xs
xsm
sm
md
lg

3 ปัจจัยสิ่งแวดล้อมอวกาศกระทบกิจกรรมมนุษย์

เผยแพร่:



นักวิจัยจิสด้าให้ข้อมูล 3 ปัจจัยสิ่งแวดล้อมอวกาศกระทบกิจกรรมมนุษย์ ขยะอวกาศ สภาพอวกาศ และวัตถึอวกาศที่โคจรในระบบสุริยะ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า โพสลงเฟสบุคสำนักงานฯ ระบุ สิ่งแวดล้อมในอวกาศสามารถสร้างผลกระทบให้กับกิจกรรมอวกาศ และความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ปัจจัยหลัก ที่จะสร้างผลกระทบต่อเราได้แก่

1.ขยะอวกาศ (Space Debris) คือ เศษหินที่โคจรอยู่ในอวกาศ หรือ ชิ้นส่วนจรวดนำส่ง หรือ ดาวเทียมที่เสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ขยะอวกาศเหล่านี้มีความเร็วในการโคจรที่สูงมาก ส่งผลให้ขยะอวกาศเปรียบเสมือนกระสุนที่โคจรรอบโลกซึ่งเป็นภัยต่อนักบินอวกาศ ยานอวกาศ และดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการชนกับดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจทำให้เสียหายได้ หรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไป นอกเหนือจากนี้ดาวเทียมดวงนี้จะกลายเป็นขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้นและส่งผลเป็นลูกโซ่ เหมือนการสร้างขยะอวกาศแบบทวีคูณ

"ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า “Kessler syndrome” หากเราไม่ดำเนินการลดจำนวนขยะอวกาศ จะส่งผลให้เราไม่สามารถใช้งานด้านอวกาศได้อีกต่อไป เนื่องดาวเทียมหรือยานอวกาศมีความเสี่ยงในการชนกับขยะอวกาศตลอดเวลานั่นเอง" นักวิจัยจิสด้าระบุ

2.สภาพอวกาศ (Space Weather) เกิดจากกิจกรรมจากดวงอาทิตย์เป็นสาเหตุหลัก ตัวอย่างเช่น กรณีเกิดลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่แผ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระดับปกติก็จะไม่เกิดผลกระทบมากนัก แต่ในกรณีเกิดลมพายุสุริยะที่รุนแรงมากจะส่งผลกระทบต่อโลกและกิจกรรมต่างๆของเราอย่างคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น การส่งผลให้ดาวเทียมเสียหายหรือไม่สามารถติดต่อดาวเทียมในชั่วขณะ ระบบการสื่อการบินไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว ระบบนำร่อง หรือ GPS ระบุตำแหน่งคลาดเคลื่อน ระบบโรงงานไฟฟ้าเสียหาย (blackout) รวมถึงพายุสุริยะที่รุนแรงนี้ส่งผลต่อสุขภาพของนักบินและผู้โดยสารสายการบิน

3.อุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยที่โคจรในระบบสุริยะ (Near-Earth Objects: NEOs) วงโคจรอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์มีโอกาสที่จะเข้าใกล้โลก หรือชนโลกได้ ด้วยขนาดของอุกกาบาตมีขนาดใหญ่ “สามารถสร้างความหายนะอย่างรุนแรงหากชนโลก” เหมือนหนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อหลายล้านปีก่อน และเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่แอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณ 50,000 ปีที่ผ่านมา เกิดจากอุกกาบาตขนาดประมาณ 45 เมตร เคลื่อนที่เข้าชั้นบรรยากาศและพุ่งตกใส่โลกด้วยความเร็วประมาณ 12 กิโลเมตรต่อวินาที สร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงให้กับโลกของเรา ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็นหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณ 1.2 กิโลเมตร และลึกลงไปประมาณ 100 เมตร เลยทีเดียว

“ขยะอวกาศ ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกวันนี้ หน่วยงานอวกาศระดับนานาชาติจึงเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อลดปัญหาขยะอวกาศ พร้อมพัฒนาความแม่นยำด้านการพยากรณ์กิจกรรมที่เกิดจากดวงอาทิตย์ให้มีความแม่นยำและรวดเร็วที่สุด รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีติดตามและพยากรณ์วงโคจรล่วงหน้า เทคนิคการบรรเทาและป้องกันการชนของอุกกาบาตกับโลก"

นักวิจัยจิสด้าระบุอีกว่า เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องพัฒนาอีกมาก นานาชาติหลายประเทศให้ความสำคัญและสร้างกลุ่มวิจัยเพื่อศึกษาวิจัยให้ได้องค์ความรู้ใหม่ และสามารถต่อยอดเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมอวกาศ เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านความปลอดภัยและความมั่นคง รวมไปถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต สำหรับในประเทศไทยถือว่าเรายังขาดแคลนบุคลากรและเทคโนโลยีอวกาศอย่างมาก ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งด้านการดำเนินการจัดตั้งกิจการอวกาศแห่งชาติ การสร้างกำหนดแนวทาง Frontier research ในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของนักวิจัย โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัย และการส่งเสริมผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ

ภาพ >>> pinterest.com/dallymall , edupic.net และ Digitaltrends.com

ข้อมูล >> ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน , ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู นักวิจัย จากจิสด้า และ https://www.meteorite.com/meteor-crater/
กำลังโหลดความคิดเห็น