xs
xsm
sm
md
lg

นกเงือก เตือนมนุษย์ “ให้รักแท้ รักผืนป่า” มูลนิธิฯ ส่งสัญญาณร้าย “นกชนหิน” กำลังสุ่มเสี่ยงจะสูญพันธุ์

เผยแพร่:




นกชนหิน สุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
หลายคนมักจะนึกถึง “นกเงือก” เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักแท้ ที่มีรักเดียวใจเดียว แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า นกเงือกคือกลไกสำคัญ ที่บ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด และจะทำให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงส่วนเล็กๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติสืบไป
เหตุนี้เอง “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั่วไป ร่วมอนุรักษ์นกเงือก พร้อมกับได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือกของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา
ทางภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีโครงการศึกษาชีววิทยาของนกเงือก โดยมีหลากหลายโครงการทำการศึกษานกเงือกไทยมามากกว่า 20 ปี และจากการศึกษาวิจัยกว่า 6 โครงการ พบว่า ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ เผ่าพันธุ์ของนกเงือกได้ถูกรุกรานและเสี่ยงต่อสภาวะสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการถูกล่า หรือแม้กระทั่งการลดจำนวนลงของผืนป่า ทำให้ประชากรนกเงือกไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้
ในทุกๆ ปี วันรักนกเงือก จึงจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีหลายภาคส่วนเข้าร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งทีมงานวิจัย ผู้สนับสนุน หน่วยงานต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ พร้อมรายงานสถานภาพของนกเงือก และงานวิจัยต่างๆ และอีกหนึ่งจุดประสงค์สำคัญ เป็นวันพบปะ พูดคุย สังสรรค์ของผู้ที่รักนกเงือกทุกคน ซึ่งเป็นมิตรภาพที่เชื่อมต่อกันมาเหนียวแน่นและยาวนาน
สำหรับกิจกรรมในปีนี้จัดเป็นปีที่ 21 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายคู่รัก HORNBILL LOVER ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันรักนกเงือกอีกครั้ง ณ สวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกได้รับการยอมรับและขนานนามจากทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็น  “มารดาแห่งนกเงือก”  ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ที่พัฒนาจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ (คนขวา)
นกชนหิน สุ่มเสี่ยงการสูญพันธุ์
ในปีนี้ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ส่งสัญญาณอันตราย “นกชนหิน” (Helmeted Hornbill)
ซึ่งเป็นนกเงือก 1 ใน 13 สายพันธุ์ในประเทศไทย พบว่ามีสถานภาพที่ล่อแหลมและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หลังพบว่าช่วงปีที่ผ่านมา มีลูกนกชนหินเกิดใหม่เพียง 2 ตัวเท่านั้น
ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ ประธานมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กล่าวว่าสถานภาพการขยายพันธุ์นกชนหิน (Helmeted Hornbill)ในประเทศไทย จากงานวิจัยของโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก โดยคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พบว่าในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาช ปัตตานี ยะลา ที่ทำงานวิจัยมากว่า 25 ปี มีลูกนกชนหินเกิดใหม่ 44 ตัว ซึ่งเฉพาะปีที่ผ่านมา มีเกิดใหม่เพียง 1 ตัวเท่านั้น เช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี ได้ลูกนกชนหินเกิดใหม่เพียง 1 ตัว รวมเป็น 2 ตัวในรอบปี 2562 อย่างไรก็ตามยังพบการกระจายของนกชนหินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาช และอุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา
นกชนหิน พบในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ตั้งแต่แถบเทือกเขาตะนาวศรีลงมาทางใต้ของประเทศไทย จนถึงมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว ปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอนุสัญญาไซเตส (CITES) จัดไว้ในบัญชีที่ 1 และสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ดร.วรพัฒน์ บอกว่าตามรายงานขององค์กร TRAFFIC พบว่าในช่วงเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2562) พบโพสต์การเสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น โดย 173 โพสต์ (73%) เป็นการซื้อขายชิ้นส่วน “โหนกนกชนหิน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมและความต้องการในตลาดที่สูงมาก
“นกชนหินส่วนมากจะถูกล่าเพื่อเอาโหนก เพื่อนำมาทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย ทดแทนงาช้าง โดยราคาของเครื่องประดับจากโหนกนกชนหินตั้งมูลค่าสูงถึง 20,000-30,000 บาท ส่วนมากยังล่าจากป่าในมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้วส่งต่อไปขายในตลาดนักสะสมชิ้นส่วนสัตว์ป่าในจีน ไทย และลาว”
สถานภาพการขยายพันธุ์นกเงือกในประเทศไทย
ในพื้นที่วิจัย 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาช พบว่า ในฤดูทำรังของนกเงือกปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีโพรงรังนกเงือกที่สามารถใช้ได้ 521 โพรง นกเงือกเข้าใช้โพรง 206 โพรง (40%) ประสบความสำเร็จในการทำรัง 183 โพรงรัง (89%)
เพียงเฉพาะปีที่ผ่านมา ได้ลูกนกออกสู่ธรรมชาติทั้งหมด 238 ตัว ส่วนตั้งแต่ปี พ.ศ.2521-2562 (41ปี) มีลูกนกเงือกทั้งหมดออกสู่ธรรมชาติในพื้นที่วิจัยหลัก 3 พื้นที่ดังกล่าว จำนวน 4,651 ตัว แบ่งเป็น เขาใหญ่ (41ปี) 2,869 ตัว ห้วยขาแข้ง (28ปี) 989 ตัว และบูโด-สุไหงปาดี (25ปี) 757 ตัว
ปัจจุบันประเทศไทยมีนกเงือกให้จดจำกันถึง 13 ชนิด ได้แก่

- นกกก (Great Hornbill)

- นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll)

- นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)

- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)

- นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)

- นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

- นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)

- นกเงือกปากดำ (Black Hornbill)

- นกเงือกดำ (Black Hornbill)

- นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)

- นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)

- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)

- นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)

นกเงือก ทั้ง 13 ชนิด ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ทั้งนี้ ในวันรักนกเงือก จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราได้หันมาตระหนักถึงส่วนเล็กๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติสืบไป

กิจกรรมในปีนี้จัดเป็นปีที่ 21  มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายคู่รัก HORNBILL LOVER ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันรักนกเงือกอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น