สธ.แจงเคสดับบนรถไฟมีโควิด พบไม่มีไข้ขณะผ่านด่าน ระบุ การตายจากโควิดต้องใช้เวลา กว่าเชื้อจะลงปอด ทำลายเนื้อปอด ต้องนอนเหนื่อยหอบ จึงไม่ได้ตายเฉียบพลันจากโควิด แต่เป็นอาการทางหัวใจ พบเป็นเบาหวานที่คุมไม่ได้ ต้องฉีดยาควบคุม ส่วน ผบ.เรือนจำนครนายก ไม่ได้ติดจากเรือนจำแน่ ติดตามคนสัมผัสใกล้ชิด 40 คน ระบุใช้ชุดกันฝน เฟซชีลด์ ไม่ใช่ชุดมาตรฐานแต่กป้องกันได้ มีใช้มาตั้งแต่ไข้หวัดนก
วันนี้ (2 เม.ย.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงชายที่เสียชีวิตเฉียบพลันบนรถไฟหลังเดินทางกลับจากปากีสถาน และตรวตพบภายหลังว่ามีการติดโควิด-19 ว่า เป็นกรณีหนึ่งของการเดินทางจากต่างประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรค ถ้าให้ข้อมูลความเป็นจริงการเจ็บป่วยได้ จะทำให้ได้รับการตรวจคัดกรองวินิจฉัยเร็วขึ้น แต่รายนี้วัดอุณหภูมิที่สนามบินได้ 35.1 องศาเซลเซียส คือไม่มีไข้เวลานั้น ส่วนประวัติเจ็บป่วย พบว่าเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ไม่ได้เสียจากโรคทางเดินหายใจ จึงไม่ใช่การตายจากโรคโควิด-19 แบบเฉียบพลัน เพราะไม่มีไข้ ไอไม่มาก ยังเดินด้วยตัวเองไปซื้อตั๋วรถไฟ และเดินทางได้ แต่ระหว่างไปพบว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ไม่ได้แสดงอาการเหนื่อยหอบแล้วเสียชีวิตตรงจุดนั้น
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับผลการสอบสวนโรคกรณีผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครนายกป่วยโควิด-19 นั้น ยืนยันว่า ไม่ได้ติดมาจากห้องขังแน่นอน เพราะไม่ได้เป็นแพทย์ที่รักษาใน รพ.ราชทัณฑ์ ตอนนี้มีการติดตามผู้สัมผัสได้หมดแล้ว ประมาณ 40 คน ส่วนอาการของผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้รุนแรง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สิ่งตนอยากบอกคือกรณีมีวัยรุ่น รวมตัวฝืนมาตรการควบคุมโรคนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของวินัย คิดแค่ว่าคนอายุน้อยจะอาการไม่รุนแรง สะท้อนว่า เขายังคิดถึงคนอื่นน้อยไป ซึ่งจริงๆ หากติดคนสูงอายุในครอบครัวจะทำให้มีอาการรุนแรง จึงอยากขอความร่วมมืออย่างจริงจัง
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะแพทย์ดูแลคนไข้ จะเห็นว่าสามเดือนกว่าที่ผ่านมา ข้อมูลความเจ็บป่วยได้มากขึ้น ถ้าคนป่วยโรคนี้วันที่ 1 จะมีไข้อยู่ครึ่งหนึ่ง คือ อุณหภูมิ 37.5 องศา อีกครึ่งหนึ่งไม่มีไข้ แต่ตามไป 2-3 วัน ไข้จะขึ้นถึง 96% จะตรวจเรื่องไข้ได้ อาการหวัดจะชัดเจนขึ้น ส่วนรายเสียชีวิตนี้ ประเด็นคือบินมาผ่านด่านหมดเลย แสดงว่า อาจจะไม่มีไข้จริงๆ หลังจากนั้น ไปซื้อตั๋วขึ้นรถไฟ ขณะบนรถไฟมีอาการไอ แต่ไม่ได้ไอตลอดเวลา ไอนิดหน่อย ระหว่างทางก็มีอาการอาเจียนและเริ่มเหนื่อย อาการเหล่านี้มักบ่งบอกว่าจะไม่ใช่ปอด หรือเกี่ยวกับปอดแต่ไม่ใช่เป็นหลัก เพราะการปุบปับเสียชีวิตจะเดินอย่างนี้ไม่ได้ ต้องนอนเหนื่อยหอบ
“คนไข้คนนี้หลังเสียชีวิตมีการตรวจเชื้อก็พบเชื้อในปริมาณที่ค่อนข้างสูงด้วย และมีอาการค่อนข้างเฉียบพลันมาก อาการเหล่านี้เหมือนกับว่าเป็นโรคเกี่ยวกับทางหัวใจ คนนี้มีประวัติเบาหวานที่ต้องฉีดยาคุมระดับน้ำตาล แสดงว่า อาการค่อนข้างเยอะ ซึ่งการคุมน้ำตาลไม่ค่อยดี สวิงไปมาก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตค่อนข้างเฉียบพลันได้ เท่าที่อ่านรายงานเสียชีวิตโควิดต้องใช้เวลาหลายวัน กว่าจะลงปอด ทำลายเนื้อปอด รายนี้โควิดมีแน่ ตรวจเชื้อเจอ แต่โรคที่ทำให้เสียชีวิตอาจเป็นอีกประเด็นหนึ่ง อาจโรคหัวใจร่วมด้วย” นพ.ทวี กล่าว
นพ.ทวี กล่าวว่า กรณีมีการตั้งคำถามว่ามีบุคลากรบางส่วนต้องใช้ชุดกันฝนมาปฏิบัติหน้าที่ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความปลอดภัยหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วเมื่อครั้งที่มีการระบาดของไข้หวัดนก บุคลากรสาธารณสุขก็เอาชุดกันฝนมาใช้ ซึ่งก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน เนื่องจากสามารถกันน้ำได้ ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ชุดมาตรฐาน แต่ก็สามารถกันได้ ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงาน สิ่งสำคัญคือหน้ากาก N95 มากกว่า แม้แต่ชุด PPE หน้ากาก N95 รวมถึงกระจังหน้า (face shield) ก็ยังเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ชุด PPE หน้ากาก N95 ทั่วโลก รวมถึงไทยมีความต้องการสูง ของที่มีจะไม่เพียงพอ ขณะนี้จึงมีการศึกษานำหน้ากาก N95 กลับมาใช้ซ้ำ ภายในสัปดาห์หน้าจะมีข้อสรุปเรื่องนี้ สิ่งสำคัญคือมีห้องอาบน้ำชำระร่างกายก่อนกลับบ้าน