xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศแรก! บังคับติด GPS รถส่วนบุคคล “ศักดิ์สยาม” สั่ง ขบ.คุย ก.อุตฯ หวังคุมขับขี่ลดอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 และมอบนโยบายกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่า ได้มอบนโยบายทั้งหมด 11 เรื่อง ซึ่งหลักๆ คือ ให้ต่อยอดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการรถสาธารณะ ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างจัดทำกฎกระทรวง คาดว่าประมาณเดือน มี.ค. 2563 จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้

ปัจจุบันกรมฯ ได้นำระบบเทคโนโลยีติดตามรถระบบ GPS ในการบริหารจัดการรถ 4 ประเภท คือ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลการขับขี่ได้ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและลดอุบัติเหตุลง จึงเห็นว่า ขบ.ควรต่อยอดนำระบบ GPS ไปใช้กับรถส่วนบุคคล โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยมอบหมายให้ ขบ.ศึกษาเรื่องนี้ เป้าหมายเพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้รถใช้ถนนได้ครอบคลุมทุกประเภท เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการติดตามและกำกับดูแล

ช่วงเริ่มต้นอาจจะเริ่มที่รถใหม่ ติดตั้งอุปกรณ์ GPS ออกมาจากโรงงาน ซึ่งภายในเดือน ต.ค.นี้กรมฯ จะต้องเร่งประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะหากการบังคับใช้ต้องออกเป็นกฎกระทรวงอาจต้องใช้เวลา 6 เดือน หากเป็นกฎหมายคงต้องใช้เวลาเป็นปี ควรเริ่มกับรถใหม่ก่อน ส่วนรถเก่าอาจจะมีมาตรการค่อยๆ บังคับใช้ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ ขบ.บังคับใช้ GPS กับรถบรรทุก


สำหรับข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่ ขบ.จะต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่หากไม่ได้กระทบหรือทำให้เสียหายมาก ขณะที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ควรยอมรับฟังและร่วมมือกัน

นอกจากนี้ กรมฯ ต้องดูเรื่องค่าอุปกรณ์ GPS และค่าบริการที่ต้องไม่แพง เดิมอุปกรณ์ GPS ราคา 10,000 บาท มีค่าบริการ 500-700 บาท/เดือน ปัจจุบัน GPS ลดเหลือ 3,000 บาท ค่าบริการเหลือ 300 บาท เทคโนโลยีเหล่านี้ราคาไม่สูงมากเหมือนในอดีต และเชื่อว่าหากมีการใช้มากๆ ราคาจะลดลงอีก ดังนั้นความเสียหายจากอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเทียบไม่ได้กับค่าอุปกรณ์เหล่านี้

“ต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน รวมถึงกรณีที่จะกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ และต้องประเมินกับผลประโยชน์ที่จะได้รับต่อประเทศ ประชาชน ซึ่งการจำกัดความเร็วจะช่วยลดอุบัติเหตุ รวมไปถึงการก่ออาชญากรรมอีกด้วย ผมเห็นว่าเรื่องนี้ต้องกล้าที่จะเริ่มต้นนับ 1 หากทำได้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำได้ และที่ผ่านมาตั้งด่านสกัด จับความเร็ว เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ”

นอกจากนี้ ได้ให้ ขบ.ศึกษาระเบียบกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบรถที่ทำผิดกฎหมาย โดยหากสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับแบ่งสินบนนำจับ ซึ่งพบว่าปัญหาจราจรและอุบัติเหตุเกิดจากการทำผิดกฎจราจรจำนวนมาก การให้ประชาชนมีส่วนช่วยจะช่วยลดปัญหาลงได้ ทั้งนี้ มีกฎหมายอยู่แล้วเพียงแต่ ขบ.ต้องศึกษารูปแบบและวิธีการรวมถึงการจัดส่งข้อมูล และการแบ่งค่านำจำที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่า 1 เดือนน่าจะสรุปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น