xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา ทุจริตในการสอบออนไลน์อย่างมหาศาลท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

เผยแพร่:


Photo by Rishabh Agarwal on Unsplash
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การเกิดวิกฤติมหาโรคระบาดโควิด-19 และการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน มีการประกาศปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วราชอาณาจักร และทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาคบังคับ (Compulsory digital transformation) อย่างกว้างขวาง โดยไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งครูผู้สอนและนักเรียน

ฝั่งครูผู้สอนที่เดิมไม่สันทัดโลกออนไลน์และดิจิทัล ก็หันมาเรียนรู้การใช้ zoom หรือ Microsoft team กันอย่างยกใหญ่

บางคนไปหาอุปกรณ์ชุดใหญ่ไฟกระพริบจัดเต็มกันมาทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นไฟแอลอีดีวงกลมส่องใบหน้าตัดแสงและเงาสะท้อน ทำให้ใบหน้าเรียวยาวและผ่องใส ไปซื้อไมโครโฟนที่เป็นฟู่ฟู ๆ สำหรับตัดเสียงแทรก และติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่

ครูผู้สอนได้เริ่มเรียนรู้ที่จะสอนออนไลน์ เช่น มีการเล่นเกมส์ควิซผ่าน Kahoot และใช้ google slides สำหรับการระดมสมองหรือเป็น flip chart สำหรับทำ group discussion online มีการใช้โปรแกรมสุ่มชื่อนักศึกษาให้มาตอบในห้องเรียนห้องสอน ทำให้การเรียนการสอน interactive มากขึ้น มีการต่อ iPad ให้ทำหน้าที่เหมือนกระดานไวท์บอร์ด โดยใช้โปรแกรม Note และ Lonely screen เพื่อเชื่อมต่อเข้าไปยัง laptop หรือ PC เพื่อให้เขียนกระดานสอนได้ด้วย apple pencil เป็นต้น

ครูอาจารย์หลายคนที่ปรับตัวไม่ได้ก็ขอทางมหาวิทยาลัยให้จัดห้องสอนให้ โดยเข้าไปขอใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยซึ่งห้ามเข้าไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถเรียน/สอน ออนไลน์ได้ เพราะยังติดตั้งอุปกรณ์ โปรแกรมสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ยังไม่ค่อยเป็นกัน แต่สุดท้ายก็ทำได้ และใช้เป็น หลังจากเกิดวิกฤติ ทั้ง ๆ ที่ก่อนที่จะเกิดวิกฤติไม่เคยแม้แต่คิดที่จะพยายามเรียนรู้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ เรียกว่าสถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงจริง ๆ

ฝั่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาก็ต้องปรับตัวมากมายเช่นกัน

ประการแรก นักศึกษามีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน หลายคนยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือ laptop หรืออยู่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือ หอพักนักศึกษาที่ไม่อาจจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ด้วยซ้ำต้องไปหาเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือร้านอินเทอร์เน็ต หรือบางคนต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการเรียน ซึ่งก็มีหน้าจอเล็กอ่านได้ไม่ชัดเจน การมีสถานที่เงียบเป็นสัปปายะต่อการเรียนและการมีอุปกรณ์สำหรับการเรียนทำให้เรียนได้ดีกว่า ได้เปรียบคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าที่เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้น้อยและยากกว่า

ประการที่สอง การใช้ห้องแล็บต่างๆ หรือการเรียนการสอนที่ต้องเห็นของจริง เช่น การเรียนการสอนบางอย่างต้องใช้ software ที่ติดตั้งในห้องปฏิบัติการ หรือการเรียนการสอนทางแพทยศาสตร์ที่ต้องได้เรียนรู้จากคนไข้ตัวจริง ตัวเป็น ๆ ก็ทำไม่ได้ดีนักในการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้การเรียนการสอนไม่เต็มที่ การสอนสิ่งที่เป็นทักษะบางอย่าง เช่น งานฝีมือ ศิลปะ อาจจะต้องจับมือพาทำ หรือทำให้ดู อาจจะทำได้ยากกว่าในการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นต้น

แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากสุดในการเรียนการสอนออนไลน์ในยุคโควิด-19 กับเป็นเรื่องของการสอบออนไลน์ เป็นปัญหาที่หนักใจของครูผู้สอนแทบทุกที่ เพราะพบว่านักเรียน/นิสิต/นักศึกษา พากันโกงสอบออนไลน์อย่างกว้างขวางที่สุด และไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตในการโกงสอบออนไลน์ที่ได้ผลจริงจังเลยแม้สักวิธีการเดียว มาลองพิจารณาดูกันว่าแต่ละวิธีการสอบออนไลน์ มีวิธีการโกงสอบออนไลน์กันอย่างไร

วิธี 1. คือสอบออนไลน์ โดยให้เปิดกล้อง สอบผ่านหน้าจอ ตอบผ่านอินเทอร์เน็ต การบังคับให้เปิดกล้องก็เพื่อพิสูจน์หน้าตาและอัตลักษณ์ของบุคคล โดยให้แสดงบัตรประจำตัวนักศึกษาหรือบัตรประชาชนที่มีรูปถ่าย และเปิดกล้องเพื่อให้ผู้คุมสอบออนไลน์สามารถเห็นได้ว่านักศึกษาได้ทำข้อสอบเหล่านั้นด้วยตนเอง

ทริค 1.1 คืออ้างว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วปิดกล้องหนี อ้างว่าอินเทอร์เน็ตไม่ดี เพื่อจะได้ลอกได้สบาย ๆ หรือให้คนอื่นมาช่วยทำข้อสอบให้

ทริค 1.2 คือการแอบแชทคุยกันสนั่นโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อลอกกันให้สนุกสนาน อาจจะแปะ (paste) คำตอบส่งกันเป็นทอดๆ แล้วใช้กระบวนการพระฤาษีแปลงสารให้ไม่เหมือนกัน เพื่อไม่ให้อาจารย์สงสัยว่าลอกกันมาก ว่าง่าย ๆ คือลอกกัน และส่งโพยกันอุตลุต ส่งเฉลย แอบถามกันอุตลุตทางออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย

ทริค 1.3 การค้นคว้าจากโลกออนไลน์มาแปะลงไปเป็นคำตอบ ในกรณีสอบออนไลน์นั้น หากไม่เป็นข้อสอบ open book จะสามารถลอกจากอินเทอร์เน็ต มาตอบได้โดยไม่ยาก จึงควรทำให้เป็นการสอบแบบ open book ไม่ควรเป็น closed book exam โดยเด็ดขาด

วิธี 2. เป็นการสอบออนไลน์ แต่มีการคุมสอบให้รัดกุมมากขึ้น เช่น มีการเห็นหน้าจอของผู้เข้าสอบ โดยใช้โปรแกรมบางอย่าง เช่น log me in หรือโปรแกรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้คุมหน้าจอได้ หรือให้ถ่ายวีดีโอและบันทึกหน้าจอของผู้เข้าสอบไว้ตลอดเวลา มีข้อถกเถียงว่าการบันทึกวีดีโอ ละเมิด พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังจะบังคับใช้หรือไม่? วิธีนี้ก็มีวิธีจะลอกกันได้ยาก เช่น

ทริค 2.1 เปิดอุปกรณ์อื่นไว้เหลือบตาไปมองเพื่อลอกกันผ่านสื่อสังคม เช่น ผ่านไลน์ อาจจะเปิด iPad หรือ โทรศัพท์มือถือ หรือเปิด laptop อีกเครื่องไว้ขนานกัน แต่ให้กล้องมองไม่เห็น และทำข้อสอบไปบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการบันทึกหน้าจออยู่ แต่จริงๆ แล้วไปใช้อีกเครื่องในการลอกหรือการทุจริตก็สามารถทำได้ไม่ยากอะไร

วิธี 3. ใช้การทดสอบออนไลน์ แบบ speed test โดยมีการจำกัดระยะเวลาในการทำข้อสอบ แต่ละข้อแต่ละส่วน ส่งข้อสอบให้ทำทางออนไลน์ ทีละข้อทีละส่วน ทำตามเวลาที่กำหนดของแต่ละข้อ และไม่มีสิทธิย้อนกลับไปทำ ให้ข้อสอบ เป็นช่วง ๆ เป็นข้อ ๆ หมดเวลาก็ปิด ให้ไปทำข้อถัดไป วิธีการแบบนี้ จะทำให้ลอกกันยากขึ้น เพราะตาลีตาเหลือกไม่มีเวลาถามใคร ต่างคนต่างทำ และแต่ละคนก็อาจจะทำข้อสอบของตัวเองไม่ทันอยู่แล้วด้วย ทำให้คนคุมสอบมั่นใจว่าการคุมสอบออนไลน์ แบบนี้น่าจะลอกไม่ได้ หรือลอกได้ยากมาก แต่แท้จริงแล้วผิดอย่างจัง

ทริค 3.1 ถ้าเป็นแบบโบราณคงจะส่ง pager กันสนุกสนาน แต่สมัยนี้ ถ่ายทอดสด live หรือ streaming กันแบบ real time ให้ลอกกันได้เลย โดยคนให้ลอกเป็นคนเก่งมาก ๆ ทำข้อสอบได้ไว แล้วเปิด live ถ่ายทอดสดให้ทุกคนได้ลอกกันได้อย่างง่ายดายและสะดวก โดยใช้โปรแกรมอื่น ๆ ที่เป็นระบบปิด เช่น เปิด Ipad ตั้งห้องของ team ให้ลอกกันได้อย่างง่ายดาย โดยที่สอบใช้อีกเครื่อง และเปิดวีดีโอให้ดูด้วย แต่อาจจะใช้อีกโปรแกรม เช่น โปรแกรม zoom และตั้ง account ให้ต่างกันไว้ หรือจะใช้โปรแกรมเดียวกันก็ได้ แต่คนละบัญชีผู้ใช้

วิธี 4. ให้ออกข้อสอบด้วยตัวเอง หรือให้ทำ project ด้วยตนเอง แทนการสอบ เช่น สอนทฤษฎี แล้วให้ไปทำโปรเจ็กต์ที่เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีกับการปฏิบัติ วิธีนี้ไม่ได้ต้องมาสอบออนไลน์กันในเวลาเดียวกัน แต่ให้แยกกันไปทำงาน วิธีนี้ดูเหมือนจะแก้ปัญหาการลอกกันได้ แต่ก็ไม่ทั้งหมดอยู่ดี เพราะยังมีทริคอีกหลายอย่าง

ทริค 4.1 แอบปรึกษาหารือกันได้ หรือลอกกันมาก็ได้ อาจารย์จับไม่ได้ หรือให้คนอื่นทำมาให้ หรือช่วยทำ หรืออาจจะจ้างคนอื่นทำมาส่งให้ก็ได้ทั้งนั้น วิธีนี้ก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบอยู่ดี

วิธี 5 ใช้การสอบปากเปล่า (Oral examination) เป็นรายคน เช่น ให้แต่ละคนสอบคนละครึ่งชั่วโมง ถ้านักศึกษาไม่มากทำได้ แต่เมื่อมีการเรียงลำดับกันในการเข้าสอบ คำถามก็จะเริ่มซ้ำกันเอง

ทริค 5.1 แชร์คำถามและทำเฉลยคำตอบสำหรับการสอบปากเปล่าให้ผู้ที่เข้าสอบในลำดับหลังสามารถเตรียมตัวเข้าสอบปากเปล่าได้

วิธี 6 สร้างคลังข้อสอบออนไลน์ แล้วสลับข้อสอบหรือจัดชุดข้อสอบที่แตกต่างกันสำหรับผู้เข้าสอบแต่ละคน ทำให้นักเรียนที่เข้าสอบได้ข้อสอบไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่จะมีข้อสอบจำนวนหนึ่งที่ซ้ำกัน แต่ในความเป็นจริงการล้วงคลังข้อสอบ (test items bank) ทำได้ไม่ยากนัก

ทริค 6.1 คนที่เข้าไปสอบก่อน จำข้อสอบออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วเขียนออกมาแจกจ่าย พร้อมกับสร้างคลังข้อสอบขนานไปกับคลังข้อสอบของครูผู้สอน วิธีการนี้นักเรียนจีนใช้กันมาแล้วอย่างสม่ำเสมอกับการสอบ TOEFL, SAT, ACT, GMAT, GRE และบริษัทรับติวหน้ามหาวิทยาลัยบางที่ ก็ทำเช่นเดียวกัน สำหรับการสอบภาค ก ของ กพ. ดังนั้นก็ยังลอกได้อยู่ดี และโกงได้อยู่ดี อาจจะมีข้อสอบรั่วได้อยู่ดีอีกเช่นกัน

กล่าวโดยสรุป การประเมินผลการเรียนรู้ทางออนไลน์ ในวิกฤติโควิด-19 ถึงอย่างไรหากมีนักศึกษาคิดจะโกงก็ยังโกงได้เสมอ ทุจริตได้เสมอ และไม่มีทางแก้ไขหรือป้องกันการทุจริตในการสอบได้โดยง่ายเสียด้วย

บางมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ถึงกับคิดว่าเป็นการไม่ยุติธรรมกับนักศึกษาในการออกเกรดเป็นตัวอักษร (Letter grade) เช่น A, B, C, D, F และตัดสินใจให้เกรดเป็น S: Satisfactory พอใจ และ U: Unsatisfactory ไม่พอใจ เพื่อลดปัญหาการทุจริตในการสอบออนไลน์ด้วยอีกทาง และแก้ปัญหาความไม่พร้อมของครูและนักศึกษาในการสอบออนไลน์

ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา นิสิต แต่ละที่ แต่ละคณะ แต่ละสถาบัน ก็มีความแตกต่างกันในพฤติกรรมการสอบ และไม่มีวิธีการจัดการสอบออนไลน์วิธีการไหนที่จะป้องกันการทุจริตได้ 100 % ทั้งนี้ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื้อหา หรือ expected learning outcome และลักษณะนิสัยของนักศึกษาแต่ละที่

สิ่งที่สำคัญคือแจ้งนักศึกษาให้ทราบกฎเกณฑ์ และวิธีการประเมิน ให้ทราบล่วงหน้าก่อนการประเมิน/วัดผล/ทดสอบ เพื่อให้นักศึกษาได้มีเวลาเตรียมตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น