาะงานใหญ่อินเตอร์ ส่วน”อิมแพ็ค” ขยายตลาดไมซ์
ตลาดรวมอีเวนต์ในไทย มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ยังเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่ดี และมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบบ้างจากปัจจัยลบต่างๆ แต่ระยะยาวแล้วยังเป็นธุรกิจที่มั่นคง ทั้งในแง่ของผู้จัดงาน และสถานที่จัดงาน ทุกค่ายก็เร่งขยายตัวและขยายตลาดต่อเนื่อง เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินและตลาดให้มากที่สุด
*** “EFFRO” แพลตฟอร์มอีเวนต์ออนไลน์
นายอดัม ตัน ผู้ก่อตั้ง EFFRO แพลตฟอร์มด้านการจัดงานอีเวนต์ เปิดเผยว่า
ทาง EFFRO ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่ชื่อว่า “EFFRO : เอ็ฟโฟร” เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เกี่ยวกับการจัดอีเวนต์ เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดอีเวนต์ ซึ่งจะช่วยจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานอีเวนต์ให้เป็นเรื่องง่าย
“จากปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาแทรกทำให้ต้องใช้เวลาในการเตรียมงานอีเวนต์มากขึ้น เช่น การประสานงานเจรจา การส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาคนทำอีเวนต์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความตรงต่อเวลา และรับผิดชอบต่อหน้าที่ บ่อยครั้งเกิดปัญหาไม่มาทำงานในวันนัด จึงมีแนวคิดสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ภายใต้ชื่อ EFFRO : เอ็ฟโฟร ขึ้นมา ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันเอ็ฟโฟรก้าวขึ้นเป็นผู้นำของแพลตฟอร์มด้านการจัดอีเวนต์ในสิงคโปร์ ให้บริการแบบวันสตอป โดยผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสามารถจ่ายเงินค่าจ้างงานแก่บุคคลต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อย บุคคลต่างๆ ที่ทำงานจะได้รับค่าจ้างทันที ถือเป็นการปกป้องลูกค้าจากปัญหาการไม่มาทำงานตามนัดหมาย
"เอ็ฟโฟรในสิงคโปร์เปิดตัวมา 2 ปี ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง ปีแรกมีรายได้ 5 ล้านบาท ปีที่สอง 12 ล้านบาท และในปี 2562 นี้คาดว่าจะมีรายได้ 23 ล้านบาท ซึ่งเอ็ฟโฟรมีรายได้จากการหักค่านายหน้าที่สมาชิกในเว็บไซต์ถูกเลือกใช้บริการและมีการจ่ายเงินจริง โดยคิดที่อัตรา 15% ของการว่าจ้าง"
ล่าสุดเอ็ฟโฟรได้ขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการรุกตลาดอีเวนต์ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นศักยภาพอีเวนต์ไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และมองเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางด้านอีเวนต์บันเทิงหรือ Hub of Entertainment ของอาเซียน จากที่มีคอนเสิร์ตระดับโลกมาจัดที่กรุงเทพฯ มากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยในประเทศไทยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป และในเดือนหน้าจะเปิดให้บริการที่มาเลเซีย หลังจากนั้นจะขยายตลาดต่อไปที่ฮ่องกง จีน ไต้หวัน และอินโดนีเซีย เป็นลำดับต่อไป
*** “EFFRO” แพลตฟอร์ม
นายวศิน เทพโสพรรณ CEO of EFFRO Thailand กล่าวว่า สำหรับแพลตฟอร์มของเอ็ฟโฟรในไทยนั้นจะมีความเหมาะสมกับการจัดอีเวนต์ประเภทไมโครอีเวนต์ และเหมาะกับกลุ่มเจน Z ที่ต้องการจัดอีเวนต์ให้ตรงตามใจ มีเอกลักษณ์ และบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้เอง โดยไม่ผ่านคนกลาง โดยเมื่อเปรียบเทียบการใช้เอ็ฟโฟรกับการจ้างออร์แกไนซ์จัดงานในขนาดสเกลการจัดงานเท่าๆ กันแล้ว ค่าใช้จ่ายจากเอ็ฟโฟรจะถูกกว่า 50% หรือในหลักหมื่นบาท เมื่อเทียบกับการจ้างผ่านออร์แกไนซ์ที่เริ่มคิดค่าการจัดงานตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาทขึ้นไป
สำหรับเว็บไซต์ EFFRO จะเป็นศูนย์รวมผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดงานอีเวนต์ใน 4 ส่วน คือ ทาเลนต์ ร้านค้า สถานที่ และอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งสามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หลังจากถูกว่าจ้างและมีการจ่ายเงินจริงจะถูกหักให้ทางเอ็ฟโฟรในอัตรา 15% ถือเป็นรายได้ที่เอ็ฟโฟรจะได้ ซึ่งมองว่าเอ็ฟโฟรประเทศไทยจะทำรายได้ตามสิงคโปร์ หรือในปีแรกไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปจะมีการเติบโตเป็นเท่าตัว
นายวศินกล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทรนด์การจัดอีเวนต์ในไทยที่จะประสบความสำเร็จ และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ดีเยี่ยม มีจุดร่วมที่สำคัญ 3 ข้อด้วยกัน คือ 1. Micro Event เป็นเทรนด์ที่นิยมจัดเพื่อสื่อสารถึงความพิเศษหรือความเอ็กซ์คลูซีฟของผู้จัดการและผู้ร่วมงาน โดยเป็นการจัดอีเวนต์ขนาดเล็ก ผู้ร่วมงานไม่มาก แต่เป็นกลุ่มที่คัดสรรแล้ว ทุกตารางเมตรของงานต้องมีการสื่อสารออกมาน่าสนใจ ผ่านกิจกรรม ทาเลนต์ หรือเวที
2. การสร้างกระแสในโซเชียล เมื่อขนาดงานเล็กลง การสร้างกระแสในโซเชียลเป็นเทรนด์ต่อมา ผ่านการติดแฮชแท็ก ไวรัล คนทำอีเวนต์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย และ 3. การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้ทันต่อยุคสมัย เช่น การจัดอีเวนต์แบบ zero waste ใช้วัสดุรีไซเคิลหรือย่อยสลายตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมองว่า 5 ทักษะความเชี่ยวชาญที่นักจัดอีเวนต์ต้องมี ได้แก่ 1. ทักษะการสื่อสารที่ดี เพื่อการทำงานที่ราบรื่น สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า 2. ใส่ใจในรายละเอียด เพื่องานที่มีคุณภาพและมาตรฐาน 3. ปรับเปลี่ยนและประยุกต์ เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ได้หลากหลาย 4. แก้ไขปัญหาและบริหารความต้องการของลูกค้าเพื่อให้ได้งานที่สมบูรณ์ และ 5. อยู่แนวหน้าพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง
*** “อินเด็กซ์” เน้นจัดงานเอง-โหมตปท.
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ในไทยมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท ช่วงครึ่งปีหลังนี้มองว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าครึ่งปีแรก หลังจากที่ครึ่งปีแรก
แผนธุรกิจของอินเด็กซ์ปีนี้ คือจะเน้นบุกและมองหาโอกาสจากตลาดต่างประเทศมากขึ้นเพื่อสร้างความเสถียรให้กับรายได้ เพราะภาพรวมธุรกิจอีเวนต์เมืองไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การเมือง ตลาดแข่งขันรุนแรง
อินเด็กซ์จะมุ่งเน้น 3 ธุรกิจหลัก คือ 1. ครีเอทีฟ บิสิเนส ดีเวลอปเมนต์ ปีนี้จะทำรายได้สัดส่วน 15.7%, 2. มาร์เกตติ้ง เซอร์วิส สัดส่วน 79.4% และ 3. โอนโปรเจกต์ สัดส่วน 4.9% หรือปี2562นี้คาดว่าธุรกิจจะเติบโต 10-15% รายได้รวมประมาณ 1,800 ล้านบาท
ปัจจุบันมีงานในมือกว่า 10 โปรเจกต์ทั้งในและต่างประเทศ มีมูลค่าแบ็กล็อก 400 ล้านบาท เช่น งานแบงค็อกไทยแลนด์พาวิเลียนที่ดูไบ ปี 2020 และล่าสุดได้งาน Qatar Armed Forces 2019 ปลายปีนี้
“ปี2562นี้เราจะต้องเน้นแบรนด์ดิ้ง การสร้างมูลค่าในรูปแบบใหม่ๆ และกาลนั้นท่องเที่ยว เพื่อมุ่งเน้นการสร้างงานตัวเอง หรือเรียกว่า โอนโปรเจกต์ รวมกว่า 10 งาน เช่น งานแบงค็อก บิวตี้โชว์ 2019, งานเมียนมาฟูดเบฟ, งานเมียนมา รีเทล ซอร์สซิ่ง เอ็กซ์โป ซึ่งจะบุกต่างประเทศมากขึ้น ปัจจุบันมีทั้งเขมร พม่า และกำลังศึกษาอินเดีย บังกลาเทศ รวมถึงเอเชียใต้ นอกจากนี้ยังมีไลฟ์สไตล์อีเวนต์ อย่าง งานวัดร่องขุ่นไลท์เฟส 22 พ.ย.-22 ธ.ค.นี้, งานกิโลรัน ต้นปีจัดที่ฮานอย เวียดนาม, เยาวราช และโอซากา เชียงราย ช่วงปลายปีนี้” นายเกรียงไกร กล่าว
*** “รอยัล พารากอน ฮอลล์” ขยายครบวงจร
นายทาลูน เทง กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจการจัดงานอีเวนต์ ปี 2562 นี้จะเติบโต 5-10% มีมูลค่าสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในแนวโน้มที่ดีมาก ตั้งกลยุทธ์สัดส่วนทางการตลาดในประเทศไว้ที่ 70% และตลาดต่างประเทศอีก 30%
โดยจะพัฒนาทั้งด้านมาตรฐานงานบริการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ยกระดับทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของงานด้านการบริการ มีการส่งบุคลากรไปร่วมอบรมหลักสูตรระดับสากลต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในธุรกิจ MICE ระดับโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดียิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน รอยัล พารากอน ฮอลล์เป็นสถานที่จัดงานที่มีบุคลากรผ่านการอบรมหลักสูตรสากลมากที่สุดในประเทศไทย อันประกอบไปด้วย CEM (Certified Exhibition Management) 11 ท่าน ซึ่งในปีนี้ส่งเพิ่มอีก 4 ท่าน, EMD (Exhibition Management Development) 2 ท่าน, CMP (Certified Meeting Professional) 3 ท่าน ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีบุคลากรผ่านหลักสูตรนี้
นอกจากนั้น ด้วยความพร้อมของทีมบริหาร รอยัล พารากอน ฮอลล์ ทำให้มีการขยายขอบเขตการให้บริการของธุรกิจออกไป ด้วยการเป็นผู้จัดงานและผู้รับเหมาก่อสร้างสิ่งตกแต่ง การจัดงานในคราวเดียวกัน เพื่อให้บริการลูกค้าแบบ One Stop Service
รอยัล พารากอน ฮอลล์ ยังมีแผนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมโครงการ Care the bear ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานอีเวนต์ ตามแนวทางลดสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเป็นการรณรงค์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับงานดำเนินกิจกรรมผ่านนโยบายที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ เชิญชวนให้เดินทางโดยรถสาธารณะ, ใช้วัสดุตกแต่งที่รีไซเคิลได้, ลดขยะที่เกิดจากการจัดงาน, ลดใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยการใช้หลอดไฟ LED, ลดการใช้กระดาษและพลาสติก โดยจากผลการดำเนินโครงที่ผ่านมาเฉลี่ย 1 งานจะช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ได้ถึง 9,276 kg.CO2e. ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูก ต้นไม้ใหญ่ได้ถึง 1,031 ต้น
ในปีที่แล้ว(2561) รอยัล พารากอน ฮอลล์ ได้จัดงานระดับโลกมากมาย เช่น Overwatch World Cup 2018 งานแข่งขัน E-Sport ระดับโลก, Thailand 2018 World Stamp Exhibition มหกรรมแสดงตราไปรษณียากรระดับโลก, Thailand Game Show 2018 มหกรรมเกมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และงานที่ได้รับความนิยมจากคนไทยอย่าง Note Udom No.12 - เดี่ยว 12
ขณะที่ตารางงานในปี2562นี้ตอกย้ำความเป็นระดับโลกขึ้นไปอีกขั้น เมื่อได้รับความไว้วางใจจาก IBM, Google, Herbal Life Bangalore และ Kotra รวมถึงงานมหกรรมดนตรี "What The Fest!" Music Festival, คอนเสิร์ต "SINGING BIRD" (ซิงกิ้ง เบิร์ด) ครั้งที่ 1 ตอน "เพลงตามคำขอ" ครั้งแรก ของเบิร์ด ธงไชย และงานอีเวนต์อื่นๆ อีกมากมาย ที่ต่อคิวใช้งานสถานที่จัดงานระดับโลกอย่าง รอยัล พารากอน ฮอลล์
*** “ไบเทค” รุกหนักงานระดับอินเตอร์
อีกค่ายใหญ่อย่างไบเทคนั้น ก็มีการขยายงานอย่างน่าสนใจในปี 2562
ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค รุกหนักในปี2562 ด้วยการโฟกัสไปที่งานนิทรรศการระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อเป็นการขยายฐานการตลาดและกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น และสร้างความเป็นระดับอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้นด้วย ซึ่งงานใหญ่ๆในปี2562นี้ จะมีทั้งที่เคยจัดแล้วในไทย กับที่มาจัดครั้งแรกที่ไบเทคนี้ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20 งานในปีนี้ได้
ไม่ว่าจะเป็นงาน Lifestyle Expo 2019 , Asia Electronic Game & Amusement Equipment Expo 2019, WINDOOR Tech Thailand 2019, ASEAN Polyurethane Industry Expo 2019, Edtex, PPI 2019, งาน IEEE PES GTD Grand International Conference and Exposition Asia 2019, Coffee Bakery Ice Cream and Franchise Show, Industrial Filtration & Separation Expo 2019, Infocomm Southeast Asia 2019, Two Wheels Asia 2019, ASE Week 2019, Bangkok Beauty 2019, Asia Pacific Coating 2019, Medical Fair Thailand 2019 และMaintenance & Resilience Asia 2019เป็นต้น
แต่ละงานถือว่าเป็นบิ๊กอีเวนต์ทั้งสิ้น และจะเป็นอีกปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ ไบเทค มีการเติบโตขึ้นในปีนี้อย่างมาก
ทั้งนี้ บอสใหญ่ของ ไบเทค คือ นางสาวปนิษฐา บุรี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กล่าวอย่างมั่นใจว่า ด้วยบิ๊กอีเวนต์ระดับอินเตอร์จำนวนมากเช่นนี้ ในปี2562นี้ ไบเทคจะต้องมีการเติบโตเป็น 2 เท่า จากปี2561 ซึ่งในปี2561บริษัทฯเติบโตถึง 13% จากปี2560 เนื่องจากว่าธุรกิจไปได้ดี และตลาดด้านการจัดงานแสดงสินค้าและบริการ รวมทั้งตลาดการประชุมระดับประเทศและนานาชาติ มีการเติบโตมากด้วย และเป็นหนึ่งในจุดแข็งของไบเทคเองด้วย
**** “อิมแพ็ค” ขยายกลุ่มไมซ์ควบงานแฟร์
สำหรับยักษ์ใหญ่อย่าง อิมแพ็ค เมืองทองธานี ดูเหมือนว่า จะมีการเติบโตที่น่าสนใจ
นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจ สิ้นสุดปีงบประมาณ 2561/2562 (เดือนเมษายน 2561- เดือนมีนาคม 2562) ว่า ผลประกอบการโดยรวมแล้วทั้งของ อิมแพ็ค เป็นไปตามเป้าหมายที่ดี โดยมีการรองรับการจัดงานรวมกว่า 1,000 งาน
“อิมแพ็คยังคงได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้า งานประชุม สัมมนา ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมถึงงานเลี้ยงสังสรรค์ งานแต่งงาน กิจกรรมพิเศษ โดยเฉพาะอินเซนทีฟ หรือ กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และคอนเสิร์ตจากศิลปินไทย-ต่างประเทศ จำนวนมาก”
นอกจากนั้นก็ยังมีงานใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การประกวดนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe2018งานแสดงสินค้าเพื่อแม่และเด็ก BBB Baby & Kids Best Buy 2019 งานไทยแลนด์ คอฟฟี่ เฟส 2019 และงานเดิมที่จัดอยู่ยังได้ขยายพื้นที่จัดงาน เช่น มหกรรมอาหาร ไทยเฟค เวิล์ด ออฟ ฟู้ด เอเชีย และในส่วนของประจำปี ซึ่งเป็นงานยอดนิยมของลูกค้าผู้ชมงาน เช่น โฮมโปร เอ็กซ์โป มหกรรมลดทะลุพิกัด ของเดอะมอลล์กรุ๊ป งานโอทอปยังคงจัดงานต่อเนื่อง 3-4 ครั้งต่อปี
สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้อิมแพ็ค ยังคงอยู่ในการเติบโตที่ดีมีนัยสำคัญเช่นกัน ไม่แพ้ผลงานในปี2561
โดยภาพวมของปี2561พบว่า อิมแพ็คมียอดจองพื้นที่จากลูกค้าในการจัดงานจำนวนมาก มีงานใหม่เข้ามาเพิ่มถึง 155% จากปี 2560 สามารถแบ่งเป็น งานคอนซูเมอร์ (Business-to-Consumer : B2C) เพิ่มถึง 27% โดยมีงานใหม่ๆ เช่น งานแสดงสินค้าออแกนิกส์ไบโอเฟค, งานร้านเด็ดแฟร์, งานเซรามิกลำปาง เป็นต้น
ส่วนงานเทรดเจรจาธุรกิจ (Business to business: B2B) เพิ่มขึ้นถึง 20% มีงานที่เข้ามาใหม่ เช่น MDA 2018 เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์, SILMO 2018 เกี่ยวกับธุรกิจแว่นตา, CEBIT2018 เกี่ยวกับนวัตกรรมดิจิทัล เป็นต้น ด้านงานประชุม นานาชาติ (Conventions) เพิ่มขึ้น 33% คอนเสิร์ตและการแสดงเพื่อความบันเทิงเพิ่มขึ้น 37% อื่นๆ ได้แก่ งานแต่งงาน งานจัดเลี้ยง กิจกรรมพิเศษก็เพิ่มขึ้นในทุกไตรมาส ทำให้โดยรวมของยอดจัดงานในปี 2561 รวมมากกว่า 1,000 งาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มียอดจัดงานเฉลี่ยกว่า 800 งานต่อปี
“บทบาทของ อิมแพ็ค ไม่เพียงเป็นสถานที่จัดการประชุม สัมมนา แสดงสินค้า นิทรรศการ กิจกรรมพิเศษ แต่ปัจจุบันยังให้บริการกลุ่มอินเซนทีฟ หรือ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจไมซ์ ด้วยมีโรงแรมที่พักมาตรฐาน 2 แห่ง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ บริการร้านค้า ร้านอาหาร เอาท์เล็ตแบรนด์ชั้นนำ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับศูนย์ฯ เพื่อให้บริการลูกค้าได้ใช้เวลาร่วมกิจกรรม ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ในที่เดียว ซึ่งอิมแพ็ค มั่นใจว่ามาถูกทาง เพราะกลุ่มไมซ์ เป็นกลุ่มไมซ์เป็นกลุ่มมีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 3-4 เท่า ถือเป็นลูกค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้ อิมแพ็ค เป็นอย่างดี หากสามารถจับจ่ายใช้เวลาอยู่ในศูนย์ฯ 3-4 วันหรือมากกว่านั้น” นายพอล กล่าว
ทั้งนี้ ทีเส็บ ได้ระบุทิศทางธุรกิจไมซ์ไทยว่ายังคงเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meetings & Incentives) ส่วนตัวเลขนักเดินทางกลุ่มไมซ์เติบโตกว่า 13% และรายได้จะโตขึ้น 5% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อน และคาดว่าสิ้นปี 2561 เป้าหมายกลุ่มไมซ์รวม 1.37 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่า 1.24 แสนล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวมั่นใจ
ทุกวันนี้ อิมแพ็ค จึงยังคงเป็นผู้นำในตลาดศูนย์การประชุมและจัดงานต่างๆ ด้วยส่วนแบ่งที่มากถึง 62% จากตลาดรวม ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น