xs
xsm
sm
md
lg

โปรดอย่าทำร้าย “ค้างคาว” ไม่ใช่สาเหตุโควิด-19

เผยแพร่:


ภาพค้างคาวผลไม้ในสวนสัตว์ที่สหรัฐฯ (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)
สมาคมอนุรักษ์ค้างคาวนานาชาติแถลงคนยังเข้าใจผิดว่าค้างคาวเป็นเหตุโควิด-19 จนเกิดการทำร้ายค้างคาวในธรรมชาติ ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศ พร้อมให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

สมาคมอนุรักษ์ค้างคาวนานาชาติ (Bat Conservation International) แถลงให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค้างคาวและการระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) จนนำไปสู่การทำร้ายสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยแสดงเจตจำนงในการให้ข้อมูลและปฏิบัติการในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อปกป้องทั้งมนุษย์และค้างคาว

จากข้อมูลที่ว่า ค้างคาวเป็นแหล่งไวรัสโคโรนาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไวรัสที่เป็นต้นเหตุการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความกลัวผิดๆ ไปจนถึงกรณีสุดโต่งอย่างการตามล้างบางค้างคาวอย่างรุนแรงและน่าสลด ซึ่งทางสมาคมอนุรักษ์ค้างคาวนานาชาติระบุว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายทั้งต่อค้างคาวและมนุษย์เอง จึงได้แถลงเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งตอบคำถามในสิ่งที่คนสงสัยบ่อยๆ

ข้อมูลที่สมาคมอนุรักษ์ค้างคาวแถลงนั้น ครอบคลุมประเด็นสาเหตุของโควิด-19 คลายข้อสงสัยว่าการกำจัดค้างคาวจะช่วยหยุดการระบาดของโรคได้หรือไม่ ไปจนถึงข้อมูลที่เราทราบเกี่ยวกับค้างคาวและโควิด-19 และสิ่งถูกต้องที่เราต้องทำ

สำหรับสาเหตุการระบาดของโควิด-19นั้น ยังอยู่ระหว่างการค้นหาคำตอบโดยนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งกำลังค้นหาต้นกำเนิดของไวรัสที่เป็นสาเหตุของการระบาดว่าติดสู่ประชากรมนุษย์ได้อย่างไร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ตอนนี้โควิด-19 เป็นโรคระบาดในมนุษย์ ซึ่งมนุษย์มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยการติดจากผู้ป่วยคนอื่น ไม่ใช่ติดต่อจากสัตว์ป่า และเราไม่อาจติดไวรัสโควิด-19 จากค้างคาวได้

การกำจัดค้างคาวทั้งการฆ่าหรือทำร้ายไม่ช่วยหยุดการระบาดโควิด-19 และไม่ช่วยป้องกันมนุษย์จากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว เพราะค้างคาวไม่ได้มีเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่ได้มีส่วนในการกระจายโรคระบาด ดังนั้นการฆ่าค้างคาวจึงไม่ใช่ทางออก

ทั้งนี้ ค้างคาวเป็น “เจ้าบ้าน” หรือแหล่งรังโรคของไวรัสโคโรนาหลายชนิดอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงไวรัสที่เป็นญาติใกล้ชิดกับไวรัส SARS-CoV-2 หรือไวรัสโควิด-19 แต่สัตว์ป่าชนิดอื่นก็เป็นแหล่งรังโรคของไวรัสโคโรนาได้เช่นกัน อีกทั้งค้างคาวที่มีไวรัสโคโรนาอยู่ในตัวก็ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ หากเราปกป้องและไม่ไปรบกวนค้างคาว

“ค้างคาวและสัตว์ป่าอื่นๆ ไม่ได้กระจายเชื้อมาสู่มนุษย์ มีแต่มนุษย์ที่กระจายเชื้อโควิด-19ไปสู่มนุษย์ด้วยกันเอง” สมาคมอนุรักษ์ค้างคาวนานาชาติระบุ

ค้างคาวยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ เช่น การควบคุมแมลงศัตรูพืช ช่วยผสมเกสร และช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพระดับโรค ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และยังมีค้างคาวอีกหลายสปีชีส์ที่ปรับตัวเพื่ออาศัยได้อย่างเป็นมิตรเคียงค้างไปกับมนุษย์ ทั้งในสภาพแวดล้อมที่เป็นเมืองและชนบท อย่างในสวนหลังบ้าน สวนสาธารณะ หรือแม้แต่เกาะอยู่ตามบ้านเรา และทำหน้าที่เป็นเพื่อนบ้านที่ดี

“โปรดช่วยกันหยุดกระจายข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับโควิด-19และค้างคาว สำหรับที่สมาคมอนุรักษ์ค้างคาวนานาชาติ เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เราได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องมากเท่าที่จะเป็นไปได้” สมาคมอนุรักษ์ค้างคาวนานาชาติระบุ

ขณะเดียวกันรายงานจากเอเอฟพีระบุว่า การระบาดของโควิด-19 นี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ไวรัสในสัตว์กระโดดเข้ามาแพร่ระบาดในมนุษย์ ซึ่งหากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงก็จะเกิดการระบาดแบบนี้อีกมากตามมา โดยก่อนหน้านี้ยังมีโรคระบาดอื่นๆ ที่ติดต่อจากสัตว์ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า วัณโรค มาลาเรีย ซึ่งเรียกโรคเหล่านี้ว่าโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน “zoonoses” ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษากรีกที่หมายถึง “สัตว์” และ “การเจ็บป่วย”

อ้างอิงจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ หรือยูเนป (UNEP) ระบุว่า 60% ของโรคระบาดในมนุษย์นั้นมาจากสัตว์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ และการอุบัติของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นมักจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมหรือการรบกวนระบบนิเวศ อย่างเช่นการรุกป่าเพื่อทำเกษตรหรือการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่ป่า หรือการบุกรุกป่าและถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

“การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมมักเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่การใช้ประโยชน์ที่ดินไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ยูเนประบุ

ทางด้าน เกวนาเอล วูร์ช (Gwenael Vourc'h ) จากสถาบันวิจัยสาธารณะฝรั่งเศสอินเร (INRAE) ก็กล่าวโทษว่าการระบาดของโควิด-19 นี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการติดต่อของโรคระหว่างสปีชีส์ โดยเธอระบุว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ กับการทรัพยากรของโลกไม่บันยะบันยัง นำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศ

สิ่งที่เป็นปัญหาหลักนั้นคือการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปรับพื้นที่สำหรับการเกษตรและการปศุสัตว์อย่างเข้มข้น โดยสัตว์เลี้ยงของมนุษย์นั้นมักเป็น “สะพาน” เชื่อมโรคติดต่อจากสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์ อีกทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้น ทำให้เชื้อโรคค่อยๆ สร้างภูมิต้านทานต่อสู่กับยารักษาโรคพื้นฐานที่เรามี รวมถึงการรุกคืบของเมืองและการบุกรุกถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ก็เป็นการรบกวนสมดุลระหว่างสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ต่างๆ อย่างรุนแรง ขณะที่โลกร้อนก็ผลักดันให้เชื้อโรคในสัตว์ต่างๆ ขยายสู่ขอบเขตใหม่ๆ

ภาพค้างคาวผลไม้ในสวนสัตว์ที่สหรัฐฯ ขณะกินอาหาร (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

ภาพค้างคาวผลไม้ในสวนสัตว์ที่สหรัฐฯ นอนห้อยหัวระหว่างการถ่ายทำรายการสดเพื่อถ่ายทอดชีวิตค้างคาว (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

ภาพค้างคาวผลไม้ในสวนสัตว์ที่สหรัฐฯ นอนห้อยหัวระหว่างการถ่ายทำรายการสดเพื่อถ่ายทอดชีวิตค้างคาว (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

ผู้เชี่ยวชาญขณะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงกระดูกค้างคาว  (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

 ค้างคาวผลไม้ในสวนสัตว์ที่สหรัฐฯ ขณะกินอาหาร (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)



รายการโทรทัศน์ถ่ายทอดสดชีวิตค้างคาวในสวนสัตว์ (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)



เจ้าหน้าที่ป้อนอาหารค้างคาวผลไม้ในสวนสัตว์ที่สหรัฐฯ (JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น