กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ส.อ.ท.เตรียมมอบ TDRI ศึกษาผลกระทบยานยนต์ไฟฟ้าหลังส่งสัญญาณมาเร็วในอีกเพียง 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการ 2,500 รายมีมาตรการและแนวทางรับมือในระยะยาว ขณะที่ระยะสั้นเกาะติดโควิด-19 ใกล้ชิด หากฉุดยอดขายรถยนต์ผลิตไม่ถึง 2 ล้านคันกระทบเพิ่มแน่
นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะมาในอีก 5 ปีข้างหน้าทางกลุ่มฯ และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจึงเตรียมที่จะมอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ทำการศึกษาและวิจัย (R&D) เรื่องผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่ปัจจุบันมีอยู่ 2,500 ราย
“ยานยนต์ไฟฟ้าวันนี้เป็นเทรนด์ของโลกและมาเร็วกว่าที่คิดไว้จากเดิมที่มองว่าจะอีก 10 ปีวันนี้จะมาในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเพราะ 70% นั้นเป็นอุตสาหกรรมแบบเก่าไม่ได้รองรับ EV และยังเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)” นายพินัยกล่าว
นอกจากนี้ จากการที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯ ประมาณ 80% มุ่งเน้นเป็นการผลิตแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือผลิตเพื่อป้อนให้กับค่ายรถและรับจ้างผลิตก็จะมีการปรับแผนไปมองในเรื่องของตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ และอะไหล่ทดแทน หรือ Aftermarket มากขึ้นซึ่งจะเป็นคุณภาพที่สูงหรือมีฟังก์ชันที่มากกว่าอะไหล่ OEM ซึ่งตลาดนี้มีการเติบโตมากโดยเฉพาะจีนและไต้หวันซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบเมื่อยานยนต์ EV มาได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นนี้สมาชิกกลุ่มยังคงจะต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อยอดขายรถยนต์และการส่งออกมากน้อยเพียงใดเพราะจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังคำสั่งซื้อชิ้นส่วนฯ ให้ลดลงตามไปด้วย แต่ปัจจุบันกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.เองยังคงเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2563 ไว้คงเดิมที่ 2 ล้านคัน
“เดิมเราคาดการณ์จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้าจะทำให้ปี 2563 การส่งออกชิ้นส่วนโดยรวมจะลดลง 4-5% จากปีก่อนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีกรณีโควิด-19 เข้ามาก็ยอมรับว่าอาจจะทำให้การส่งออกลดลงกว่าเดิมแต่จะลดหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็คงต้องดูว่าโลกจะสามารถควบคุมโควิด-19 ได้เมื่อใด แต่หวังว่าจะจบเร็วและต้องดูแรงซื้อในประเทศของคนไทยประกอบด้วย เพราะล่าสุดยอดจองเชฟโรเลตสูงมาก” นายพินัยกล่าว
ขณะนี้กลุ่มชิ้นส่วนฯ ยังไม่มีแผนปรับลดคนงานจากผลกระทบโควิด-91 แต่อย่างใด โดยยังคงติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้ออกมาตรการที่จะดูแลคนงานที่มีอยู่ไม่ให้เกิดการติดเชื้ออย่างรัดกุม คุมเข้มไม่ให้เดินทางไปยังประเทศเสี่ยง ซึ่งบางบริษัทถึงขั้นให้มีการรายงานว่ามีญาติเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดปัญหาได้เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า