xs
xsm
sm
md
lg

ใครได้?! กรมท่าอากาศยานจ่อผุดสนามบินนครปฐม ห่างกรุงเทพฯ 50-60 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นครปฐม - กระแสต้านเริ่มกระหึ่ม ถามกันให้แซด ใครได้กันแน่!? หลังกรมท่าอากาศยาน อ้างดอนเมือง-สุวรรณภูมิแออัด จ่อผุดสนามบินนครปฐม เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ

ขณะนี้ในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.บางเลน จ.นครปฐม เริ่มปรากฏป้ายต่อต้านคัดค้าน “ไม่เอาสนามบิน” ติดตั้งตามริมทาง ย่านชุมชน หลังจากกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เปิดแผนเดินเครื่องขึ้นโปรเจกต์สนามบินนครปฐมแบบจริงจัง

ภายใต้ข้ออ้าง ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีจำนวนผู้ประกอบการสายการบิน รวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำ และปริมาณอากาศยานเพิ่มขึ้น ตามนโยบายเปิดเสรีทางการบิน ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งแบบประจำและไม่ประจำในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี บางปีเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 10 ทำให้เกิดความแออัดของการจราจรทางอากาศ

กรมท่าอากาศยาน ยังระบุด้วยว่า แม้ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จะมีโครงการขยายขีดความสามารถแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ทันต่อความต้องการด้านการเดินทางทางอากาศที่เติบโตขึ้น อีกทั้งความแออัดดังกล่าวนั้นทำให้สูญเสียโอกาสในการรองรับเที่ยวบินพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการบินทั่วไป การบินเชิงธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก

กรมท่าอากาศยาน จึงได้ว่าจ้างบริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม ทั้งเรื่องของการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งสนามบิน โดยพิจารณาผลการศึกษาด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐศาสตร์ งานการออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรายละเอียด รวมถึงงานศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกที่จะเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินโครงการ ตลอดจนดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษา กำหนดศึกษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 15 เดือน และได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2562



เบื้องต้น สนามบินนครปฐม ถูกปักหมุดไว้บนพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ห่างจากกรุงเทพฯ 50-60 กม. คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ต้นปี 2563 ตั้งงบประมาณจัดซื้อที่ดิน ปี 2564-2565 คู่ขนานกับการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง และเริ่มก่อสร้างปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี วงเงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท ความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) 2,500 เมตร เปิดให้บริการเร็วสุดปลายปี 2568 รองรับทั้งแบบพาณิชย์ และการบินทั่วไป (General Aviation) รับผู้โดยสารได้สูงสุด 25 ล้านคนต่อปี โดยปีแรกคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 2 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ชาวบางเลนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ได้เริ่มรวมตัวเคลื่อนไหวคัดค้าน นอกจากจะขึ้นป้ายผ้า “ไม่เอาสนามบิน” แล้ว ยังได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม เพราะมองว่าพื้นที่เป้าหมายเป็นพื้นที่เกษตร ที่อยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย

นายคณฑี เอี่ยมสะอาด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน เผยว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นตามที่ทางบริษัทที่ปรึกษาแจ้งมาในการประชุมรับฟังความคิดเห็น พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบคือ ตำบลบางระกำ และใกล้เคียงอีกหลายพื้นที่ ทำให้ชาวบางเลนหลาย 100 หลังคาเรือนเดือดร้อนแน่นอน

“เท่าที่ทราบคือเขตที่จะก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ทำกิน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ บางคนต้องเสียที่ทํากิน บางคนต้องเสียที่อยู่อาศัย บางคนจะต้องเสียทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดความไม่สบายใจวิตกกังวลกันไปทั่วแล้ว”


ตัวแทนชาวบ้านกล่าวอีกว่า ชาวบ้านหลาย 100 หลังคาเรือน เกรงว่าต้องพลัดพรากจากแหล่งที่อยู่เดิม ต้องสูญเสียผืนดินที่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ รุ่นย่า ตา ยาย ปัจจุบันตกเป็นมรดกของลูกหลานและเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ทำการเกษตรกรรม หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง วิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนไป ชุมชนจะล่มสลาย ญาติพี่น้องจะต้องแยกย้ายกันไปอยู่คนละทิศทาง

และหากมีการก่อสร้างขึ้นจริง ทางกรมท่าอากาศยานจะมีแผนรองรับปัญหาดังกล่าวให้แก่ชาวบ้านได้อย่างไร จึงอยากให้กรมท่าอากาศยาน พิจารณาหาพื้นที่ ที่เหมาะสมมากกว่านี้ในการดำเนินการก่อสร้างสนามบินนครปฐม เพื่อลดความเดือดร้อนของชาวบ้าน หากเป็นไปได้ชาวบ้านต้องไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เลย

“แต่ที่จริงแล้ว เท่าที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาประเทศมาตลอด ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีโครงการนี้อยู่ในแผนใดๆ และเวลาสร้างสนามบินใหม่ควรต้องมีการวางแผนเส้นทาง โครงการสร้างพื้นฐานไว้รองรับด้วย เช่น ทางด่วน ทางรถไฟ หรืออื่นๆ แต่อยู่ดีๆ สนามบินนครปฐมก็เกิดขึ้น ด้วยงบก่อสร้างสูงถึง 25,000 ล้านบาท”

ทำให้เริ่มเกิดคำถามตามมามากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประเทศไทย หรือใครได้ประโยชน์!?


กำลังโหลดความคิดเห็น