xs
xsm
sm
md
lg

เทียบความต่าง “9 ที่เที่ยวระดับโลก” ก่อน-หลังวิกฤติโควิด-19

เผยแพร่:

Youtube :Travel MGR

หอไอเฟลในช่วงเวลาปกติ

หอไอเฟลปิดทำการเนื่องจากโควิด-19 (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)
หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 หลายๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มมีมาตรการทยอยปิดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมักจะมีนักท่องเที่ยวอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ในหลายประเทศ และหลายเมือง ยังมีมาตรการปิดประเทศ-ปิดเมือง ควบคุมการเดินทางเข้า-ออก รวมถึงการที่ประชาชนจะออกไปทำกิจกรรมในที่สาธารณะ การรวมตัวกันของคนจำนวนมาก มีการปิดสถานศึกษา โรงภาพยนตร์ ร้านค้า ยกเลิกคอนเสิร์ตและอีเว้นท์ต่างๆ

มาสำรวจกันว่าสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่มักจะมีนักท่องเที่ยวมากมาย

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ภายหลังปิดให้บริการ (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)
หอไอเฟล และ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการห้ามประชาชนรวมตัวกันเพิน 100 คน ปิดสถานที่สาธารณะที่ไม่จะเป็น จึงทำให้สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างหอไอเฟล และ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปิดทำการ ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้วย

“หอไอเฟล” หอคอยโครงสร้างเหล็กอันเป็นสิ่งก่อสร้างที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีสที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ออกแบบโดย กุสตาฟ ไอเฟล สถาปนิกและวิศวกรชั้นนำของฝรั่งเศส มีความสูง 300 เมตร หรือตึกสูงประมาณ 75 ชั้น

“พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์” เป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุด เก่าแก่ที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และด้วยขนาดพื้นที่กว้างขวาง มีการจัดแสดงผลงานมากมาย จึงว่ากันว่า หากต้องการชมผลงานทุกชิ้น อาจจะต้องใช้เวลาราว 1 สัปดาห์เลยทีเดียว

ทัช มาฮาล หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

นักท่องเที่ยวทยอยเดินทางออกจากทัช มาฮาล ก่อนการปิดให้บริการเนื่องจากโควิด-19 (ภาพ : Pawan Sharma/AFP)
ทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย
รัฐบาลอินเดียมีคำสั่งให้ปิดการเข้าชมทัชมาฮาล เนื่องจากต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของอินเดียเพิ่งประกาศว่า จะปิดการเข้าชมอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้

“ทัช มาฮาล” สิ่งก่อสร้างที่ได้ชื่อว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่คนทั้งโลกต่างรู้จัก ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองอัครา รัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เหตุผลที่คนทั่วโลกมุ่งหน้ามาชมทัช มาฮาล นั่นเพราะที่นี่ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ และได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกใน ค.ศ.1983 เป็นผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด เป็นงานสถาปัตยกรรมที่รวมเอาความงดงามสุดยอดที่สร้างด้วยมือมนุษย์ และยังถือเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่ชายคนหนึ่งมอบให้กับหญิงอันเป็นที่รักอีกด้วย

กะบะฮ์ นครเมกกะห์ ช่วงที่มีการประกอบพิธีฮัจญ์ (ภาพ : https://www.britannica.com)

กะบะฮ์ช่วงที่มีโควิด-19 (ภาพ : art daily)
กะบะฮ์ นครเมกกะห์ ประเทศซาอุดิอาราเบีย
ทางการซาอุดิอาระเบียประกาศด้ามศาสนิกชาวต่างชาติทุกคนเข้าเยี่ยมสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ยังสั่งระงับวีซ่าของนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

“กะบะฮ์” ถือเป็นศูนย์รวมของมุสลิมทั่วโลก เป็นที่ที่อัลลอฮ์กำหนดให้เป็นที่สักการะพระองค์ เป็นทิศกิบลัตสำหรับการละหมาดของชาวมุสลิม และเป็นสถานที่ฏอวาฟ (เวียนรอบ) ในการประกอบพิธีอุมเราะฮ์และฮัจญ์

น้ำพุเทรวี่ กรุงโรม (ภาพ : https://www.thetablet.co.uk)

น้ำพุเทรวี่หลังโควิด-19 ระบาด (ภาพ : Baris Seckins | Anadolu Agency | Getty Images)
น้ำพุเทรวี และ โคลอสเซียม กรุงโรม ประเทศอิตาลี
รัฐบาลอิตาลีประกาศปิดประเทศทั้งหมด ภายหลังจากการปิดเฉพาะแคว้นลอมบาเดียร์ ทางตอนเหนือ ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยมาตรการปิดประเทศนั้นมีการสั่งห้ามเดินทาง ปิดพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดีทุกแห่งทั่วประเทศ ยกเลิกกิจกรรมทุกอย่าง ร้านอาหารต้องมีระยะห่างระหว่างกัน 3 ฟุต และปิดให้บริการ 18.00 น. เป็นต้น โดยอิตาลีถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการประกาศปิดประเทศ

โคลอสเซียม (ภาพ : https://www.britannica.com)

โคลอสเซียมในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว (ภาพ : ALBERTO PIZZOLI/AFP via Getty Images)
“น้ำพุเทรวี” ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นน้ำพุที่มีความสูง 25.9 เมตร (85 ฟุต) และกว้าง 19.8 เมตร (65 ฟุต) และน้ำพุแบบบาโรกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโรม โดยนอกจากในเรื่องของความสวยงามแล้วที่นี่ยังมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อเกี่ยวกับการโยนเหรียญอธิษฐานที่เป็นเสน่ห์ให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม

“โคลอสเซียม” เป็นสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรม เริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสเปเซียนแห่งจักรวรรดิโรมัน และสร้างเสร็จในสมัยของจักรพรรดิไททัส ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 อัฒจันทร์เป็นรูปวงกลมก่อด้วยอิฐและหินทรายวัดโดยรอบได้ประมาณ 527 เมตร สูง 57 เมตร สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 50,000 คน มีการออกแบบอย่างชาญฉลาดโดยสร้างให้สนามกีฬามีลักษณะเป็นรูปวงรี เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเข้าใกล้นักกีฬา

นาฬิกาดาราศาสตร์โบราณ บริเวณที่ว่าการเมืองหลังเก่า

นาฬิกาดาราศาสตร์โบราณร้างไร้ผู้คน (ภาพ : Amos Chapple Photography)
ที่ว่าการเมืองหลังเก่า และ จัตุรัสเมืองเก่า กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก
สาธารณรัฐเช็ก ระงับวีซ่าท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ และไม่อนุญาตให้ชาวเช็กเดินทางออกนอกประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีมาตรการกักตัวพลเมืองเช็กที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงนาน 14 วัน ห้ามจัดงานรวมกลุ่มมากกว่า 30 คน ปิดสถานศึกษา สถานบันเทิงและสถานที่สันทนาการ มีการกำหนดระยะเวลาทำการของร้านอาหาร

จัตุรัสเมืองเก่า กรุงปราก

จัตุรัสเมืองเก่าที่ไม่มีนักท่องเที่ยว (ภาพ : Amos Chapple Photography)
“ที่ว่าการเมืองหลังเก่า” ที่กรุงปราก มีไฮไลต์อยู่ที่ “นาฬิกาดาราศาสตร์โบราณ” ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ก็ยังใช้กลไกที่ซับซ้อนเป็นตัวขับเคลื่อน สามารถบอกได้ทั้งเวลา ข้างขึ้นข้างแรม จักรราศี และตำแหน่งการเดินทางของพระอิทตย์ พระจันทร์ และโลก ในระบบสุริยจักรวาล บริเวณด้านหน้าที่ว่าการเมืองหลังเก่านี้ จะมีนักท่องเที่ยวมารอชมนาฬิกากันในทุกๆ ต้นชั่วโมง ซึ่งจะมีรูปปั้นอัครสาวก 12 องค์ ที่ประดับอยู่บนนาฬิกาออกมาเดินผ่านหน้าต่างเล็กๆ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างยกกล้องขึ้นบันทึกภาพความประทับใจนี้

“จัตุรัสเมืองเก่า” ปัจจุบันนี้เป็นสถานที่นัดพบของชาวปรากและนักท่องเที่ยว โดยบริเวณลานจัตุรัสนั้นมีอนุสาวรีย์ ยาน ฮุส นักปฏิรูปศาสนา ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ ส่วนทางทิศตะวันออกของจัตุรัสก็คือ “โบสถ์แม่พระ” โบสถ์เก่าแก่ที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบโกธิก ส่วนภายในนั้นตกแต่งตามสไตล์บาโรค มีจุดเด่นให้สังเกตก็คือยอดแหลม 2 ยอด ที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล อีกมุมของจัตุรัสก็มี “St. Nicholas Church” ซึ่งเป็นโบสถ์ในสไตล์บาโรค ด้านในตกแต่งอย่างงดงาม

วิหารบาร์เซโลนา (ภาพ : https://www.knowingbarcelona.com)

วิหารบาร์เซโลนา หลังมีการระบาดของโควิด-19 (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)
วิหารบาร์เซโลนา เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน
นายกรัฐมนตรีสเปน ประกาศภาวะฉุกเฉิน ปิดประเทศเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่ 16 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ประกาศภาวะฉุกเฉินมีผลหลายประการ อาทิ การสั่งปิดร้านค้า (ยกเว้นร้านจำหน่ายสินค้าจำเป็น), บาร์, ร้านอาหาร, โรงภาพยนตร์, โรงเรียน และมหาวิทยาลัย รวมถึงจำกัดการเดินทางของประชากรทั้งประเทศ

“วิหารบาร์เซโลนา” เป็นวิหารสไตล์คลาสสิกโกธิคซึ่งมีประวัติย้อนไปถึงศตวรรษที่ 13 นักท่องเที่ยวมาที่นี่เพื่อชมพิธีมิสซาแบบดั้งเดิมภายใต้เพดานทรงโค้งอันยิ่งใหญ่ ทั่วทั้งวิหารนี้สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะการตกแต่งจากศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา รวมถึงระเบียงโบสถ์หรือลานรอบๆ ที่มีน้ำพุและฝูงห่าน จากดาดฟ้าจะสามารถมองเห็นวิวได้ทั่วเมือง

ทั้ง 9 แห่งนี้ เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัดเจน ส่วนในแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ก็มีนักท่องเที่ยวบางตาลงเช่นกัน เห็นหลายๆ ประเทศมีมาตรการรับมืออย่างชัดเจนแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าภาครัฐของไทยจะมีมาตรการออกมารับมือกับการระบาดของโควิด-19 อย่างชัดเจนและเห็นผลอย่างเร็ววัน ก่อนที่จะมีคนป่วยด้วยโควิด-19 จนล้นประเทศ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR
กำลังโหลดความคิดเห็น