xs
xsm
sm
md
lg

พม่า-บังกลาเทศเตรียมส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศสัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รอยเตอร์ - พม่าและบังกลาเทศจะเริ่มต้นความพยายามครั้งใหม่ในสัปดาห์หน้าในการส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายพันคนกลับประเทศ หลังผู้ลี้ภัยเหล่านี้หลบหนีความรุนแรงจากรัฐยะไข่ของพม่า

ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปอาศัยในฝั่งบังกลาเทศ หลังทหารพม่าดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงในเดือน ส.ค.2560 การปราบปรามที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้างเผ่าพันธุ์ แต่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากปฏิเสธที่จะเดินทางกลับ ด้วยหวาดกลัวว่าจะเผชิญต่อความรุนแรงอีก

เจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกที่จะเดินทางกลับพม่าในสัปดาห์หน้า มีจำนวนทั้งสิ้น 3,540 คน จากรายชื่อผู้ลี้ภัยมากกว่า 22,000 คน ที่ทางการบังกลาเทศส่งให้แก่พม่า

“เราตกลงที่จะเริ่มกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจำนวน 3,540 คน ในวันที่ 22 ส.ค.” มี้น ทู โฆษกกระทรวงการต่างประเทศพม่า เผยกับรอยเตอร์

ความพยายามก่อนหน้าในการโน้มน้าวชาวโรฮิงญาให้เดินทางกลับรัฐยะไข่ต้องพบกับความล้มเหลวเนื่องจากการต่อต้านจากผู้ลี้ภัย และความพยายามในเดือน พ.ย. ก่อให้เกิดความกลัวและความสับสนภายในค่ายผู้ลี้ภัย และสุดท้ายความพยายามของเจ้าหน้าที่ต้องล้มเหลว เมื่อผู้ลี้ภัยชุมนุมประท้วงต่อต้าน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบังกลาเทศ กล่าวว่า ความพยายามครั้งใหม่ เป็นแผนส่งกลับประเทศในปริมาณน้อย และไม่มีใครจะถูกบังคับให้เดินทางกลับ

“บังกลาเทศไม่ต้องการอะไรนอกจากการเดินทางกลับอย่างปลอดภัย ด้วยความสมัครใจ และมีศักดิ์ศรี” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ กล่าว

นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญารายหนึ่งเผยว่า ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับปรึกษาหารือเกี่ยวกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้น และพม่าควรยอมรับข้อเรียกร้องสำคัญของชุมชนชาวโรฮิงญา ก่อนกระบวนการส่งกลับประเทศจะเริ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติได้กล่าวถึงสภาพเงื่อนไขในรัฐยะไข่ ที่กองกำลังทหารของรัฐบาลยังคงต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบเป็นเวลานานหลายเดือน ว่าไม่เอื้อต่อการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัย ขณะที่ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนที่ยังอยู่ภายในพม่าตามค่ายพักและหมู่บ้านทั่วรัฐยะไข่ ยังคงถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองและถูกจำกัดการเคลื่อนไหว

และเมื่อเดือน ก.ค. สถาบันคลังสมองของออสเตรเลียกล่าวว่า รัฐบาลพม่าเตรียมการเพียงเล็กน้อยสำหรับการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัย และการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นว่า ไม่มีสัญญาณของการก่อสร้างฟื้นฟูในพื้นที่ที่เป็นถิ่นฐานเดินของโรฮิงญา ขณะที่การทำลายบ้านเรือนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง.


กำลังโหลดความคิดเห็น