xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดสธ.ยันสอบ ผอ.รพ.ขอนแก่นตามหน้าที่ พร้อมแจงเหตุตั้ง "หมอเกรียงศักดิ์" รักษาการ เตรียมตั้ง ปธ.สอบวินัยใหม่

เผยแพร่:



ปลัดสธ.เผยสอบสวน ผอ.รพ.ขอนแก่น ตามหน้าที่ หากไม่ทำอาจเข้าข่ายผิด ม.157 แจงตั้ง "หมอเกรียงศักดิ์" รักษาการ เหตุเป็นคนขอนแก่น ตั้งรองผอ.รพ.ไม่ได้ เพราะ "หมอชาญชัย" ระบุมีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องรับเงินบริจาคทั้งหมด อยู่ระหว่างตั้งปธ.สอบสวนวินัยฯ ใหม่ หลัง "หมอสุเทพ" ถอนตัว รองปลัดสธ.แจงมีพฤติกรรมรับเงินชัดเจน ฐานเรียกรับผลประโยชน์ ไม่ใช่เงินบริจาค

วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวถึงกรณีการดำเนินคดีทางวินัย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น กรณีเรียกรับเงินบริจาคบริษัทยา 5% และการย้ายออกจากพื้นที่ โดยมีการตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี มารักษาการ ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 6 ประธานกรรมการสอบสวนวินัยได้ลาออก ว่า เรื่องนี้ได้รับการร้องเรียนมาว่า ผอ.รพ.ขอนแก่น มีพฤติกรรมรับเงินบริจาคยา ตนก็ต้องดำเนินการตามระเบียบราชการและข้อกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่ามีมูล ก็จะต้องดำเนินการ หากไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเป็นปลัดสธ.มาได้มีการตรวจสอบผู้อำนวยการและผู้อำนวยการระดับสูงรวมแล้ว 12 คน โดย 6 คนมีโทษไล่ออกไปแล้ว อีก 6 คนอยู่ระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีทั้งกรณีคล้ายกับ รพ.ขอนแก่นและกรณีอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเหมาะสมในการตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ เป็นรักษาการผอ.รพ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการย้ายข้ามเขต และก่อนหน้าเคยมีการแต่งตั้งโยกย้ายให้มาเป็น ผอ.รพ.ขอนแก่น แต่ถูกคัดค้านจนต้องย้ายกลับ นพ.สุขุม กล่าวว่า นพ.เกรียงศักดิ์ พื้นเพเป็นคน จ.ขอนแก่น และเคยเป็น ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่นมาก่อน ที่สำคัญไม่สามารถตั้งรอง ผอ.รพ.ขอนแก่นขึ้นเป็นรักษาการแทนตามปกติที่เคยทำได้ เพราะ นพ.ชาญชัย พูดชัดเจนว่า รองผอ.รพ.และคณะกรรมการบริหาร รพ. ก็มีส่วนรู้เห็นในการรับเงินบริจาค จึงต้องตั้งคนอื่นรักษาการแทน ส่วนจะพิจารณาตั้งรักษาการ ผอ.รพ. เป็นคนอื่นแทนหรือไม่ ต้องดูว่า เมื่อนพ.เกรียงศักดิ์ไปปฏิบัติหน้าที่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งครั้งก่อนก็เห็นว่าได้รับการต้อนรับ อย่างไรก็ตาม เป็นการตั้งรักษาการเท่านั้น หากมีการสอบสวนแล้วพบว่า ผู้ถูกร้องไม่มีความผิดก็ยังตั้งกลับได้

ถามต่อว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเป็นคนจากกลุ่มก๊วนเดียวกัน นพ.สุขุมกล่าวว่า เรื่องนี้สามาถคัดค้านได้ ถ้าคิดว่าคนที่ตั้งไม่ให้ความเป็นธรรมเป็นกับเรา คงไม่ใช่กลุ่มก๊วนเดียวกัน อาจมีความไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ ก็สามารถร้องเรียนได้ ก็จะเปลี่ยนให้ แต่ยังไม่มีการร้องมาแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่าจะเป็นการจุดชนวนความแตกแยกใน สธ.ขึ้นมาอีกครั้ง นพ.สุขุมกล่าวว่า ก็ช่วยไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำ ตนก็จะผิดมาตรา 157


นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ.กล่าวว่า เงินจากบริษัทยาหรือขายเวชภัณฑ์ทุกอย่าง รพ.ไม่สามารถเรียกรับได้ เพราะฉะนั้น ขบวนการที่ ผอ.รพ.ขอนแก่น ถูกร้องเรียนและแนบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ยังมีการเรียกรับจากบริษัทต่างๆ มาตลอด โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าเงินที่บริษัทยาบริจาคเข้ากองทุน รพ.นั้น เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการจัดซื้อจัดจ้างยาจากบริษัทยา อีกทั้งยังพบว่ามีพฤติกรรมข่มขู่พยานด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลาย รพ.ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ แต่ต้องรอร้องเรียนเข้ามา ส่วนกรณี นพ.สุเทพ ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัย เนื่องจากงานในหน้าที่มีมาก ทั้งการเรียน วปอ. การวางแผนรับคนไทยกลับจากต่างประเทศในสถานการณ์โรคโควิด และการบริหารเรื่องการเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผู้ที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ประธานแทน

นายสุจินต์ สิริอภัย นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานเสริมสร้างรวินัยและระบบคุณธรรม สธ. ในฐานะคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กล่าวว่า เมื่อมีการร้องเรียนด้วยบัตรสนเท่ห์ ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ที่จะลงชื่อหรือไม่ แต่ผู้ถูกร้องเรียนต้องมีชื่อตำแหน่งชัดเจน และมีหลักฐานที่นำไปสู่การสอบสวนได้ ซึ่งปลัด สธ.ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็มีหน้าที่สอบข้อเท็จจริง หากไม่ทำก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งอาจสอบด้วยตัวเอง หรือมอบให้มีการสอบสวนเบื้องต้นว่า กระทำผิดวินัยหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการที่ไปสืบข้อเท็จจริงก็จะต้องรายงานกลับมา หากไม่มีมูลก็ยุติ หากมีมูลผิดวินัยไม่ร้ายแรง ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่กรณีเห็นว่ามีมูลควรกล่าวหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรง ปลัดสธ. จะต้องตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน

นายสุจินต์กล่าวว่า จากการสืบสวนเรื่องนี้มี 12 ประเด็น โดยสรุปมาว่า 7 ประเด็นไม่มีมูลความผิดเลย สั่งยุติเรื่อง อีก 3 ประเด็นตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ส่วนกรณีรับเงินจากบริษัทยา ถือว่าเป็นนิติสัมพันธ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตามกฎหมายไม่ใช่แค่เรื่องยา แต่รวมถึงทุกอย่างที่มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างว่าห้ามเรียกหรือรับเงินเหล่านี้ ไม่ว่าส่วนรวมหรือส่วนตัวก็ผิดทั้งนั้น ซึ่งเมื่อมีการชี้ว่ามีมูลก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งการสอบสวนผลก็ออกมา 3 กรณี คือ ไม่ผิด หรือผิดวินัยไม่ร้ายแรง หรือผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาอาจเห็นว่าประธานคณะกรรมการฯ ไม่เป็นธรรมก็สามารถร้องทุกข์ได้ อย่างไรก็ตาม ผลการสอบสวน ปลัดสธ.ก็สามารถพิจารณาเห็นด้วยหรือไม่ แล้วก็ต้องเข้า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจเห็นด้วยกับคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ และเมื่อหากถูกลงโทษก็ไปสู้ได้อีกว่าการลงโทษไม่เหมาะสม หรือฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้อีก

น.ส.สุชาฎา วรินทร์เวช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า นิยามของ "การบริจาค" คือ จะต้องให้ด้วยความสมัคร บริษัทยาจะให้เงินร้อยล้านพันล้านบาททำได้ไม่มีใครว่า ถ้าไม่ได้ถูกบังคับ ถ้าถูกบังคับบริจาคโดยไม่สมัครใจ จะเป็นการสร้างเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการบริจาคได้ ต้องถูกเรียกว่าเป็นการเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่ง ป.ป.ช.เสนอไปยัง ครม.ว่า การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยา เข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล การให้คู่สัญญาบริจาคเงิน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหรือมูลนิธิใดก็ตาม ถือว่ากระทำผิดต่อหลักธรรมาภิบาลในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง สธ.มีการออกหนังสือเวียนถึงเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้งนี้ เรื่องเงินบริจาคที่เข้ากองทุนพัฒนา รพ.ขอนแก่น เป็นการสร้างเงื่อนไขจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ โดยยอดบริจาคมีความสัมพันธ์กับยอดในการจัดซื้อจัดจ้าง และนำมาสู่การตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง กระทั่งมาถึงการสอบวินัยฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น