xs
xsm
sm
md
lg

“ปูติน-สี จิ้นผิง” เปิดตัวท่อส่งก๊าซจากไซบีเรีย เชื่อมความผูกพันระหว่างรัสเซียกับจีน ตอกย้ำบทบาทผู้นำตลาดพลังงานของหมีขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


<i>ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ขวา)  ในพิธีเปิดสายท่อส่งก๊าซ “เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย” ผ่านทางวิดีโอลิงก์  เมื่อวันจันทร์ (2 ธ.ค.) โดยที่ปูตินกำลังอยู่ในเมืองโซชิ  ของรัสเซีย </i>
เอเอฟพี - รัสเซียกับจีนเมื่อวันจันทร์ (2 ธ.ค.) ร่วมกันเปิดโครงการสายท่อส่งก๊าซขนาดยักษ์เชื่อมต่อ 2 ประเทศเป็นครั้งแรก โดยเป็น 1 ใน 3 โครงการสำคัญของมอสโกที่มีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำบทบาทผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ที่สุดในโลกของแดนหมีขาว

ทั้งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ต่างกล่าวยกย่องชมเชยสายท่อส่งก๊าซที่มีชื่อว่า “เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย” (Power of Siberia) สายนี้ ว่าเป็นสัญญลักษณ์ของความร่วมมือกันของประเทศทั้งสอง ระหว่างที่สองผู้นำเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดโดยผ่านวิดีโอลิงก์ และมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์อย่างละเอียด

“วันนี้เป็นวันพิเศษ เป็นเหตุการณ์ทรงความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่เพียงเฉพาะสำหรับตลาดพลังงานโลกเท่านั้น แต่ก่อนอื่นใดเลยคือสำหรับเราและสำหรับท่าน สำหรับรัสเซียและจีน” ปูตินกล่าว

ขณะที่สีบอกว่า โครงการนี้ทำหน้าที่เป็นโมเดลของความร่วมมือกัน

“ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียกำลังย่างก้าวเข้าสู่ยุคใหม่” สีกล่าว “ทุกๆ คนต่างทำงานอย่างหนัก”

พิธีเปิดคราวนี้แสดงให้เห็นเหล่าคนงานก๊าซสวมหมวกนิรภัย และฉายวิดีโอซึ่งแสดงให้เห็นเส้นทางอันยากลำบากที่สายท่อส่งก๊าซนี้ตัดผ่าน ตั้งแต่พื้นที่ทุรกันดารห่างไกลทางภาคตะวันออกของไซบีเรีย ไปจนถึงเมืองบลาโกเวสเชนสก์ ตรงชายแดนรัสเซียติดต่อกับจีน

บรรดาคนงานต่างพากันปรบมือกึกก้อง ท่ามกลางเสียงดนตรีแห่งการเฉลิมฉลอง ขณะที่ อเล็กเซย์ มิลเลอร์ ซีอีโอของกาซปรอม (Gazprom) รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านก๊าซของรัสเซีย พูดจากเขตอามูร์ สั่งให้เปิดวาลว์เพื่อให้ก๊าซไหลข้ามพรมแดนรัสเซีย-จีน

<i>จอภาพแสดงให้เห็นประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในห้องซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียนั่งอยู่  ในพิธีเปิดสายท่อส่งก๊าซ “เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย” ผ่านทางวิดีโอลิงก์ </i>

<i>โรงแปรรูปก๊าซบริเวณนอกเมืองสโวบอดนี ในเขตอามูร์ ของรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสายท่อส่งก๊าซ “เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย” (ภาพถ่ายเมื่อ 29 พ.ย. 2019) </i>
สายท่อส่งก๊าซความยาว 3,000 กิโลเมตร ซึ่งปูตินเรียกว่าเป็น “โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” สายนี้ จะส่งก๊าซให้จีนปีละ 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อการดำเนินงานไปถึงขั้นเดินเครื่องกันเต็มตัวในปี 2025 โดยที่จีนกับรัสเซียได้ลงนามในข้อตกลงก่อสร้างระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2014 ซึ่งยังคงถือเป็นสัญญามูลค่าสูงที่สุดเท่าที่กาซปรอมเคยทำมา

ท่อส่งก๊าซสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัสเซียที่จะพัฒนาสายสัมพันธ์กับเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาติผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดอย่างจีน ท่ามกลางความตึงเครียดระหองระแหงที่เกิดขึ้นมายาวนานระหว่างแดนหมีขาวกับฝ่ายตะวันตก

กาซปรอมเน้นย้ำว่า ท่อส่งก๊าซสายนี้ตัดผ่านภูมิประเทศทั้งส่วนที่เป็น “หนองน้ำเฉอะแฉะ, พื้นที่ภูเขา, บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวถี่, ดินเยือกแข็ง และพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยหิน ท่ามกลางเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมอันสุดโต่ง”

อุณหภูมิตามเส้นทางที่ผ่านมีตั้งแต่ไหลรูดลงต่ำสุดที่ระดับ -60 องศาเซลเซียสในเขตยาคูเชีย และต่ำกว่า -40 องศาเซลเซียสในเขตอามูร์ ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย

นอกจากท่อส่งก๊าซสายนี้แล้ว รัสเซียกับจีนยังเพิ่งสร้างสะพานถนนเชื่อมระหว่างประเทศทั้งสองสำเร็จเป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงแดนหมีขาวกับแดนมังกรให้กระชับใกล้เข้ามาอีก

สะพานแห่งนี้กำหนดจะเปิดในปีนี้จะเชื่อมเมืองบลาโกเวสเชนสก์ กับเมืองเฮยเหอ ทางตอนเหนือของจีน

อย่างไรก็ตาม มอสโกยังคงเป็นผู้จัดส่งก๊าซรายสำคัญรายหนึ่งให้แก่ยุโรป และกำลังวางแผนการจะเปิดท่อส่งก๊าซสายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 สายในเร็วๆ นี้ ได้แก่ สายเติร์กสตรีม (TurkStream) และสายนอร์ดสตรีม 2 (Nord Stream 2) ซึ่งจะเพิ่มปริมาณก๊าซให้ยุโรปโดยไม่ต้องผ่านยูเครน

เติร์กสตรีม ซึ่งปูตินและประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิป แอร์โดอันของตุรกี หวังว่าจะเปิดตัวในเดือนมกราคมปีหน้านั้นจะส่งก๊าซรัสเซียลอดข้ามทะเลดำไปยังตุรกี โดยที่จะแยกเป็น 2 เส้น เส้นหนึ่งมุ่งส่งก๊าซถึงผู้บริโภคในตุรกี ส่วนอีกเส้นหนึ่งจะส่งก๊าซต่อไปยังพวกประเทศยุโรปใต้และตะวันออกเฉียงใต้

ส่วน นอร์ด สตรีม 2 ที่จะเพิ่มปริมาณการส่งก๊าซของรัสเซียไปยังเยอรมนีเป็นสองเท่าตัว มีกำหนดเปิดตัวกลางปีหน้า

คนงานสวมเสื้อแจ็กเกตติดตรา “กาซปรอม” เดินผ่านท่อของสายท่อส่งก๊าซ “เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย”  บริเวณนอกเมืองสโวบอดนี ในเขตอามูร์ ของรัสเซีย  (ภาพถ่ายเมื่อ 29 พ.ย. 2019)
นักวิเคราะห์ระบุว่า ทั้งสามโครงการนี้ส่งผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจและการเมืองของรัสเซีย ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างตลาดยุโรปทางตะวันตกกับตลาดจีนที่โตเร็วมากทางตะวันออก

แอนดรูว์ ฮิลล์ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานที่เป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์ก๊าซและพลังงานของเอสแอนด์พี โกลบัล แพลตต์ส ประจำยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ชี้ว่า รัสเซียไม่ได้แค่สร้างแหล่งรายได้ใหม่เท่านั้น แต่ยังเดิมพันและส่งเสริมสถานะของตัวเองในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย

ฮิลล์เสริมว่า โครงการทั้งสามเป็นสัญญาณว่า อุตสาหกรรมก๊าซรัสเซียซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ทั่วโลกจะยิ่งเติบโตเข้มแข็งมากขึ้น

การเปิดตัวเพาเวอร์ ออฟ ไซบีเรียมีขึ้นขณะที่ยังคงมีการทุ่มเถียงเกี่ยวกับโครงการนอร์ด สตรีม 2 ซึ่งมีมูลค่า 10,600 ล้านดอลลาร์ และถูกต่อต้านจากหลายประเทศในยุโรปกลางและตะวันออก รวมถึงอเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยูเครน เนื่องจากมีแนวโน้มทำให้ยุโรปต้องพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติของรัสเซียมากขึ้น

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะแซงก์ชันนอร์ด สตรีม 2 และประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้

เทียร์รี บรอส นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของ ศูนย์เดวิดเพื่อรัสเซียศึกษาและยูเรเชียศึกษา ขงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยกย่องโครงการก๊าซของรัสเซียกับจีนและรัสเซียกับตุรกี แต่เตือนว่า โครงการเชื่อมโยงพลังงานแถบบอลติกอาจกลายเป็นเหยื่อการต่อต้านอย่างรุนแรงในโลกตะวันตก พร้อมสำทับว่า นอร์ด สตรีม 2 ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะฟันธงยากว่ากาซปรอมจะได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนโครงการนี้เมื่อใด
กำลังโหลดความคิดเห็น