xs
xsm
sm
md
lg

ทดลองง่ายๆ “แอลกอฮอล์เจล” ในมือปลอดภัยหรือไม่?

เผยแพร่:


แน่ใจไหม? ว่าแอลกอฮอล์ในมือนั้นปลอดภัย
ช่วงนี้เราเริ่มหาซื้อ “เจลล้างมือ” ได้ง่ายขึ้น แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า แอลกอฮอล์เจลที่ซื้อมานั้น ใช้ส่วนผสมที่ไม่เป็นอันตราย วันนี้เรามีวิธีทดสอบง่ายๆ ด้วยเครื่องปรุงและวัสดุในครัว ไม่ต้องส่งตัวอย่างเข้าทดสอบในห้องแล็บ

เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) จึงเกิดธุรกิจการผลิตและจำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ขึ้นอย่างแพร่หลาย ซึ่งบางรายก็ไม่ได้มาตรฐานดังที่เป็นข่าว ผศ.ดร.เภสัชกรกฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจุลชีววิทยา (CAPQ-MICRO) ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) จึงแนะวิธีทดสอบเจลแอลกอฮอล์อย่างง่ายๆ ว่ามีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายหรือไม่

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่ผ่านทางละอองฝอย เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม และแพร่ผ่านทางสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อได้ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โดยเชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมได้หลายวัน แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลความสะอาดของสภาพแวดล้อม โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

สำหรับวิธีเลือกใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในกรณีของไวรัสโควิด-19นั้น ผศ.ดร.เภสัชกรกฤษณ์ระบุว่า ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ของสหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้เอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70%

ผศ.ดร.เภสัชกรกฤษณ์ แนะนำวิธีทดสอบเจลแอลกอฮอล์ด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในครัวเรือน ซึ่งมีสิ่งที่เตรียมคือน้ำส้มสายชู ด่างทับทิม แอลกอฮอล์ที่ต้องการทดสอบ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเหลวหรือรูปแบบเจล พร้อมกับช้อนชา และภาชนะสำหรับใส่สารละลายในการทดสอบ

วิธีทดสอบคือใช้ด่างทับทิม 1 เกล็ด ผสมกับน้ำส้มสายชูครึ่งช้อนชา ให้ออกสีชมพูบานเย็น (ไม่ต้องถึงกับม่วงเข้ม) แล้วนำไปผสมกับแอลกอฮอล์ที่สงสัย โดยจะอยู่ในรูปเจลหรือสารละลายก็ได้ ในอัตราส่วน 1 : 3 ถ้าเป็นแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เช่น เอทิลแอลกอฮอล์ หรือ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ จะเปลี่ยนสีภายใน 5 นาที แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายหรือ เมทิลแอลกอฮอล์ สีจะไม่เปลี่ยนแม้ทิ้งไว้นาน 15 นาที

นอกจากนี้ ผศ.ดร.เภสัชกรกฤษณ์ยังแนะนำวิธีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนพื้นผิว ซึ่งเราอาจใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่อยู่ใกล้ตัวในครัวเรือนมาทดแทน โดยอาจใช้น้ำยาได้ทั้งชนิดที่ใช้สำหรับผ้าขาว ที่มีสารออกฤทธิ์เป็นสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ 6% และชนิดที่ใช้สำหรับผ้าสี ที่มีสารออกฤทธิ์เป็นสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 5% สำหรับน้ำยาสำหรับผ้าขาวผสมน้ำในอัตราส่วน1 : 11 (น้ำยา 1 ส่วน น้ำ 11 ส่วน) และสำหรับน้ำยาสำหรับผ้าสี 1 : 9 (น้ำยา 1 ส่วน น้ำ 9 ส่วน)

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.เภสัชกรกฤษณ์เตือนว่า ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาสำหรับผ้าขาวและน้ำยาสำหรับผ้าสีกับพื้นผิวที่เป็นโลหะ และเมื่อผสมน้ำแล้วแนะนำให้ใช้ทันที ไม่ควรเก็บเอาไว้ เพราะอาจเกิดการสลายตัวได้ และเนื่องจากน้ำยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวมีส่วนประกอบของสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ ผู้ใช้จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง ปกป้องตัวเองด้วยการแต่งตัวให้มิดชิดเหมาะสม โดยสวมแว่นนิรภัย ถุงมือยาง รองเท้าบูทและใส่หน้ากากด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีกระเด็นถูกร่างกายตนเอง

"หากเลือกใช้น้ำยาที่ใช้สำหรับถูพื้นโดยตรง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมักมีสารจำพวก quarternary ammonium compound ที่เมื่อผสมน้ำตามฉลากแล้ว จะเกิดฟองคล้ายสบู่ ซึ่งหากเป็นน้ำยาถูพื้นที่ไม่ผสมสารฆ่าเชื้อ จะไม่สามารถทำลายเชื้อโรคได้ หรือเลือกใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีสารออกฤทธิ์เป็นคลอโรไซลีนอล 4.8% ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 39 (น้ำยา 1 ส่วน น้ำ 39 ส่วน) โดยควรใช้ผ้าชุบน้ำยาเช็ดพื้นผิวทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาทีเพื่อให้น้ำยาออกฤทธิ์ทำลายเชื้อ และไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่ใช้กับผิวกาย เช็ดทำความสะอาดสิ่งของ หรือถูพื้น ควรอ่านคำแนะนำและปฏิบัติตามฉลาก ที่สำคัญให้ดูทะเบียน อย. และวันหมดอายุด้วย" ผศ.ดร.เภสัชกรกฤษณ์ระบุ

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.เภสัชกรกฤษณ์ ยังแนะนำว่าศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) ฝ่ายจุลชีววิทยา(CAPQ-MICRO) มีบริการตรวจประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ ตามข้อกำหนดตามมาตรฐานสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรฐานสารเคมีฆ่าเชื้อบนพื้นผิวและภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิต (EN 1276: 2009 Chemical disinfectants and antiseptics) โดยมีการปรับบางรายละเอียดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทย

ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อดูว่าสูตรแอลกอฮอล์ที่ใช้สามารถทำลายเชื้อได้จริงหรือไม่ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการส่งตรวจได้ที่โทร. 096 812 3281 email: capq-micro@hotmail.com หรือ FB: CAPQ-Micro MUPY

 เตรียมวัสดุอุปกรณ์ น้ำส้มสายชู ด่างทับทิม เจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์ที่ต้องการทดสอบ ภาชนะใส่สารละลาย ช้อนตวง 1 ช้อนชา

ทีมงานมีตัวอย่างทดสอบ 2 ตัวอย่าง คือเจลล้างมือที่ซื้อมาใช้เอง

และเจลล้างมือได้รับแจกจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

เติมน้ำส้มสายชูลงภาชนะ 1 ช้อนชา

หยอดด่างทับทิม 1 เกล็ดลงน้ำส้มสายชู

ให้ได้สายละลายสีชมพูบานเย็น (ไม่ต้องถึงกับเป็นสีม่วงเข้ม)

เติมเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์ลงในสารละลายสีชมพูบานเย็น ในอัตราส่วน 1:3

เติมเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์ลงในสารละลายสีชมพูบานเย็น ในอัตราส่วน 1:3

ผลการทดลองของทีมงานผ่านไป 5 นาที 10 นาที และ 20 นาที ได้สารละลายที่เปลี่ยนสีไปทั้ง 2 ตัวอย่าง  สรุปว่า … เจลล้างมือของทีมงาน มีแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัยคือ เอทิลแอลกอฮอล์  มาลองทดสอบดูว่าแอลกอฮอล์ของท่านเป็นชนิดที่ปลอดภัยหรือไม่?

แต่ช่วงนี้อยู่บ้าน ล้างมือด้วยสบู่ สะอาดกว่าใช้เจลล้างมือและแอลกอฮอล์มากๆ เลย

ทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) ฝ่ายจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กำลังโหลดความคิดเห็น