xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงตู่” มิติใหม่ นิวนอร์มัลผ่านหรือไม่ผ่าน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เมืองไทย 360 องศา

หลังจากที่ประเทศไทยต้องต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดอุบัติใหม่มานาน 3-4 เดือน ก็ต้องถือว่าเราทำได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วในตะวันตก เมื่อมีการเปรียบเทียบมาตรฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่า จากผลงานดังกล่าวก็ต้องยกเครดิตให้กับคนไทย ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจนทำให้โรคระบาดดังกล่าวคลี่คลายลงไปมาก จนสามารถผ่อนคลายมาตรการอันเข้มงวดมาตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้เครดิตกับรัฐบาลโดยเฉพาะ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สามารถแสดงภาวะผู้นำในการออกมาตรการรับมือและควบคุมได้ดีไม่น้อย แม้ว่ามาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นไปตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขก็ตาม

แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นถึง “วิถีปกติใหม่” หรือ “นิวนอร์มัล” ของเขานั่นเอง นั่นคือ การ “รับฟัง” ในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ หรือไม่เชี่ยวชาญ ซึ่งต่างกับบรรดาผู้นำของบางประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตหนักหน่วง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ยังไม่อาจสรุปฟันธงกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ว่า “เรารอด” ก็ตาม เนื่องจากต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดและเข้มงวดต่อไป เพราะตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนมาสร้างภูมิคุ้มกัน เราก็จะต้องอยู่ในภาวะระแวดระวังกันแบบนี้ไปอีกนาน อาจเป็นปี หรืออีกหลายปี

แต่นาทีนี้โดยรวมถือว่าประเทศไทยและคนไทยสามารถทำผลงานได้ดีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดลงไปในวงจำกัด จนล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ ผ่านมา แม้ว่าจะตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่อีก 3 ราย แต่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่หากนับผู้ป่วยในประเทศถือว่า “เป็นศูนย์” ติดต่อกันเป็นวันที่สอง รวมไปถึงไม่มีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องกันมาหลายวันแล้ว

สำหรับกรณีของประเทศไทยถือว่าน่าสนใจตรงที่แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการระบาด และมีผู้ป่วยจำนวนกว่าสามพันคน และเมื่อพิจารณาจากจำนวนที่สามารถรักษาอาการจนหาย ก็มีจำนวนเกือบสามพันคน และเวลานี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาลเพียงแค่ร้อยคนเศษเท่านั้น ซึ่งมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขน่าจะวัดกันตรงนี้

นั่นคือ มีการควบคุมการระบาดได้ดีและรักษาอาการจนหาย รวมไปถึงมียอดผู้เสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดผู้ป่วยและจำนวนประชากร จนได้รับคำชมจากทั่วโลก

ขณะเดียวกัน เมื่อต้องโฟกัสไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือว่าน่าจับตาไม่น้อย กับสิ่งที่เรียกว่า “นิวนอร์มัล” หรือวิถีปกติแนวใหม่ ซึ่งหลายคนสังเกตเห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก นั่นคือ ฟังมากขึ้น พูดน้อยลง โดยเฉพาะการพูดจาตอบโต้ ไม่ว่าจะเป็นกับผู้สื่อข่าว หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ในทางตรงกันข้ามเขาจะเปิดรับฟังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขอรับฟังความเห็นทั้งการเดินสายพบปะกับผู้คนแทบจะทุกสาขาอาชีพ ซึ่งถือว่าผิดวิสัยไปจากก่อนหน้านี้

แน่นอนว่า หลายคนมองเห็นว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงไป แต่ขณะเดียวกัน กลับได้ผลในทางบวก ทั้งในเรื่องของการควบคุมโรคระบาดร้ายแรงอย่าง “โควิด-19” ที่ประเทศไทยทำได้ดี รวมไปถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมา หากไม่มองแบบ “อคติ” จนเกินไป ก็ต้องให้เครดิตกับ “ลุงตู่” บ้าง แม้ว่าทุกเรื่องที่ผ่านมาในช่วงแรกๆ อาจมีความยุ่งเหยิง วุ่นวายสับสนไปบ้าง แต่เมื่อผ่านไปสักพักหนึ่งก็สามารถแก้ไขปัญหาไปทีละเปลาะ เช่น มาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ล่าสุดก็สามารถเยียวยาประชาชนผู้เดือดร้อนไปได้หลายสิบล้านคนแล้ว

และผลจากการสำรวจในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนกลับมาให้ความเชื่อมั่นกับ “ลุงตู่” มากขึ้นกว่าเดิม ตรงข้ามจากเดิมก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด หรือในการระบาดช่วงแรกๆ ก็ถือว่ากำลัง “ขาลง”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในวันนี้อาจถือว่า “มาถูกทาง” หรือเป็นเพราะ “โควิดช่วยชีวิต” เอาไว้ได้อย่างหวุดหวิดก็อาจพูดแบบนั้นก็ได้ แต่หนทางข้างหน้าถือว่าสาหัสไม่แพ้กัน นั่นคือ หลังจากนี้ จะเข้าสู่การฟื้นฟูในทุกด้าน และที่สำคัญ ยังเป็นช่วงที่ “การเมือง” กำลังกลับมา อย่างน้อยก็จะมีการเปิดสภาสมัยสามัญ ในวันที่ 22 เดือนนี้ ก็จะได้เห็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ที่เชื่อว่าจะไม่ยอมให้ “ลุงตู่” โกยแต้มฝ่ายเดียวได้แน่ ต้องมีการขัดแข้งขัดขา ทุกทางอยู่แล้ว

แต่เอาเป็นว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจนถูกมองออกมาเป็น “นิวนอร์มัล” แล้ว ซึ่งถือว่าได้ผลดี ก็น่าจะเดินหน้าต่อไปโดยเฉพาะการเตรียมการรับมือกับปัญหา “สุดหิน” ที่รออยู่ข้างหน้า คือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่ยังเป็นเรื่องหลัก แต่จะพ่วงมาด้วยการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องในเรื่อง “การปฏิรูป” ที่นับวันจะดังขึ้นมาเรื่อยๆ

แต่หากยังฟังมาก ทำมาก พูดน้อยแบบนี้ก็น่าจะผ่าน แม้ว่าจะเต็มไปด้วยขวากหนาม และการก่อกวนทั้งจากภายในและภายนอกหนักหน่วงขึ้นทุกวันก็ตาม !!

กำลังโหลดความคิดเห็น