xs
xsm
sm
md
lg

Regulatory Guillotine กลไกปลดปล่อยประชาชนออกจากพันธนาการของกฎหมายล้าหลัง-เอื้อโกง!

เผยแพร่:



เช้านี้ไปเดินตลาดสี่แยกทศกัณฐ์ ได้ยินเจ้าหน้าที่ตลาดใช้เครื่องขยายเสียงคะเนว่าขนาดพอสมควรชี้แจงให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ มาถึงจุดคัดกรองตรวจอุณหภูมิ เห็นเจ้าหน้าที่ตลาดอีกคนใช้โทรโข่งประเภทใส่ถ่านไฟฉายไม่กี่ก้อนคอยชี้แจงเช่นกัน

พลันนึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมา...

เชื่อมั้ยครับ ท่านที่ใช้เครื่องขยายเสียงโดยใช้กำลังไฟฟ้า ไม่ว่าเสียบปลั๊กไฟบ้าน แบตเตอรี่ หรือแม้แต่ถ่านไฟฉายไม่กี่ก้อน เพื่อบอกกล่าว ชี้แจง ชี้แนะ แนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสาธารณะทั่วไป จะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนนะครับ เจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาต ในใบอนุญาตนั้นจะกำหนดวันเวลาที่ท่านจะใช้เครื่องขยายเสียงได้ รวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ท่านจะต้องปฏิบัติตาม ใบอนุญาตนี้ครอบคลุมถึงผู้ควบคุมเครื่องขยายเสียงด้วย

ถ้าไม่กระทำตาม มีความผิดทางอาญา - ปรับ 200 บาท

ที่สำคัญ แม้จะขออนุญาตและมีใบอนุญาตแล้วท่านจะต้องพูดเป็นภาษาไทยเท่านั้น พูดภาษาต่างประเทศไม่ได้

ถ้าไม่กระทำตาม มีความผิดทางอาญาเช่นกัน น่าตื่นตาตื่นใจตรงที่โทษแรงกว่าข้างต้นอีก - คือมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับ 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตในรัฐที่ใช้ระบบขออนุญาต

และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของโทษทางอาญาที่รัฐกำหนดขึ้น

ประเทศไทยมีกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติรวมแล้วเกือบ 1,400 ฉบับ เมื่อรวมกฎหมายลำดับรอง ๆ ลงไปที่รวมเรียกกว่าอนุบัญญัติก็ประมาณ 100,000 ฉบับ ที่ใช้คำว่าประมาณก็เพราะไม่รู้แน่นอนชัดเจน เพราะเมื่อออกมาแล้วไม่เคยยกเลิก แม้แทบจะไม่ได้ใช้ หรือไม่ได้ใช้ แต่ยังมีฐานะเป็นกฎหมายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีได้

กฎหมายจำนวนไม่น้อยพ้นยุค ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการทุกระดับ และขัดหลักการสิทธิเสรีภาพ กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ยังเป็นปัจจัยเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น ล่าช้า เพราะในหลายกรณีจะกระทำอะไรสักอย่างต้องขออนุญาตจากหลายหน่วยงานทำให้ต้นทุนการประกอบสัมมาอาชีวะทุกระดับสูง ซึ่งที่สุดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นก็มาลงที่ประชาขน

กฎหมายในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระในการบังคับใช้ต่อภาครัฐเองและสร้างภาระต่อประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการในการปฏิบัติตาม

การทบทวนและปรับปรุงโดยกลไกและกระบวนการพิเศษจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วน และจะปล่อยให้อยู่ในการตัดสินใจของภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้

นานาชาติถือเป็นเข็มมุ่งใหญ่ที่รณรงค์ให้ทุกประเทศดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

โดยถือเป็นปัจจัยของความน่าลงทุนของแต่ละประเทศ

ธนาคารโลกจัดอันดับดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of doing business ออกมาทุกปีครับ

ประเทศไทยก็รู้ดี โดยเฉพาะกูรูทางกฎหมายของประเทศ มีความพยายามแก้ไขมานาน ย้อนหลังไปอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2535 ที่ได้มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย’ ขึ้นมาในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือครั้งล่าสุดรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย’ ขึ้นมาแยกต่างหากจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขอสรุปว่าไม่สำเร็จในระดับที่มีนัยสำคัญน่าพึงพอใจ

เพราะแม้จะมีกฎหมายเพื่อการนี้ออกมาเป็นแม่บทบ้าง แต่เมื่อให้หน่วยราชการดูกฎหมายต่าง ๆ ที่ตัวรับผิดชอบอยู่ แล้วถามว่ายังจำเป็นอยู่ไหม ส่วนใหญ่จะตอบว่ายังจำเป็น ยังมีประโยชน์ แม้แทบจะไม่ได้ใช้เลยก็ตาม

พูดง่าย ๆ ว่าหน่วยราชการส่วนใหญ่ยังหวงอำนาจอยู่ แม้จะไม่เคยใช้อำนาจนั้น หรือในบางกรณีอาจลืมไปแล้วว่ามีอำนาจนั้นอยู่

การให้หน่วยราชการทบทวนเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจึงยากที่จะสำเร็จ

Regulatory Guillotine คือนวัตกรรมที่นักกฎหมายนานาชาติคิดค้นขึ้นมา

หมายความถึงกลไกและกระบวนการพิจารณากฎหมายจำนวนมากในครั้งเดียว เพื่อยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย หรือปรับแก้ให้สะดวกต่อการปฏิบัติตาม โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กฎหมายใดที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชนให้ยกเลิกพร้อมกันทันที ส่วนกฎหมายที่จำเป็นแต่ไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปจะถูกปรับทอนความยุ่งยากซับซ้อนลง

นวัตกรรมนี้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วในสวีเดน เกาหลีใต้ เม็กซิโก และเวียดนาม

รัฐบาลชุดที่แล้วตั้งหลักเรื่อง Regulatory Guillotine อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2561 ผ่านทางคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (ชุดเก่า) และเริ่มงานบางด้านจนมีสัมฤทธิผลเห็นชัดทำให้อันดับ Ease of doing busses ของประเทศไทยดีขึ้น 6 อันดับในปี 2562 และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายนำมาบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายด้วย แต่งานในภาพรวมสะดุดหยุดลงตั้งแต่ปลายปี 2561 ด้วยเหตุหลายประการ โดนเฉพาะการยุบคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2550 และโอนย้ายเจ้าหน้าที่ไปคนละทิศคนละทาง ขณะที่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ยังไม่สมบูรณ์ทั้งระดับนโยบายและระดับสำนักงาน

จนบัดนี้ก็ยังไม่คืบหน้า แต่ก็พอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง

ขอเรียนเสนอท่านนายกรัฐมนตรีว่าในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (คณะกรรมการ ป.ย.ป.) ชุดใหม่นัดแรกที่แว่วว่าจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 นี้ให้เร่งสานต่อกระบวนการ Regulatory Guillotine เต็มรูปแบบขึ้นมาทันที

1. แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน’ ชุดใหม่ทันที

2. ให้ถือว่า Regulatory Guillotine คือหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของคณะกรรมการตามข้อ 1 ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

3. สั่งการให้ทุกหน่วยราชการให้ร่วมมือกับคณะกรรมการตามข้อ 1 ปฏิบัติตามกระบวนการ Regulatory Guillotine อย่างเคร่งครัด

4. หนึ่งในข้อปฏิบัติตามข้อ 3 คือการจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎหมายในระดับกระทรวงขึ้นทุกกระทรวง โดยต้องมีองค์ประกอบจากภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วยอย่างมีรันสำคัญตามที่คณะกรรมการตามข้อ 1 กำหนด

5. ชี้แจงต่อประชาชนให้รับรู้ถึงกระบวนการ Regulatory Guillotine โดยขอให้ประชาชนตอบแบบสอบถามถึงกฎหมายที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตแบะการประกอบอาชีพ รวมถึงความเห็นในการยกเลิกหรือปรับปรุง

โดยก่อนจะถึงวันประชุม ก็เร่งสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.คนใหม่ดำเนินการเตรียมงามในกรณีนี้ให้พร้อม

เร่งนับ 1 กลไกปลดปล่อยประชาชนออกจากพันธนาการของกฎหมายล้าหลังและเอื้อโกงเถิด !

นี่คือ 1 ใน 5 ประเด็นการปฏิรูปใหญ่ที่ต้องทำและทำทันที

คำนูณ สิทธิสมาน

สมาชิกวุฒิสภา
9 พฤษภาคม 2563


**จากเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn
กำลังโหลดความคิดเห็น