xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” ฉะ 6 ปี “มหาประยุทธภัย” ศก.ถมเท่าไหร่ก็ไม่กระเตื้อง แถมจัดงบ 64 ไม่สนโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หน.ก้าวไกล อัด 6 ปี รบ.ประยุทธ์ ใช้เงิน 20 ล้านล้าน ศก.โตหยิบมือ ดื้อยาหนัก ถือเป็น “มหาประยุทธภัย” ถมเท่าไหร่ก็ไม่กระเตื้อง ซัดจัดงบ 64 เสมือนไม่วิกฤต โลกปรับไทยไม่เปลี่ยน เตือนกู้ต้องใช้ให้เป็นโปร่งใส ปราบคนเห็นต่างยิ่งซ้ำ ศก.ทวีวิกฤต

วันนี้ (1 ก.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่สภาจะกำหนดอนาคตคนไทยด้วยงบประมาณปี 64 จึงจะต้องตอบให้ได้ว่างบก้อนนี้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และรัฐบาลเข้าใจโจทย์ของการแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน เพราะปี 64 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์สาหัสแล้ว ยังต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยด้วยว่า เป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ “20 ล้านล้านบาท” ตั้งแต่ยึดอำนาจมาปี 57 จนถึงปัจจุบัน เป็นนายกฯ ที่ใช้งบประมาณมากที่สุด และต่อเนื่องมากที่สุด แต่ผ่านมา 6 ปี เงิน 20 ล้านล้านบาทนั้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมาก โตเพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น (จาก 13 ล้านล้านบาทที่เริ่มยึดอำนาจมา เป็น16 ล้านล้านบาทในปี 62) อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยดื้อยาขนาดหนัก ถือเป็น “มหาประยุทธภัย” ที่ยิ่งเพิ่มงบประมาณ ความเชื่อมั่นยิ่งลดลงสวนทางกัน แม้จะถมงบลงไปเท่าไหร่เศรษฐกิจก็ไม่เต็ม ไม่กระเตื้อง

นายพิธากล่าวว่า การแก้ไขปัญหาประเทศต่อจากนี้ ถ้าจะแก้กันแบบเดิมๆ งบแบบเดิมๆ แล้วคาดหวังว่าจะได้รับผลลัพธ์ใหม่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าเราจะใส่เม็ดเงินลงไปมากเท่าใดก็ตาม เพราะสิ่งที่กำลังเผชิญตอนนี้เป็นมหาวิกฤตที่กำลังล้อมประเทศ มหาวิกฤตที่โลกกำลังปรับตัว และที่ไทยจะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน ตอนนี้รัฐบาลไทยกุมทรัพยากรประเทศมหาศาลอย่างน้อย 5 ก้อน คือ งบปี 64 จำนวน 3 ล้านล้านบาท งบสู้ภัยโควิดจาก พ.ร.ก.เงินกู้ และ พ.ร.ก.โอนงบ 2 ล้านล้านบาท เงินนอกงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินภาษีของประชาชนที่ถูกบีบคอมาสูงถึง 7.5 ล้านล้านบาทที่จะแก้ปัญหา ถ้ารัฐบาลใช้เป็นเราจะผลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยทุเลาความเดือดร้อนได้ไม่มากก็น้อย

จากที่ศึกษาร่างงบประมาณนี้ เหมือนรัฐบาลจัดสรรงบเหมือนประเทศไม่มีวิกฤต และไม่ต่างอะไรกับงบปี 63 มากนัก ซึ่งเชื่อว่าถ้าชุดความคิดยังเป็นเหมือนเดิม การจัดงบปี 65-66 ก็น่าจะออกมาเช่นนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สถานการณ์ประเทศ ณ ขณะนี้ เดือนมิถุนายนเป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ลงทะเบียน”เราไม่ทิ้งกัน”รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศมาตราการรองรับใดๆ เดือนกรกฎาคมก็จะเป็นเดือนสุดท้ายที่เกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน รับเงิน 5,000 บาท ส่วนกลุ่มคนเปราะบางไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ กว่า 6.7 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาทเป็นเดือนสุดท้ายเช่นเดียวกัน ส่วนลูกหนี้รายย่อยที่พักชำระกับธนาคารไว้ 15 ล้านรายจะต้องเริ่มกลับมาจ่ายหนี้ในเดือนกันยายน กลุ่มคนที่จะตกงานอีก 8 ล้านคน รวมถึงคนที่จบการศึกษาใหม่หางานไม่ได้อีก 5 แสนคน เท่ากับมีคนกว่า 30 ล้านคนครึ่งประเทศกำลังจะจมหายไปต่อหน้าต่อตา และไม่ใช่เรื่องยากที่โอกาสที่จะฟื้นยืนอีกครั้ง จึงถือเป็นความท้าทายที่กองอยู่ตรงหน้า รายจ่ายของงบประมาณจะชี้ชะตาประเทศ โดยมีชีวิตคนเหล่านี้เป็นเดิมพัน

“ขณะที่สถานการณ์ความยากจน ความเหลื่อมล้ำกำลังก่อตัวขึ้นรายได้ของรัฐบาลก็มีปัญหา สำนักงบประมาณของรัฐสภาได้ประเมินไว้ว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐจะหลุดเป้า ถึงปีละ 3.5 แสนล้าน ทั้งปี 53 และปี 64 รวมกันสองปี ถึง 7 แสนล้านบาท ผมฟังแล้วขนหัวลุก จากข้อมูลการเก็บภาษีในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาพบว่าหลุดเป้าจริงถึง 2 แสนล้านบาทแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกู้เพิ่มจากที่ประมาณการไว้ว่าขาดดุลงบเบื้องต้นปีนี้ 6 แสนล้านบาท ไม่แน่รัฐบาลอาจต้องกู้เพิ่มถึง 1.3 ล้านล้านบาท สถานการณ์ทั้งรายจ่ายและรายได้ของประเทศหนักหนาสาหัสสากัน การใช้จ่ายแต่ละเม็ดต้องคุ้มค่าตอบโจทย์สถานการณ์ และตรงกับนิยามความมันคงรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่เวลาขอเรือดำน้ำ กระสุนปืน การสร้างถนน การทำป้าย ติดกล้อง แต่เป็นเวลาของวัคซีน การสร้างงาน ความมั่นคงทางสาธารณสุข ทางอาหารและทางสิ่งแวดล้อม”

นายพิธากล่าวอีกว่า ปัญหาของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ใช้ชีวิตกันอย่างไม่มีหลักประกันและได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่ากระทรวงแรงงานนั้นน่าจะต้องมีงบเพิ่มขึ้น และมีโครงการที่จะช่วยเหลือให้เข้าสู่ระบบ มีหลักประกันในชีวิต มีโครงข่ายทางสังคมรองรับ แต่งบประมาณของกระทรวงแรงงานถูกลดลง 3 พันล้านบาท และไม่มีแผนโครงการที่จะช่วยนำเข้าระบบ ส่วนที่กำลังจะตกงานและต้องหางานใหม่กว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้งบน้อยลงเช่นกัน ส่วนที่อาจจะใช้ประกันสังคมไม่ได้ และหันมาใช้บัตรทองมากขึ้น เงินอุดหนุนบัตรทองก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงไม่มีงบที่มาต่อยอดโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ในการทำ Digital Wallet หรือ Smart ID Card ที่สามารถแก้ปัญหาได้ดี รวดเร็วกว่าเดิม หากเกิดจะต้องปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง หรือถ้ามีก็ไม่รู้ว่าตัวชี้วัดที่แน่นอน

รวมถึงงบประมาณแผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมในการแก้ปัญหา PM 2.5 ในภาคเหนือ แทบจะไม่มีเลย ส่วนงบของการแก้ไขปัญหาไฟป่านั้นเพิ่มขึ้น เพียง 260 ล้านบาท ขณะที่ภาคอีสานงบภัยแล้งพร้อมกับปัญหาโควิด ถึงแม้งบประมาณปีนี้กรมชลประทานจะได้งบมากขึ้นถึง 8,000 ล้าน แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะสะท้อนความรุนแรงของปัญหาน้ำในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวในภาคใต้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรจะมีแผนการ การประมาณการที่สะท้อนสถานการณ์จริง แต่แผนงานดังกล่าว 7 พันล้านบาทกลับเป็นงบสร้างถนน 25% แถมตัวชี้วัดสมมติฐานที่ใช้ยังคาดว่าการท่องเที่ยวปีนี้และปีหน้าอีก 8% คนใต้รู้ดีว่าไม่สมเหตุสมผลเลย แม้นายกฯ ประกาศว่าจะเน้นการท่องเทียวเชิงคุณภาพและการเแพทยซึ่งน่าสนใจและสนับสนุนแต่ไม่เห็นมีงบก่อนไหนเพียงพอกับภารกิจที่ประกาศไว้ เหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างให้เห็นว่างบประมาณปีนี้สร้างความหวังหรือทำให้คนสิ้นหวัง ประชาชนก็คงจะเป็นคนที่ตอบคำถามนี้ได้

นายพิธากล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำไมงบประมาณนี้ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ได้ เพราะงบประมาณไทยเป็นงบข้าราชการ ไม่ใช่งบของประชาชน งบ 3 ล้านล้าน สามารถใช้ได้จริงแค่ 1 ล้านล้านเท่านั้น ที่เหลือเป็นงบผูกพันสำหรับค่าใช้จ่ายบุคคลากรภาครัฐ สวัสดิการตามกฎหมาย ดอกเบี้ย และเงินต้น เงินอุดหนุนท้องถิ่น งบที่สามารถที่โยกย้ายยืดหยุ่นในการแก้ไขสถานการณ์ประจำปีของประชาชนมีน้อยกว่าค่าใช้จ่ายบุคคลากรภาครัฐ แสดงให้เห็นว่ารัฐราชการไทยอุ้ยอ้ายมากเพียงใด

“สิ่งที่คนไทยต้องการมากที่สุดขณะนี้คือรัฐบาลที่หาเงินเป็นและใช้เงินเป็น อย่างที่เห็นว่า การหารายได้ของรัฐบาลจะทำได้อย่างยากลำบาก สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ภาษีแว็ต ภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาคงได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจทั้งไทยและเทศ การที่ระบบเราพึ่งพาส่งออกและการท่องเทียวมากเกินไป เมื่อส่งออกลง 30% และนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยไม่ได้เลยก็ต้องซบเซา และรัฐจะขาดรายได้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ วงจรอุบาทว์ต่อๆ กันไป”

นายพิธากล่าวว่า โลกข้างหน้าคือโลกที่ต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เพราะทุกประเทศบอบช้ำระเบียบโลกใหม่คือไร้ระเบียบ เราจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก นวตกรรมใหม่ให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็งจากภายใน เลิกกินบุญเก่าของอุตสาหกรรมเก่าๆ ที่เคยพึ่งมา 40 ปี รวมถึงหาฐานภาษีแบบใหม่ ช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลถังแตก การกระจายอำนาจกระเป็นหัวหอกในการปลุกศักยภาพและเศรษฐกิจไทย และทรัพยากรไทยให้เติบโตได้อย่างยิ่งยืน ด้วยการสร้างอุสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ดูจากงบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 900 ล้านบาท อุสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีอาหาร เครื่องมือแพทย์ ที่ควรส่งเสริมกลับจัดสรรงบให้เสี้ยวเดียวของยุทธศาสตร์ และยังเน้นการจัดสัมมนามากกว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือถ้ามีก็เน้นการซื้อของเข้ามาไม่มีการผลิตคิดค้นภายในวิกฤติครั้งนี้เราคาดหวังความช่วยเหลือจากต่างประเทศเหมือนในอดีตไม่ได้แล้วเพราะลำบากกันทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะ IMF ที่มี 90 กว่าประเทศจ่อขอกู้ ดังนั้น เราหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างชาติไม่ง่ายอีกต่อไป เราต้องคิดการรองรับระเบียบโลกใหม่ตรงนี้ไว้อย่างไร

นายพิธากล่าวว่า งบประมาณที่ตนจะเห็นชอบ จะต้องสะท้อนว่ารัฐบาลใช้เงินเป็น หาเงินเป็น และกู้เป็นการใช้เงินเป็นรัฐบาลต้องเตรียมสวัสดิการโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้เพียงพอกับความเดือดร้อนของประชาชนในมหาวิกฤต และต้องใช้จ่ายเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตไม่ใช่แค่การตัดถนน 2 แสนล้าน การหาเงินให้เป็นรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้การคลังท้องถิ่นจัดเก็บรายได้และบริหารเงินได้เองมากขึ้น และต้องหารายได้จากภาษีให้มากขึ้นจากคนบนยอดพีระมิดของสังคม ไม่ใช่คนรากหญ้า ส่วนการกู้เงินให้เป็นต้องบริหารให้เกิดความน่าเชื่อถือและกู้มาสร้างรายได้ ถ้ากู้มาเพื่อคอรัปชั่นแบ่งเค้กกินกันเอง ถ้ากู้มาแล้วไม่เกิดรายได้ ดอกเบี้ยก็ยิ่งแพง ถ้ายังหันมาปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง เศรษฐกิจก็จะยิ่งวิกฤตไปใหญ่ นายกฯ จะแก้ปัญหาวิกฤต และความทุกข์ประชาชได้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น