xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล-ฝ่ายค้านเห็นตรงกัน ตั้ง กมธ.พิจารณาขุด “คลองไทย” ส.ส.พปชร.เสนอชื่อ “จันทร์โอชา คาแนล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - สภาผู้แทนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาขุดคลองไทย เส้น 9 A ผ่าน 5 จังหวัด ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เสนอควรตั้งชี่อ “จันทร์โอชา คาแนล”

ที่ประชุมสภาผู้สภาแทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 ม.ค. มีมติเป็นเอกฉันท์ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย (Thai Canal) เส้น 9 A จำนวน 49 คน โดยพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยจากข้อมูลของ ดร.สถาพร เขียววิมล อดีตที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคลองคอดกระ วุฒิสภา ระบุว่า แนว 9 A มีความเหมาะสมที่สุด เพราะไม่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ต่างจากแนว 2 A คือ จ.ระนอง-จ.ชุมพร ที่เคยศึกษา แม้ว่าจะเป็นช่วงที่สั้นที่สุด แต่อยู่ใกล้กับพรมแดนพม่า โดยเส้น 9 A มีระยะทางทั้งสิ้น 135 กิโลเมตร ผ่าน 5 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

เริ่มจากเกาะลันตา จ.กระบี่ และปากเมง อ.สิเกา จ.ตรัง ผ่าน อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา จ.ตรัง เข้าเขต จ.นครศรีธรรมราช ที่ อ.ทุ่งสง อ.ชะอวด ผ่านเข้า จ.พัทลุง ที่ อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน ทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และตัดออกทะเลอ่าวไทย ที่คลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา รวม 8 อำเภอ 24 ตำบล 94 หมู่บ้าน

เบื้องต้น กำหนดความกว้างของคลองไว้ 400 เมตร ความลึก 30 เมตร เพื่อให้เรือขนาด 500,000 ตันแล่นได้ ความห่างระหว่างคลองคู่ขนานห่างประมาณ 1,000 เมตร มีการสร้างสะพานข้ามคลองไทยตลอดแนว 5 แห่ง โดยรัฐจะต้องเวนคืนที่ดินจากประชาชนออกไป 4 กิโลเมตร

 


 
ทั้งนี้ ก่อนการลงมติ ที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความมั่นคงว่าการขุดคลองไทยจะเป็นแบ่งแยกประเทศนั้น ในปัจจุบันมีการทำความเข้าใจกันแล้ว ซึ่งตรงกันข้าม การขุดคลองไทยจะทำให้ความมั่นคงจะเพิ่มขึ้น เพราะเรือดำน้ำที่ซื้อมาจะข้ามฝั่งได้ เช่นเดียวกับด้านเศรษฐกิจ เรือประมงก็ข้ามฝั่งไปทำประมงได้อีกด้านหนึ่ง ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ถ้าขุดคลองไทยได้ เงินจะไหลเข้าประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในภาวะที่เราต้องการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่สภานำเรื่องนี้มาพิจารณา การตั้ง กมธ.จะทำให้มีการศึกษาในทุกมิติ ทั้งความมั่นคงทางทหาร ผลกระทบต่อประชาชนใน 5 จังหวัด วิถีชีวิตของชาวประมง

ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การเชื่อมโยงการขนส่ง 2 มหาสมุทรเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โลกต้องการการขนส่งทางทะเลเส้นทางที่ใกล้ที่สุด คลองไทยจะเป็นคลองที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตการเกษตร กำหนดราคาเองได้ รายได้จากธุรกิจที่เกิดขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องถึง 5 แสนล้านบาท เก็บภาษีได้ 5 ล้านล้านบาท นำรายได้มาพัฒนาประเทศได้

ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยหยุดนิ่งมานาน อยากให้ประเทศไทยเริ่มโครงการนี้ แม้ว่าตนจะเป็น ส.ส.กทม.และเป็นฝ่ายค้าน แต่ 5 ปีหลังรัฐประหาร เราสนใจแต่อีอีซี ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการไปทำที่เก่าๆ และแยกไม่ออกจะท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรม แต่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ควรพัฒนา ก่อนจะสร้างสะพานจันทร์โอชาตามที่มีคนเสนอ ควรหันกลับมาพัฒนาภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลาง นอกจากคลองไทย ต้องการให้บรรจุเรื่องการเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น ที่ จ.ภูเก็ต หรือ จ.กระบี่

“วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เห็นตรงกันที่จะต้องร่วมกันพิจารณา และเมื่อตั้ง กมธ.แล้วอยากจะให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ” นายจิรายุ กล่าว

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คลองไทยจะมีความสำคัญในยุทธศาสตร์การเดินเรือ เป็นการสร้างเส้นทางเดินเรือใหม่ สร้างรายได้ 4.4 ล้านล้านบาท อ่าวไทยจะมีอำนาจทางทหารและการขนส่งทางทะเล การเดินเรือทั่วโลกประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างสูง ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ วันนี้ ประเทศไทยไม่มีอะไรไปขาย ญี่ปุ่นก็ย้ายฐานการผลิต ถ้าไม่มีโครงการใหม่ๆ เราจะมีปัญหา ถ้าเราทำคลองไทยได้จะไม่มีใครมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเท่านี้ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณา ดูแลชาวบ้านที่ต้องได้รับผลกระทบด้วย

ด้าน นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ยังได้เสนอว่า คลองที่ขุดใหม่ควรตั้งชื่อว่า “จันทร์โอชา คาแนล” ถ้าตั้งได้ก็ดีเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.พรรคอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจใหม่ อนาคตใหม่ และประชาธิปัตย์ อภิปรายเห็นด้วย หลังการอภิปราย ประธานในที่ประชุมได้ถามที่ประชุมว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ ข้อ 88

 


 
กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย (Thai Canal) เส้น 9 A จำนวน 49 คนประกอบด้วย 1.นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ 2.นายวิทยา ยาม่วง 3.นายสมชาย สุมนัสขจรกุล 4.นางศิริวรรณ สุคนธมาน 5.พล.ร.ต.ธีระยุทธ นอบน้อม 6.นายพรพจน์ เพ็ญพาส 7.นายพิเชษฐ สถิรชวาล 8.พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ 9.นายนพดล แก้วสุพัฒน์ 10.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ

11.นายเดชอิศม์ ขาวทอง 12.นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ 13.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ 14.นายวาสุเทพ ศรีโสดา 15.นายนิยม ช่างพินิจ 16.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง 17.นายบัลลังก์ อรรณนพพร 18.นายชวลิต วิชยสุทธิ์ 19.นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน 20.นายวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ 21.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ 22.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 23.ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี 24.นายวันชัย ปริญญาศิริ 25.นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง

26.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ 27.นายพยม พรหมเพชร 28.นายนัทธี ถิ่นสาคู 29.นายสุทา ประทีป ณ ถลาง 30.นายสาธิต อุยตระกูล 31.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร 32.พล.ท.พงศกร รอดชมภู 33.นายพีรเดช คำสมุทร 34.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร 35.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ 36.นายประสิทธิ์ ชัยหนูนวล 37.พล.ต.ต.โชติ ชัยชมภู 38.น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล 39.นายพิสิฐ ลี้อาธรรม

40.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 41.นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ 42.นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง 43.นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล 44.นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ 45.นายชยุต ภุมมะกาญจนะ 46.นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ 47.นายศุภชัย นาคสุวรรณ์ 48.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ 49.นายภาสกร เงินเจริญกุล
 
กำลังโหลดความคิดเห็น