xs
xsm
sm
md
lg

ศรชล. บูรณาการจับกุมเรือ IUU สัญชาติแคเมอรูนลักลอบเข้าน่านน้ำไทย ดำเนินคดี 3 ข้อหา

เผยแพร่:

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดยกองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมบูรณาการในการจับกุมเรือชื่อ “Uthaiwan” สัญชาติแคเมอรูน ลักลอบเข้าน่านน้ำผิดกฎหมายประมงไทย

วันนี้ (15 ก.ย.) ที่กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พล.ร.ท.รณภพ กาญจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาตร์ ศรชล. พร้อมด้วย ดร.อดิศร พรหมเทพ อธิบดีกรมประมง พล.ต.ท.จารุวัตร ไวศยะ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามบังคับใช้กฎหมาย พล.ร.ต.วิธนรัช คชเสนีย์ รอง ผอ.ศรชล.ภาค 3 นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล ปลัดจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.นิกร สมสุข ผกก.สภ.วิชิต และนายสาคร ปูดำ ตัวแทนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดยกองทัพเรือ ซึ่งร่วมกับกรมประมง และกรมเจ้าท่า บูรณาการจับกุมเรือชื่อ “Uthaiwan” สัญชาติแคเมอรูน ตามที่แสดงในระบบรายงานตนอัตโนมัติ (AIS-Automatic Identification System) โดยเรือดังกล่าวเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ขนาด 3,000 ตันกรอส ถูกจับกุมในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต (ห่างฝั่งระยะ 7 ไมล์ ทางทิศตะวันตกของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต)

สำหรับเรือ Uthaiwan ทางกรมประมงได้รับประสานจากเครื่อข่ายองค์กรในระดับสากลที่ทำหน้าที่ในการติดตาม เฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ (OceanMind) คาดว่าเป็นเรือที่ถูก IOTC ประกาศว่าเป็นเรือ IUU โดยชื่อ “WiSDOM SEA REEFER” สัญชาดิ Honduras กรมประมงจึงให้ศูนย์ FMC ติดตามเรือลำดังกล่าวทางระบบ AIS ตั้งแต่เรือออกจากท่าเรือที่ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 2 กันยายน 2562 เรือลำดังกล่าวได้เดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศมาเลเซีย และในวันที่ 12 กันยายน 2562 เรือลำดังกล่าวได้แล่นเข้ามาในน่านน้ำไทยโดยไม่มีการแจ้งกรมเจ้าท่า และต่อมา เรือลำดังกล่าวได้ปิดระบบ AIS ทำให้ศูนย์ FMC ไม่สามารถติดตามเป้าหมายได้ จึงได้ประสานให้ ศรชล.ติดตามเรือต้องสงสัยดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 เวลา 21.45 น. ศรชล. ได้รับแจ้งจาก “ศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง” หรือ “ศูนย์ FMC” ของกรมประมง ให้ติดตามเรือต้องสงสัยชื่อเดิม “WiSDOM SEA REEFER” แต่ชื่อในระบบรายงานตนอัตโนมัติ (AIS-Automatic Identification System) ชื่อว่า “Uthaiwan” ซึ่งเรือลำดังกล่าวได้ทำการปิดระบบ AIS ทำให้ศูนย์ FMC ไม่สามารถติดตามเป้าหมายเรือต้องสงสัยได้ ดังนั้น ศรชล. จึงสั่งการให้ ศรชล.ภาค 3 สั่งการให้เรือหลวงศรีราช เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 113 (เรือ ต.113) พร้อมชุดสหวิชาชีพจากศูนย์ PIPO ภูเก็ต และลาดตระเวนค้นหาเรือ โดยศูนย์ FMC ได้สนับสนุนการติดตามเป้าหมายเรือต้องสงสัยจากระบบ AIS

จนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 เวลา 01.30 น. เรือหลวงศรีราช เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 113 (เรือ ต.113) พร้อมชุดสหวิชาชีพจากศูนย์ PIPO ภูเก็ต ได้ตรวจพบเรือต้องสงสัยลำดังกล่าว จึงทำการตรวจค้นเรือเป้าหมายร่วมกับชุดสหวิชาชีพจากศูนย์ PIPO ภูเก็ต โดยเบื้องต้นพบว่าเป็นเรือ IUU LIST มีลูกเรือจำนวน 8 คน เป็นคนไทยทั้งหมด จึงได้แจ้งข้อกล่าวหามีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 94 ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ที่มีการทำการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ดำเนินการควบคุมเรือลำดังกล่าวเดินทางกลับมายังท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากผลสำเร็จในการดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการ และการสนธิขีดความสามารถของทุกภาคส่วนในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งจาก OceanMind กองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า และภาคประชาชน โดยทางจังหวัดภูเก็ตได้อนุญาตให้ใช้ “เรือธัญวิสิทธิ์ 5” สนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าว

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การปฏิบัติการเป็นการบูรณาการร่วมมือกันอย่างแท้จริง ทั้งจาก OceanMind กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง และที่สำคัญที่สุดคือ “ภาคประชาชน” จังหวัดภูเก็ตที่อนุญาตให้ใช้ “เรือธัญวิสิทธิ์ 5” และพร้อมออกปฏิบัติการได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังจากที่ศูนย์ FMC ประสานไป ซึ่งภารกิจครั้งนี้หากขาดภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งแล้วคงไม่สามารถจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี เหตุการณ์ครั้งนี้คงเป็นเครื่องพิสูจน์ขีดความสามารถ ความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ

พล.ต.ท.จารุวัตร ไวศยะ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบติดตามและบังคับใช้กฎหมาย กล่าวถึงการดำเนินคดี ว่า อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบเจ้าของเรือลำดังกล่าวมีคนไทยเป็นเจ้าของเรือ ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าใคร หลังจากนี้ ทางตำรวจจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยในส่วนของกฎหมายเจ้าท่า มีความผิดนำเรือไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาในน่านน้ำไทย ขณะที่กฎหมายประมงนำเรือที่อยู่ในบัญชี IUU เข้ามาในนานน้ำไทย และความผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ในข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมือง

สำหรับคดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่พบเรือทำผิดเกี่ยวกฎ IUU คดีแรกเป็นเรือประมงสัญชาติโซมาเลีย ซึ่งเป็นเรือที่ทำผิดในน่านน้ำไทย ศาลสั่งปรับ 500 ล้านบาท และคดีนี้เป็นคดีที่ 2 ซึ่งได้สั่งการให้โอนคดีไปยังส่วนกลางเนื่องจากมีความชำนาญ และจะทำให้การดำเนินคดีมีความรวดเร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น