xs
xsm
sm
md
lg

“ภูกระดึง” มีอะไรดี? เปิดใจเหล่าผู้เดินเท้าพิชิตยอดภูกระดึงจนปรุ คนมากสุดถึงกว่า 120 ครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

Facebook :Travel @ Manager
วิวพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น
เวียนมาอีกครั้งสำหรับประเด็นร้อนแรงที่ถกเถียงกันมายาวนานกว่า 30 ปี ที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน จนกลายเป็นมหากาพย์ที่หลายคนเฝ้ารอคอยผลสรุปของแผนโครงการสร้างกระเช้าภูกระดึง ว่าสุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเหมือนเช่นเดิมหรือไม่

ระหว่างที่รอภาครัฐกำลังระดมสมองถึงผลการศึกษา EIA ของแผนโครงการสร้างกระเช้า เรามาอ่านเรื่องราวอันแสนประทับใจของเหล่านักเดินทางตัวยง ที่มีประสบการณ์เดินป่าภูกระดึงนับสิบครั้ง ร้อยครั้ง ว่าเหตุผลใดทำไมถึงได้หลงใหลและหลงรักกับธรรมชาติของยอดเขารูปหัวใจแห่งนี้
ป้ายผู้พิชิตภูกระดึง
“ภูกระดึง” ตั้งอยู่บนยอดภูกระดึง จ.เลย ความงดงามของธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของภูแห่งนี้ จึงเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินป่าอันดับต้นๆ ที่หลายคนเลือกจะไปเยือน บางคนก็ลองมาสักครั้งในชีวิต จะได้สัมผัสบรรยากาศอย่างที่เขาว่ากัน แต่บางคนกลับติดใจในเสน่ห์ของภูกระดึงอย่างถอนตัวไม่ขึ้น กลายเป็นเสน่ห์แก่บรรดานักเดินทางหลายคนติดอกติดใจ จนหลงใหลต้องกลับไปสัมผัสในอีกหลายครา
นิวัฒน์ อนันตริยะเวช บล็อกเกอร์และยูทูปเบอร์ท่องเที่ยวสะดุดตา
จากประสบการณ์ท่องเที่ยวภูกระดึงที่มีมากกว่า 30 ครั้งของนายนิวัฒน์ อนันตริยะเวช บล็อกเกอร์และยูทูปเบอร์ท่องเที่ยวสะดุดตา อายุ 42 ปี หรือ บอย สะดุดตา ได้เล่าถึงความประทับใจให้ฟังว่า เดินขึ้นภูกระดึงครั้งแรกในปี 2543 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะฝึกถ่ายรูปธรรมชาติ ซึ่งขณะนั้นกำลังทำโปรเจกต์เรื่องท่องเที่ยว จึงมองว่าสถานที่แห่งนี้มีธรรมชาติที่สวยงามและหลากหลาย ทั้งป่าสน หน้าผา ทะเลหมอกยามเช้า มีที่ตั้งแคมปิ้ง มีเส้นทางเดินป่าระยะสั้นและระยะไกล
เส้นทางเดินขึ้นภูกระดึง
หนุ่มบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวสะดุดตา กล่าวต่อว่า เส้นทางการเดินขึ้นภูกระดึงในปัจจุบัน มีเส้นทางขึ้นที่สะดวกซึ่งแตกต่างจากในสมัยก่อนที่มีทางเดินค่อนข้างแคบและความลำบากทำให้ใช้เวลาในการเดินนาน ขณะที่ปัจจุบันทางขึ้นมีขนาดทางเดินกว้างขึ้น ทางเดินสะดวกขึ้น มีอาหารขายทุกซำ

“สิ่งที่ประทับใจที่สุดที่ไปภูกระดึงก็คือ มิตรภาพ เพราะเมื่อเดินขึ้นไปแล้วเราเหนื่อย ช่วงที่หยุดเดินจะมีการทักทายกัน ให้กำลังใจกัน รวมถึงด้านบนภูเวลาตั้งแคมป์เรามีโอกาสนั่งพูดคุยกับเพื่อนๆ โดยรอบ ที่สำคัญคือสมัยก่อนไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งถือว่าดีมาก ทำให้รู้สึกประทับใจที่สุด นอกจากนั้นหากใครขาดเหลืออะไรก็จะมีการเอื้อเฟื้อสิ่งของและได้ช่วยเหลือกัน จนก่อเกิดมิตรภาพดีๆ ให้แก่กัน”
ร้านค้าที่ซำกกโดน
ในส่วนของข่าวโครงการสร้างกระเช้า มองว่าที่ผ่านมามีการศึกษาสำรวจ วิจัย มาหลายปี ยาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีการสำรวจอยู่ จากเท่าที่รู้มีบางงานวิจัยมีผลสำรวจออกมาว่าไม่คุ้มทุน ส่วนความคิดเห็นของตัวเองนั้นจริงๆ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะอาจทำให้ภูกระดึงจะเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เสน่ห์ก็จะหมดไป และอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวที่ภูกระดึงมีจำนวนลดน้อยลง
รุจิกร ไตรคำ ผู้พิชิตภูกระดึงกว่า 30 ครั้ง
ด้านนายรุจิกร ไตรคำ อายุ 18 ปี นักศึกษาปี 1 กำลังศึกษาอยู่ที่สถานบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งวัยเยาว์ให้ฟังว่า คุณพ่อเคยพาไปเที่ยวที่ภูกระดึงตั้งแต่อายุ 6 ปี ตอนนั้นรู้สึกสนุกและชอบมาก ได้สัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นก็ได้มาขึ้นภูต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบันนี้ครบ 33 ครั้งแล้ว โดยมีสถิติที่ทำไว้สุดคือ 5 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่จะเดินทางมาในช่วงปิดภาคเรียน
ภาพถ่ายเมื่อครั้งวัยเยาว์ของนายรุจิกร
“ครั้งแรกที่พ่อพาไปเที่ยวที่ภูกระดึง ตอนนั้นความรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้เจอธรรมชาติ พอมาหลายๆ ครั้งก็รู้สึกผูกพันและหลงใหลในความสวยงามของธรรมชาติ พ่อค้าแม่ค้าที่นั่นใจดี ก็ได้พูดคุยกัน เจอกันบ่อยครั้ง มีความผูกพันกับพ่อค้าแม่ค้าจนค่อนข้างจะรู้จักกันแล้ว บางทีขึ้นไปก็ได้เพื่อนใหม่ที่ทั้งคนไทยและต่างชาติ และได้เป็นไกด์แนะนำจุดท่องเที่ยวต่างๆให้พวกเขาได้รู้จัก สำหรับฤดูกาลเปิดภูที่จะถึงในเดือนตุลาคมนี้ ผมได้แพลนไว้แล้วว่าจะขึ้นไปในช่วงวันหยุดยาวกลางเดือนตุลาคม”

นอกจากนี้นายรุจิกรจะเดินทางขึ้นภูกระดึงเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติแล้ว ยังได้มีจิตอาสาเล่นกีต้าร์เปิดหมวกกับคุณพ่อรับบริจาคเงิน เพื่อนำไปซื้อสิ่งของจำเป็น อย่างเช่น อุปกรณ์เดินป่าต่างๆ เปลนอน เพื่อสนับสนุนในการทำงานให้กับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ไฟป่าภูกระดึงอีกด้วย
ผาเหยียบเมฆ
สุรชัย เอื้ออารีย์ ผู้พิชิตภูกระดึงกว่า 120 ครั้ง
อีกหนึ่งนักเดินทางผู้พิชิตภูกระดึงที่นับรวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่า 120 ครั้ง นายสุรชัย เอื้ออารีย์ ชายวัย 62 ปี เล่าให้ฟังว่า เริ่มขึ้นภูกระดึงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2519 หรือประมาณ 40 ปีก่อน ขณะนั้นมีกลุ่มนักศึกษาจัดทริปท่องเที่ยวที่ภูกระดึง ตนจึงมีความสนใจร่วมเดินทางขึ้นไปพิชิตภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 200 บาท เพื่อเป็นค่ารถและค่าที่พัก ส่วนค่าอาหารจะหาซื้อกินกันเอง หลังจากที่เดินทางมาถึงบริเวณจุดลงรถบัสในช่วงเช้า จะมาที่ร้านเจ๊กิมเพื่อกินอาหารเช้าก่อน รวมถึงหาซื้อเสบียงอาหารจำพวกข้าวเหนียวไก่ย่างขึ้นไปกินระหว่างเดินทางด้วย เพราะในสมัยนั้นไม่ค่อยมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายอาหาร จากนั้นก็เตรียมตัวเดินทางไปพิชิตภูเขาลูกนี้
ป่าเขียวขจีที่ภูกระดึง (ภาพ : สุรชัย เอื้ออารีย์)
“ครั้งแรกที่ผมเดินทางไปภูกระดึง ในปีนั้นผมเริ่มหัดถ่ายภาพซึ่งขณะนั้นยังเป็นกล้องที่ใช้ฟิล์ม จึงได้นำกล้องตัวโปรดไปเก็บภาพความประทับใจด้วย ซึ่งความทรงจำแรกที่ได้สัมผัสคือธรรมชาติของภูเขาอันเขียวขจี ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกอย่างงดงาม สร้างความประทับใจให้กับบรรดาผู้ร่วมเดินทางด้วยกันทั้งหมดประมาณ 200 คน หลังจากที่ทุกคนในทริปนี้เหน็ดเหนื่อยจากการเดินขึ้นภู ทำให้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะไม่กลับมาอีกแล้ว แต่สำหรับผมมีความตั้งมั่นว่าต้องกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน จากนั้นก็ได้กลับมาอีกครั้งในช่วงเวลา 2 ปีต่อมา ต่อมาผมก็เลยขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมดมากกว่า 120 ครั้ง”
ชมแสงอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก
ความงดงามของผืนป่าและมิตรภาพระหว่างการเดินทางไปภูกระดึง จึงเป็นเอกลักษณ์ชวนหลงใหลไปกับเสน่ห์แห่งธรรมชาติ ชายวัย 62 ปี ได้เล่าให้ฟังต่อว่า สมัยที่เรียนอยู่เพาะช่างมีอาจารย์ท่านหนึ่งได้พูดไว้ว่า “ในชีวิตหนึ่งจะต้องขึ้นภูกระดึงให้ครบ 10 ครั้ง” หลังจากที่ได้ฟังอาจารย์ท่านนั้นกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้ตนอยากกลับไปพิชิตภูกระดึงครบ 10 ครั้งเช่นกัน
มีบริการแบกสัมภาระโดยลูกหาบ
“การเดินทางขึ้นภูกระดึง ครั้งที่ 10 ผมได้เตรียมม้วนฟิล์มไปด้วยประมาณ 10 ม้วน เพื่อไปเก็บบรรยากาศและความประทับใจ เพราะคิดว่าครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่ในปีต่อมาทันทีที่เข้าฤดูเปิดภูกระดึง มีลมหนาวพัดมา ทำให้คิดถึงต้นสน คิดถึงเสียงสายลม ทำให้อยากกลับขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาทนความคิดถึงไม่ไหวจนต้องกลับมายังภูกระดึงอีกครา หลังจากนั้นก็เดินทางมาเป็นประจำทุกปี บางปีก็ 2 ครั้ง บางปีก็ 4 ครั้ง แล้วแต่ช่วงเวลาและโอกาส แต่ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ผมมีคำถามกับตัวเองว่าถ้าเราจะขึ้นภูกระดึงในทุกๆ เดือน ในช่วงที่ฤดูเปิดภูจะเป็นไปได้ไหม จากนั้นจึงลองขึ้นทุกเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงพฤษภาคม ทำให้สถิติการขึ้นภูกระดึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว”
ชมใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสี  (ภาพ : สุรชัย เอื้ออารีย์)
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ภูกระดึงเป็นสถานที่เดียวที่สามารถสร้างมิตรภาพได้ง่าย ระหว่างที่เราเดินขึ้นภูเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าก็จะแวะนั่งพักผ่อนคลาย และทำให้มีช่วงเวลาที่เราได้ทักทายผู้คนที่เดินผ่านไปมา และยังมอบกำลังใจให้แก่กันและกัน จนทำให้รู้สึกว่ามีความสุขและประทับใจทุกครั้งที่ได้มาเยือน หากใครยังไม่เคยมาท่องเที่ยว ขอแนะนำว่าให้ไปกลางเดือนพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่หมดฤดูฝน มีทากน้อย เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงจะกลัวมาก อีกทั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนเริ่มมีอากาศหนาว ป่าเขียวขจี
น้ำตกโผนพบ
สำหรับกรณีข่าวโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ที่กลับมาเป็นกระแสให้ถกเถียงกันอีกครั้งนั้น หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน ตนเคยมีมีความต้องการกระเช้า แต่หลังจากที่ได้เดินขึ้นภูมานับร้อยครั้ง จึงคิดว่าหากมีการก่อสร้างกระเช้าจะมีผลกระทบกับธรรมชาติ และยังเป็นการทำลายเสน่ห์ของภูกระดึงที่ไม่สามารถทวงคืนกลับมาได้อีกเลย
ลานพระแก้ว
“หากมีกระเช้าขึ้นไปบนภูกระดึงแล้ว นักท่องเที่ยวจะต้องเดินจากหลังแปเพื่อไปยังที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งมีระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชมบรรยากาศยามเย็นในช่วงพระอาทิตย์ตก จะต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ เพื่อไปยังผาหล่มสักในระยะทาง 9 กิโลเมตร รวมระยะไปกลับราว 18 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องเดินเท้าอยู่ดี ถามว่าเมื่อมีกระเช้าบริการแล้ว นักท่องเที่ยวจะเดินไปที่ผาหล่มสักไหม ถ้าไม่มีก็จะต้องจัดรถบริการรับส่ง ก็จะยิ่งเป็นการทำลายธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ถ้ามีนักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงมาเป็นจำนวนมาก ตามหน้าผาต่างๆ ก็จะต้องมีการขึงลวดกั้นเหมือนที่ภูชี้ฟ้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยว ไม่ให้พลัดพรากตกลงจากหน้าผา ซึ่งการขึงลวดกั้นนี้เองจะส่งผลให้ทัศนียภาพอันสวยงามของภูกระดึงได้ถูกลบเลือนไปในที่สุด
ดอกกระดุมเงินระหว่างทาง
อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภูกระดึงแล้ว นอกจากจะมาท่องเที่ยว พักผ่อน ชมธรรมชาติสวยๆ บนภูกระดึง หรือบางคนอาจจะมาเพื่อความท้าทายที่จะได้พิชิตยอดภูกระดึง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดบนภูกระดึงก็คือ การเปิดใจรับเพื่อนใหม่ พูดคุยทักทาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้พิชิตยอดภูกระดึงด้วยกัน หากใครอยากมีเรื่องราวความประทับใจเก็บไว้เล่าสู่ให้ครอบครัว เพื่อน พี่น้อง ก็เปิดโอกาสตัวเองได้ลองไปสัมผัสสักครั้ง จะได้มิตรภาพและประสบการณ์ดีๆ กลับไปไม่น้อยเลย

“ภูกระดึง” ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง บ้านศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย โทร. 0-4281-0833 จองบ้านพัก โทร. 0-4281-0834
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น