xs
xsm
sm
md
lg

WWF-ประเทศไทย ชี้เป้า “ป่าฝนช่วยลดโลกร้อน” แต่พื้นที่ป่าเหลือแค่ร้อยละ 6

เผยแพร่:






ป่าฝน หรือป่าดิบชื้น เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนแหล่งใหญ่ รวมไปถึงเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของทางชีวภาพสูง
บนโลกมีพื้นที่ป่าฝน หรือป่าดินชื้นอยู่เพียง 6% เท่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า 6% นี้ กลับเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นบ้านให้กับสัตว์หลากหลายชนิดกว่าครึ่งที่อาศัยบนโลกใบนี้ รวมทั้งชุมชนพื้นเมืองมากมายที่มีชีวิต และวัฒนธรรมผูกโยงกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

ป่าฝน หรือป่าดิบชื้น (Tropical Rain Forest) จัดอยู่ในประเภทป่าไม่ผลัดใบ ป่าประเภทนี้ต้องการดินและสภาพอากาศที่มีความชุ่มชื้น และต้องมีปริมาณน้ำฝนเกินกว่า 1,600 มล./ปี ดังนั้นจึงพบในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี ความโดดเด่นของสังคมป่าชนิดนี้ คือ การแบ่งโครงสร้างของเรือนยอดที่ชัดเจน

ในประเทศไทย ยังพบป่าดิบชื้นทางภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่นครศรีธรรมราช ลงไป และยังเจอที่ภาคตะวันออก อย่าง จ.จันทบุรีตอนล่างจนถึง จ.ตราด โดยทั่วไปป่าดิบชื้นเป็นป่าที่มีเรือนยอดสูง บริเวณด้านล่างจะรกทึบ โดยมีหวายและเถาวัลย์เป็นตัวเชื่อมเรือนยอดจากชั้นบนสุดลงมาสู่พื้นดิน

บทบาทของสังคมป่าดิบชื้น คือ เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนแหล่งใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของทางชีวภาพสูง โดยมีดัชนี้ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชนิดนี้ คือ การเป็นแหล่งอาศัยของนกเงือกซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยการทำรังในโพรงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งจากการที่นกเงือกลดลงไปจากในพื้นที่จึงเป็นสัญญาณแรกที่แสดงถึงการเสื่อมโทรมของสังคมป่าชนิดนี้

ทุกๆ นาที โดยเฉลี่ย มีพื้นที่ป่าไม้ขนาดสี่สิบสนามฟุตบอลได้ถูกโค่นทำลายไป เปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรผลิตอาหาร อุตสาหกรรมปศุสัตว์ และพืชพลังงาน

ความร้อนและความแห้งแล้ง ทำให้ผืนป่าแปรเปลี่ยนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงอย่างดี ประกอบกับการเผาแปลงเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียง ย่อมเป็นเชื้อไฟให้ป่าถูกเผาผลาญ

ภาวะดินเสื่อมโทรม การชะล้างหน้าดิน และดินถล่ม เนื่องจากไม่มีไม้ยืนต้นที่จะยึดเกาะดินไว้ และให้ความชุ่มชื้นในดิน ล้วนมาจากสาเหตุพื้นที่ป่าต้นน้ำหลายล้านไร่เปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีจำนวนมากป้อนอุตสาหกรรมอาหาร
ภัยพิบัติของป่าฝนทั่วโลก คือการถูกคุมคามโดยมนุษย์ ด้วยการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นต้นปาล์ม เป็นที่นิยมกันมาก การตัดไม้ทำลายป่ายังทำลายที่ตั้งของชุมชนพื้นเมืองมากมาย และสัตว์ป่าอีกหลายชนิด เช่น ช้างป่า อุรังอุตัง และนี่คือวิธีที่เราจะสามารถช่วยกันปกป้องพวกเขา และแสดงจุดยืนของเราได้


จากบทความเขียนโดย พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประเทศไทย (WWF-Thailand) บอกว่า "ป่าไม้และแหล่งน้ำ สำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดและอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก แต่ทรัพยากรเหล่านี้ถูกใช้ประโยชน์อย่างขาดสมดุล ใช้ไปมากเกินกว่าที่จะธรรมชาติจะสามารถสร้างฟื้นตัวกลับมาได้เอง จากการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย การเผาและน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ"

แล้วเราจะช่วยกันรักษาทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างไร
ไฟป่า หมอกควัน และภัยแล้ง ล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงหน้าแล้งของทุกปีและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งล้วนมีสาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกเกินพอดี ในตลอดช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุก ๆ นาที โดยเฉลี่ย มีพื้นที่ป่าไม้ขนาดสี่สิบสนามฟุตบอลได้ถูกโค่นทำลายไป เปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรผลิตอาหาร อุตสาหกรรมปศุสัตว์ และพืชพลังงาน โดยหากนับตั้งแต่เราก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม พื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกได้ลดจำนวนลงไปถึงร้อยละ 46 หรือประมาณ 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร

การที่เราได้สูญเสียแหล่งกักเก็บน้ำและแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญที่สุดไปอย่างต่อเนื่อง โลกเราจึงทั้งร้อนและแล้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นหมายถึงเราได้สูญเสียระบบนิเวศหรือสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ไป ซ้ำร้ายความร้อนและความแห้งแล้งได้ทำให้ผืนป่าแปรเปลี่ยนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงอย่างดี ประกอบกับการเผาแปลงเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียง ย่อมเป็นเชื้อไฟให้ป่าต่างๆ ทั่วโลกถูกแผดเผาได้อย่างง่ายดาย หรือมีความเสี่ยงที่จะลุกเป็นไฟได้ทุกเมื่อ ซ้ำเติมให้ประชากรโลกทั้งหมดสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติและสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต หากเราปราศจากผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์และปริมาณต้นไม้ที่มากเพียงพอในการดูดซับคาร์บอน

ตอนนี้สถานการณ์วิกฤตเหล่านี้ได้คืบขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น ในเพียง 50 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงจากร้อยละ 43 เหลือร้อยละ 31 เท่านั้น พื้นที่ป่าต้นน้ำหลายล้านไร่เปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีจำนวนมากป้อนอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งล้วนแต่มีการเผาตอซังในการเตรียมปลูกทุกปี ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันรุนแรง มลพิษปนเปื้อนแหล่งน้ำ และภาวะดินเสื่อมโทรม การชะล้างหน้าดิน และดินถล่ม เนื่องจากไม่มีไม้ยืนต้นที่จะยึดเกาะดินไว้ และให้ความชุ่มชื้นในดิน ในช่วงเดือนมกราคม- มิถุนายนของทุกปี หรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วงระยะยาว จึงเป็นช่วงที่มีไฟป่าเกิดขึ้นมากในหลายพื้นที่ มีการเผาไร่ เผาตอซัง ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่ลอยปกคลุมทั่วที่แห่งหน เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ

สภาพของดินที่แห้งแล้งมากและการขาดไม้ยืนต้นปกคลุมดินย่อมทำให้ไม่เกิดฝนตามฤดูกาล ประกอบกับแหล่งต้นน้ำถูกทำลายนั้นก็ส่งผลให้แม่น้ำสำคัญของไทยหลายแห่งที่หล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่งได้แห้งเหือดหายไป หรือเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของเราในอนาคต

แม้เป็นวิกฤติ...แต่ก็ไม่สายไปที่จะแก้ หากเราทุกคนลงมือช่วยกันอย่างจริงจังในการปลูกต้นไม้ เราก็จะสามารถช่วยรักษาโลกของเราให้รุ่นลูกหลานได้

ทุกคนสามารถลงมือทำได้อย่างง่ายๆ ดังนี้

1. เพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ: ต้นไม้มีความสำคัญมากที่สุดในการรักษาระบบนิเวศ หากเราสามารถหยุดการทำลายป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้หนึ่งในสามจากเดิม หรือปลูกต้นไม้เพิ่มประมาณ 1.2 พันล้านต้นทั่วโลกก็จะสามารถบรรเทาวิกฤตโลกร้อนได้ เพราะต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนจากอากาศตลอดการเจริญเติบโต มวลน้ำหนักครึ่งหนึ่งของต้นไม้หนึ่งต้นคือปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้ดูดออกจากอากาศ และส่งต่อลงสู่ดินผ่านรากและจุลินทรีย์ในดิน สร้างความสมบูรณ์ชุ่มชื้นให้ดิน
•ปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะปลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัว ไม้ผล และไม้ยืนต้น ในพื้นที่รอบบ้าน ดาดฟ้า ระเบียง และที่ต่าง ๆ
•ใช้ต้นไม้ ดอกไม้ เป็นของขวัญให้กับคนที่ท่านรัก
•ไม่ตัดต้นไม้ และเป็นหูเป็นตาช่วยรักษาอนุรักษ์ต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่หรือพื้นที่สีเขียวไม่ให้ถูกทำลาย
•ร่วมจัดตั้งหรือสนับสนุน การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในเมือง และป่าชุมชน

2. ปรับเปลี่ยนสู่วิถีการบริโภคที่ยั่งยืน: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ต้องเริ่มที่ตัวเอง รู้หรือไม่ว่าทุกคนก็สามารถช่วยโลกได้ถึงวันละ 3 ครั้ง เพียงแค่ผ่านการเลือกกินในการรูปแบบยั่งยืน และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่สร้างภาระให้โลก
•เลือกบริโภคอาหารที่ผลิตอย่างยั่งยืนไม่ใช้เคมี เช่น พืชผักผลไม้ อินทรีย์ อาหารพื้นถิ่น อาหารตามฤดูกาล
•เลือกสนับสนุนเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรรายย่อย ชุมชน วิสาหกิจชุมชน
•เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
•ลดการใช้ทรัพยากร ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้วัสดุรีไซเคิล นำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
•กินอาหารให้หมด ไม่เหลือทิ้ง
•ลดปริมาณบริโภคเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผักผลไม้
•เลือกซื้อพืช ผัก ผลไม้ โดยตรงจากผู้ผลิต หรือซุปเปอร์มาเก็ตหรือตลาดที่ส่งเสริมสินค้าจากชุมชนหรือเกษตรกรโดยตรง
•ไม่บริโภคสัตว์ป่า รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากชิ้นส่วนสัตว์ป่า
•ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ท่องเที่ยวชุมชน ใกล้ชิดธรรมชาติ

ข้อแนะนำ - ถามถึงที่มาของอาหาร พิจารณาข้อมูลผลิตภัณฑ์ วงจรชีวิต และสังเกตฉลาก สัญลักษณ์รับรองต่าง ๆ เช่น FSC, เกษตรอินทรีย์, คาร์บอนฟุตพริ้นท์, เครื่องหมายรีไซเคิล และอื่น ๆ และสนับสนุนสินค้าหรือบรรษัทที่ทำธุรกิจที่มีนโยบายไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าและความยั่งยืน

3. สนับสนุน รณรงค์และส่งต่อความรู้ และสร้างเครือข่าย: ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการลงมือทำของทุกคน โดยเริ่มจากการบอกต่อให้สังคมรอบข้างรับรู้ ลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
•หาความรู้ ติดตามข่าว บอกต่อเรื่องราว และชวนคนรอบข้างลงมือช่วย
•บริจาคสนับสนุน หรือร่วมกิจกรรมปลูกป่า และดูแลชุมชนที่รักษาป่า
•สนับสนุนซื้อสินค้าจากชุมชนที่ดูแลป่าไม้ แหล่งต้นน้ำ ป่าชุมชน และเกษตรอินทรีย์
•ร่วมเครือข่ายอนุรักษ์ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือโครงการต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ข้อมูลอ้างอิง WWF ประเทศไทย และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ความสำคัญของป่าฝน คนยุคนี้ต้องเข้าใจว่า ทำไมเราทุกคนถึงต้องร่วมการอนุรักษ์ พร้อมรณรงค์และส่งต่อความรู้ และสร้างเครือข่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น