xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ชิงอำนาจท้องถิ่น...ที่แพ้ไม่ได้ เลือก เม.ย. 63 แสนตำแหน่ง

เผยแพร่:



รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ตอน ชิงอำนาจท้องถิ่น...ที่แพ้ไม่ได้ เลือก เม.ย. 63 แสนตำแหน่ง




การเมืองระดับท้องถิ่น กับการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับที่ถูกถอดปลั๊ก ไม่มีการเลือกตั้งมานานหลายปี เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ,สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือสก.

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือนายกฯอบจ.-สมาชิกสภาจังหวัดหรือสจ. –นายกเทศมนตรี –สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรืออบต.

ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น แทบทั้งหมดครบวาระกันไปหมดแล้ว เพียงแต่ในช่วงยุคคสช.ไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น
 
เพราะช่วงนั้น รัฐบาลคสช. ไม่ต้องการให้การเมืองทั่วประเทศกระเพื่อม  เลยมีการแช่แข็ง แล้วใช้วิธีต่างๆ เช่นการใช้มาตรา 44แต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นอย่าง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หรือการตั้งนายกเมืองพัทยา อย่าง สนธยา คุณปลื้ม

เช่นเดียวกับหลายแห่ง ก็ใช้วิธีให้ผู้บริหารท้องถิ่นรักษาการ ไปจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้ง จึงทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกดองเค็ม แช่แข็งมายาวนานถึงตอนนี้ร่วมห้าปีผ่านมาแล้ว
 
ที่ผ่านมา ฝ่ายคสช.ร่วมมือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่คสช.ตั้งขึ้น วางหมากกลอย่างแยบยลเพื่อดึงเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นเอาไว้ โดยไม่เขียนล็อกเงื่อนเวลาตายตัว  แต่ให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่น
 
นั่นเท่ากับ การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาล เท่านั้น  กกต.ก็ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงหรือกดดันฝ่ายบริหารได้
 
นี่เป็นสาเหตุที่ยังไม่ยอมจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเสียที มีแต่แกนนำรัฐบาลเช่นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประสานเสียงจะมีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในต้นปีหน้า ก็ยังไม่มีการระบุวัน เวลา ที่ชัดเจน
 
คำตอบของประเด็นนี้ ก็เพราะการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศ ซึ่งตัวเลขอย่างเป็นทางการจริงๆ ล่าสุดที่กระทรวงมหาดไทยแจ้งไปยังสำนักงานกกต. เมื่อปลายเดือนตุลาคม มีว่า

ขณะนี้ มีจำนวนสมาชิกท้องถิ่นทั่วประเทศ  133,979คน และผู้บริหารท้องถิ่น 7,015 คน รวมทั้งสิ้น 140,994คน แต่ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นตามกฎหมายใหม่ที่แก้ไขรวมหกฉบับ ทำให้จำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น บางส่วนลดลง

อย่างไรก็ตาม ตามตัวเลขคร่าว ๆจึงน่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 97,000 กว่าตำแหน่ง
 
ดังนั้น หากจะจัดการเลือกตั้งทุกระดับให้เสร็จสิ้นในปีหน้า ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย และจะเป็นการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่ ในปีเดียว ที่มากที่สุด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้องใช้งบจากส่วนกลางไปสนับสนุนนับพันล้านบาท จะใช้งบจากท้องถิ่นอย่างเดียวไม่ได้
 
ตามนี้ รัฐบาลและสำนักงานกกต. จึงต้องรอให้ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ประกาศใช้เสียก่อน เพื่อให้มีการเปิดก๊อก เงินงบประมาณ มีการเบิกจ่ายได้แล้ว  

จากนั้น มหาดไทย ถึงจะนัดหารือร่วมกับ เลขาธิการสำนักงานกกต. เพื่อกำหนดกรอบการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป
 
 ถึงตอนนี้ ก็มีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว ว่า สำนักงานกกต.และกระทรวงมหาดไทย ที่คุยกันเบื้องต้น จะเบิกจ่ายงบให้กกต.ไปจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ ในกรอบวงเงินประมาณ 1,141 ล้านบาท
 
โดยสาเหตุที่ใช้งบประมาณน้อยกว่าการเลือกตั้งส.ส. ค่อนข้างมาก ซึ่งงบประมาณเลือกตั้งใหญ่ใช้ประมาณ5,000 ล้านบาท ก็เพราะท้องถิ่น ฯทั่วประเทศ ก็จะใช้งบอุดหนุน เงินคงคลัง ของตัวเองมาสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งด้วยเช่น งบจ้างบุคลากร  ที่เป็นงบหลักในการจัดการเลือกตั้ง
 
การเลือกตั้งท้องถิ่น จะเกิดขึ้นได้ ต้องรอให้ พรบ.งบประมาณ รายจ่ายประจำปี 63ประกาศใช้เสียก่อน แล้วกฎหมายงบประมาณจะประกาศใช้เมื่อใด คำตอบ ก็คือ น่าจะมีการประกาศใช้พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563

พอกฎหมายประกาศใช้ ถึงตอนนั้น รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย จะเล่นแง่ เรื่อง ไม่ยอมจัดเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้แล้ว เพราะนักการเมือง พรรคการเมือง นักการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ ก็จะออกมาเรียกร้องกดดัน รัฐบาลให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

รัฐบาลจะบิดพลิ้ว ไม่ได้  ทำให้ กระทรวงมหาดไทย ต้องเร่งหารือกับกกต.เพื่อกำหนดและประกาศวันเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละระดับให้แน่ชัดต่อไป
 
โดยขั้นตอนเมื่อกฎหมายงบฯประกาศใช้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก็หมายถึง กกต.และกระทรวงมหาดไทย ก็จะใช้เวลาในการเตรียมการประมาณ 30-45 วัน เพื่อออกประกาศ-คำสั่งต่างๆ
 
 
ดูตามนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นล็อตแรก คือ เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และเลือกตั้งนายกฯอบจ. คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายน ในกรณีเร็วสุด แต่เงื่อนเวลาดังกล่าว ก็ไม่ล็อกตายตัว กกต.และมหาดไทย อาจขยับไปถึงช่วงเดือนพ.ค.63 ก็ยังได้

ขณะที่มีความชัดเจนอีกระดับหนึ่งว่ากระทรวงมหาดไทยและกกต.จะใช้วิธี ปล่อยทีละขยัก ให้มีการเลือกตั้งในระดับบนก่อน จากนั้นไล่ไปเรื่อยๆ คือที่กรุงเทพมหานคร เริ่มจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.ก่อน

ส่วนในต่างจังหวัด ก็เริ่มจากการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ก่อน แล้วค่อยไล่ไปเป็นการเลือกตั้ง สก. ในกรุงเทพฯและการเลือกตั้ง สจ. ในต่างจังหวัด เพื่อให้การจัดการเลือกตั้ง ทำไปทีละส่วน จะได้คุมสภาพได้
 
แต่ในสายพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พลังประชารัฐ เอง ก็มีข่าวว่า ส.ส.กรุงเทพมหานคร และคนที่พรรคจะส่งลงชิงเก้าอี้สก.ของพลังประชารัฐ ต้องการให้การเลือกตั้งสก.ร่วมห้าสิบเขต เกิดขึ้นพร้อม ๆกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพื่อให้ง่ายต่อการหาเสียง ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ก็มีข่าวว่า บางพรรคอย่างประชาธิปัตย์ก็เอาด้วย

พร้อมกับข้อเสนอให้ระหว่างนี้ มีการเสนอแก้ไขกฎหมายระเบียบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ กลับมามีสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร หรือสข.กลับมาแบบในอดีต หลังจากสนช.มีการแก้ไขกฎหมายแล้วยกเลิกสข.ออกไป โดยตอนนี้ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็เสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯไปแล้ว  
 
การเมืองไทย ปี 2563 จะมีความคึกคักอย่างยิ่ง มาจากศึกชิงอำนาจในสนามท้องถิ่น เกือบหนึ่งแสนตำแหน่ง เป็นการต่อสู้ที่มีเดิมพันสูง แพ้กันไม่ได้

นอกจากเงินจะปลิวสะพัดทั่วประเทศแล้ว ชีวิตนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยก็จะถูกสังเวยดับไปกับการชิงอำนาจอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น