xs
xsm
sm
md
lg

“หมอยง” ชี้คนหายโควิด 10% ไม่เกิดภูมิ เหตุอาการป่วยน้อย แต่ยังวอนบริจาคพลาสมาต่อเนื่อง เป็นคลังใช้รักษา-ทำเป็นเซรุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“หมอยง” เผย ผู้ป่วยหายจากโควิดส่วนใหญ่มีภูมิเกิดขึ้น สูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ แต่ 10% ไม่เกิดภูมิ โดยเฉพาะกลุ่มอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการ เตรียมศึกษาต่อเนื่อง 1 ปี ภูมิต้านทานอยู่ได้นานแค่ไหน วอนคนหายป่วยช่วยกันบริจาคพลาสมาคนละ 6 ครั้ง ห่างทุก 2 สัปดาห์ ช่วยเป็นคลังสำรองรักษาคนป่วย หากมีมากทำเป็นเซรุ่มช่วยเก็บได้นานขึ้น

วันนี้ (6 ก.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการใช้พลาสมาสร้างแอนติบอดีต่อโรคโควิด-19 ว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ทั่วโลกพยายามคิดค้นวิธีรักษาและป้องกัน โดยระยะแรกยาที่จะใช้รักษาไม่มี จึงมีการศึกษาโครงสร้างของไวรัส ว่า คล้ายกับอะไรและมียาอะไรที่ใช้ได้ เช่น ยาต้านมาลาเรียอย่างคลอโรควิน ปัจจุบันทราบแล้วว่าไม่ได้ผล ยาต้านไวรัสเอชไอวี ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดว่า รักษาโควิด-19 อย่างมีประสิทธิผล ยารักษาไข้หวัดใหญ่ เช่น โอเซลทามิเวียร์ ไม่ได้ผลแน่นอน ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ในคนไข้อาการมาก ก็ไม่ได้รับประกันว่า จะได้ผลอย่างดี แต่บ้านเรายังไม่มียาตัวไหนดีกว่าฟาวิพิราเวียร์ แต่ทางตะวันตกมีการใช้ ยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาใหม่ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน ต้องรอการทดลอง ซึ่งมีการฉีดแบบ 10 วัน กับ 5 วัน โดยรอผลสรุปและขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เมื่อไม่มียาตัวไหนเลยใช้ได้แบบมีประสิทธิผลอย่างดี ดังนั้น ด้วยหลักของภูมิต้านทาน เมื่อหายจากโควิด-19 แล้ว โดยกลไกธรรมชาติ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้น โดยจะสร้างสูงมากช่วง 4-6 สัปดาห์ และจะค่อยลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่ถึง 6 เดือน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาร่วมกับกรุงทพมหานคร (กทม.) และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ศึกษาผูที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว 300 คน พบว่า ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น โดย 10% หรือส่วนน้อยจะตรวจไม่พบภูมิต้านทาน โดยช่วง 4 สัปดาห์ จะมีภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ที่เป็นภูมิต้านทานต่อหนามแหลมของไวรัส เปรียบเสมือนเป็นเซรุ่ม หรือแอนติบอดี ที่ยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ จึงเป็นที่มาของการใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ผู้ป่วยที่หายแล้วมาบริจาคพลาสมา เราจะใช้เฉพาะส่วนพลาสมาหรือน้ำเหลือง และคืนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด โดยผู้ที่จะบริจาคได้ คือ หายจากโรคโควิดแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน ตรวจเชื้อจากสารคัดหลั่งในคอและตรวจเลือดแล้วไม่มีเชื้อโควิด อยู่ในช่วงอายุ 18-60 ปี น้ำหนักตัวเกิน 50 กิโลกรัม มีร่างกายแข็งแรงตามเงื่อนไขกฎเกณฑ์การบริจาคโลหิต ไม่มีโรคประจำตัวข้อห้าม โดยสามารถบริจาคได้ทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งจะมีการวัดภูมิต้านทานที่ต้องสูงเกินเกณฑ์ คือ เจือจางได้มากกว่า 1:160 ก็ยังสามารถยับยั้งไวรัสได้ โดย 1 คนจะบริจาค 6 ครั้ง โดยจะได้พลาสมาครั้งละ 500-600 ซีซี แบ่งเป็น 2 ถุง ถุงละ 250 ซีซีและ 300 ซีซี เพื่อให้กับผู้ป่วยตามน้ำหนักตัว หากมากกว่า 60 กิโลกรัมจะให้ถุงละ 300 ซีซี

“ขณะนี้มีอาสาสมัครที่มาบริจาคมากกว่า 150 คน ได้พลาสมาที่มีภูมิต้านทานสูงมากกว่า 250 ถุง ในการใช้การรักษา ผู้ป่วย 1 คนจะใช้ 1-2 ถุง ทำให้สามารถใช้รักษาได้ราว 100 คน แต่ยังไม่มีการนำมาใช้กับผู้ป่วยในไทย เพราะสถานการณ์ในไทยดีขึ้น ส่วนสหรัฐอเมริกา มีการใช้มากกว่า 1 หมื่นถุง มีการศึกษาความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว อาการข้างเคียงเหมือนการให้เลือดหรือน้ำเหลืองผู้ป่วยโรคอื่นๆ ทั่วไป แต่ผลลัพธ์ที่ได้มีรายงานออกมาค่อนข้างมากมายทั้งในประเทศจีน ฝรั่งเศส ฮังการี อิตาลี และสหรัฐอเมริกาที่มีการให้มากที่สุด พบว่า ได้ผลดีจำนวนมาก ส่วนที่ให้แล้วไม่ได้ผลส่วนใหญ่ คนไข้จะเป็นค่อนข้างมาก หรืออยู่ระยะที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือปอดเทียม” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ส่วนพลาสมาที่เก็บไว้ สามารถเก็บไว้ได้ 1 ปี ถือเป็นคลังสำรอง แต่ถ้ามีผู้มาบริจาคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะถ้าบริจาคทุก 6 สัปดาห์ และบริจาคได้ถึง 600-1,000 ถุง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสามารถเอาพลาสมามาทำเป็นเหมือนกับตัวยา คือ เซรุ่ม อย่างเซรุ่มที่ใช้รักษาตับอักเสบบี รักษาพิษสุนัขบ้า คือ การเอามาทำให้เข้มข้น บรรจุใส่ขวด มีปริมาณแอนติบอดีต่อหนึ่งขวดค่อนข้างสูง ถ้าในรูปแบบนี้จะเก็บได้นานขึ้น จึงยังยินดีอยู่ตลอดเวลา สำหรับผู้สนใจมาบริจาคพลาสมา มีความหวังว่าเมื่อขณะนี้ยังไม่มียา วัคซีนในการป้องกัน พลาสมาเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้แอนติบอดีทางอ้อม

“จากการศึกษาผู้หายป่วยกว่า 300 คน แล้วพบ 10-12% ตรวจไม่พบภูมิต้านทาน ไม่ใช่เรื่องแปลก เหมือนกับการศึกษาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ที่ไม่พบภูมิต้านทาน คือ มีอาการน้อย เช่น คล้ายหวัด ไอ ไม่ได้รุนแรง ผู้มีอาการรุนแรงมากจะมีภูมิต้านทานสูง คนไหนก็ตามมีอาการปอดบวม ลงปอด วัดระดับภูมิต้านทานจะสูงมาก ซึ่งเราจะติดตามต่อเนื่อง โดยจะตรวจหลังจากหายช่วง 6 เดือน 9 เดือน และ 1 ปี เพื่อดูภูมิที่เกิดจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ การลดลงของภูมิต้านทานจะเป็นอย่างไร” ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า ส่วนการติดตามผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิดเกือบ 400 คน มีหลักฐานการติดโรค 5% โดยไม่มีอาการของโรค หรือติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบุคคลในครอบครัวผู้ป่วย มากกว่าบุคคลเพื่อนร่วมงาน หรือการติดโรคมักเป็นสัมผัสใกล้ชิด มากกว่าสัมผัสทั่วไป แต่อยากให้ทุกคนป้องกันอย่างดี

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า อนาคตหวังว่าถ้าเรามีวัคซีนและกระตุ้นสร้างภูมิต้านทานได้เหมือนติดเชื้อ และภูมินั้นป้องกันได้ ก็ให้บุคคลนั้นมาบริจาคพลาสมา โดยแทนที่ใช้พลาสมาผู้ป่วย ก็ใช้จากผู้ไม่ป่วยแต่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเอามารักษาคนที่ป่วย ซึ่งบ้านเราต้องเตรียมความพร้อม และถ้าเราจะมีการระบาดรอบ 2 หรือ 3 ถ้ามีผู้ป่วย อย่างน้อยเรายังมีเครื่องมือตัวหนึ่ง พลาสมาผู้ป่วยในสำรองจำนวนมาก เพื่อใช้ในการรักษา
กำลังโหลดความคิดเห็น