xs
xsm
sm
md
lg

คลังเผยโควิด-19 เริ่มกระทบศก.ไทย เล็งปรับ GDP เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงการคลัง ระบุสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ขอประเมินผลกระทบอีกระยะ ก่อนทบทวน GDP เม.ย.นี้

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะรองโฆษกสศค.รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2563 พบว่า เศรษฐกิจไทย มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 6 เดือนที่ 0.4 % ต่อปี

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.9 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีน เดือนมกราคม 2563 ติดลบ 3.7%

สำหรับภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัว ตามการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัว ได้แก่ แอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 92.2 ตามการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ ยา และเคมีเพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

รองโฆษก สศค. บอกว่า กระทรวงการคลัง เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ในเดือนเมษายนนี้ หลังจากมีหลายปัจจัยกดดันการเติบโตของภาพรวมเศรษฐกิจ โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยปีนี้ จะไม่เป็นไปตามคาดการณ์ที่ 41.1 ล้านคน เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอเดินทาง

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.
ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.รายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ก.พ.63 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ต้องติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรของภาคกลาง และสถานการณ์ท่องเที่ยวของภาคใต้ ,ภาคตะวันออก จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
กำลังโหลดความคิดเห็น