xs
xsm
sm
md
lg

“หมอมนูญ” เผยผลการศึกษา ระบุ การเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ ว่า การเปิดหน้าต่างและประตูให้อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ดีมาก โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาเมื่อ 25 ปีก่อน

วันนี้ (29 พ.ค.) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” โดยได้ออกมาโพสต์ข้อความแนะนำการเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ดีมาก โดยได้ยกการศึกษาโอกาสติดเชื้อวัณโรค ในหอผู้ป่วยวัณโรคโรงพยาบาลโรคทรวงอกที่มีการนำหนูตะเภา มาช่วยในการศึกษา โดย นพ.มนูญ ได้เผยว่า

“เมื่อ 25 ปีก่อน นพ.มนัส วงศ์เสงี่ยม นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ได้ทำการศึกษาโอกาสติดเชื้อวัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อกันง่ายทางการหายใจในหอผู้ป่วยวัณโรคโรงพยาบาลโรคทรวงอก ที่ตั้งอยู่บนชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารสมัยเก่าที่ออกแบบให้มีอากาศถ่ายเทได้ดีตามธรรมชาติ โดยเปิดหน้าต่างและประตูทั้ง 2 ข้างตลอดวัน ไม่มีตึกสูงบัง และมีพัดลมบนเพดานโดยเอาหนูตะเภาทั้งหมด 16 ตัว เลี้ยงไว้ในหอผู้ป่วยวัณโรค หอละ 8 ตัว แต่ละหอผู้ป่วยมีเตียง 8 เตียง เราปล่อยให้เตียงคนไข้ กลางหอว่าง 1 เตียง และตั้งกรงหนูตะเภา 2 กรง กรงละ 4 ตัวบนเตียงนี้ (ดูรูป) ที่เราเลือกหนูตะเภาเพราะหนูตะเภาติดเชื้อวัณโรคของคนได้ง่ายมาก

เราทำการทดสอบการติดเชื้อวัณโรคโดยวิธีฉีดทูเบอร์คูลินเข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภาทุกตัวก่อนเลี้ยงไว้ในหอผู้ป่วย และทำทูเบอร์คูลินทุกเดือนหลังจากเลี้ยงในหอผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน 7 เดือน เมื่อครบ 7 เดือนครึ่งเราสละชีวิตหนูตะเภา และตรวจพยาธิสภาพของปอด และต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดของหนูทุกตัวเพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อวัณโรค ในระยะเวลา 7 เดือนครึ่งมีคนไข้ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อตรวจเพาะเชื้อพบเชื้อวัณโรคในเสมหะทั้งหมด 75 คน (บางคนเป็นวัณโรคดื้อยา) อยู่ในหอผู้ป่วยทั้ง 2 หอ

ผลปรากฏว่า ไม่มีหนูตะเภาตัวใดเปลี่ยนทูเบอร์คูลินจากลบเป็นบวกในการทำทูเบอร์คูลินติดต่อกัน 7 เดือน แสดงว่าไม่ได้รับเชื้อวัณโรค และผลชันสูตรศพหนูตะเภาทั้ง 16 ตัว ตรวจไม่พบการติดเชื้อวัณโรค แสดงว่า โอกาสที่จะติดเชื้อวัณโรคในหอผู้ป่วยที่มีอากาศถ่ายเทดีโดยธรรมชาติด้วยการเปิดหน้าต่างและประตูนั้นมีน้อยมากๆ

ความรู้นี้สามารถนำมาใช้ลดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ได้
สถานที่ที่ติดตั้งระบบปรับอากาศ เป็นระบบอากาศปิด มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ รถไฟฟ้าบีทีเอสมีแผนจะเปิดช่องระบายอากาศเหนือหน้าต่างขณะรถวิ่งมีผู้โดยสารเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ (ดูรูป) ซึ่งผมเห็นด้วย ห้องเรียน ห้องอาหารของโรงเรียน สถานที่ทำงาน ออฟฟิศ รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารที่ติดตั้งระบบปรับอากาศ ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเป็นระบบถ่ายเทอากาศทางธรรมชาติด้วยการเปิดหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19”


กำลังโหลดความคิดเห็น