นักวิชาการไทยเปิดขุมทรัพย์ธรรมชาติ ค้นพบมดชนิดใหม่ของโลก 5 ชนิดทั้งในไทยและมาเลเซีย และยังค้นพบหอยทากจิ๋วทางตอนเหนือของประเทศไทยอีก 2 ชนิด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ค้นพบมด 5 ชนิดใหม่ของโลกที่ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย และหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลกถูกค้นพบทางตอนเหนือของประเทศไทย
ทั้งนี้ อพวช.ได้จัดแสดงตัวอย่างหอยทากจิ๋วตัวอย่างจริงในนิทรรศการ Land Snail & Land Slug โดยจำลองถ้ำที่มีลักษณะโครงสร้างเหมือนสถานที่พบจริง สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำคัญต่อระบบนิเวศ และต่อมนุษย์ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แล้ว อีกภารกิจสำคัญคือ เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดย อพวช.มีนักวิจัยเฉพาะด้านที่หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งในทุกๆ ปี นักวิจัยจะออกสำรวจเพื่อศึกษาความหลากหลายเก็บตัวอย่าง
“เป็นที่น่ายินดีที่นักวิชาการ อพวช. มักจะค้นพบสัตว์และพืชชนิดใหม่อยู่เสมอ ในปีนี้ค้นพบมด 5 ชนิดใหม่ของโลก โดย 2 ชนิดแรกพบที่ประเทศไทย ได้แก่ มดท้องคอดครูตู่ พบที่จังหวัดตาก และมดท้องคอดลายร่างแห พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีก 3 ชนิดพบที่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ มดปากห่างเอะซุโกะ มดปากห่างอกร่อง และมดปากห่างครูเกรียง” ผศ.ดร.รวินกล่าว
สำหรับมดชนิดใหม่ทั้ง 5 ชนิดนี้ถูกค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง (หัวหน้าทีมวิจัย อพวช.) รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา (คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และ ศ.ดร. เซกิ ยะมะเนะ (Kagoshima University) ในเดือนกรกฎาคม 2563 นอกจากนี้ นางสาวบังอร ช่างหลอม นักวิชาการ อพวช. ยังได้คนพบหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ หอยทากจิ๋วผิวตาข่าย พบในถ้ำวัว จังหวัดแม่ฮ่องสอน และหอยทากจิ๋วเมืองออน พบในถ้ำเมืองออน จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนมกราคม 2563
ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการ อพวช. กล่าวว่า ทั่วโลกพบมดท้องคอดเพียง 5 ชนิด ในจำนวนนี้ 3 ชนิดพบในทวีปอเมริกา อีก 2 ชนิดพบในเอเชีย (อินเดีย ศรีลังกา และญี่ปุ่น) สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เคยมีรายงานมดสกุลนี้มาก่อน ดังนั้น การค้นพบนี้ถือเป็นการค้นพบมดสกุลท้องคอดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มดชนิดใหม่ที่ค้นพบในครั้งนี้ ได้แก่ มดท้องคอดครูตู่ (Syscia chaladthanyakiji Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ ตัวเรียวยาวรูปทรงกระบอก ไม่มีตา หนวด 11 ปล้อง แตกต่างจากญาติใกล้ชิดที่พบในศรีลังกาตรงที่ เอวปล้องที่สองมีความยาวเท่ากับความสูง หัวสั้นกว่า และผิวลำตัวหยาบกว่า มดชนิดนี้สร้างรังอยู่ในท่อนไม้ผุที่อยู่บนพื้นป่า พบได้ในจังหวัดตาก และนครนายก มดชนิดนี้พบได้ในป่าดิบแล้ง และดิบเขาที่ค่อนข้างสมบูรณ์
มดท้องคอดลายร่างแห (Syscia reticularis Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ ลำตัวค่อนข้างสั้นและป้อม แตกต่างจากชนิดอื่นในสกุลเดียวกันตรงที่ผิวของลำตัวเป็นเป็นหลุมลึกเชื่อมต่อกันเป็นลายร่างแห่ ตามลักษณะชื่อของมด สามมารถพบชนิดนี้ได้ในท่อนไม้ผุที่อยู่บนพื้นป่าดิบชื้น กระจายอยู่ทางภาตใต้ของไทย (นครศรีธรรมราช) และมาเลเซียฝั่งตะวันตก
ส่วนมดชนิดใหม่ของโลกอีกสามชนิดที่เหลือเป็นมดที่อยู่ในสกุล “มดปากห่าง (Genus Myopias)” มดขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ โดยศาสตราจารย์ เซกิ ยะมะเนะ เป็นผู้เก็บตัวอย่างมดมาจากเกาะบอร์เนียว รัฐซาบาร์ ประเทศมาเลเซีย เก็บรักษาไว้ ณ มหาวิทยาลัยคาโงชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
ดร.วียะวัฒน์ นำตัวอย่างดังกล่าวมาศึกษาอย่างละเอียดและพบว่าเป็นชนิดที่ไม่เหมือนกับชนิดอื่นใดที่เคยตั้งชื่อมาก่อน แสดงว่าเป็นมดที่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการมาก่อน จึงช่วยกันบรรยายลักษณะ ตั้งชื่อเป็นมดชนิดใหม่ของโลก ได้แก่
มดปากห่างเอะซุโกะ (Myopias etsukoae Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ เป็นมดขนาดกลาง สีนำตาลแดง ตาเล็ก ขอบหน้าของแผ่นริมฝีปากบนเว้าลึก ผิวลำตัวค่อนข้างเรียบ ยกเว้นด้านข้างลำตัวและเอวมีผิวหยาบ สามารถพบมดชนิดนี้ได้ในป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ สร้างรังอยู่ในไม้ผุ แพร่กระจายบนเกาะบอร์เนียว รัฐซาบาร์ ประเทศมาเลเซีย
มดปากห่างอกร่อง (Myopias striaticeps Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ เป็นมดขนาดใหญ่ สีดำถึงน้ำตาลดำ ผิวด้านบนของหัว และอกมีลักษณะเป็นร่องขนาดเล็กจำนวนมากขนานกับความยาวลำตัว พบมดชนิดนี้ได้บนพื้นที่สูงกว่า 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ แพร่กระจายอยู่เฉพาะบนเกาะบอร์เนียว
มดปากห่างครูเกรียง (Myopias suwannaphaki Jaitrong, Wiwatwitaya et Yamane, 2020) มีลักษณะ เป็นมดขนาดเล็ก สีเหลือง ผิวลำตัวเรียบเป็นเงามัน แผ่นริมฝีปากบนแคบโดยมีขอบด้านหน้าเป็นเส้นตรง ตาเล็กมาก มดชนิดนี้ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ผู้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนไทยให้รักธรรมชาติ พบบนเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย สร้างรังในไม้ผุที่วางอยู่บนพื้นดินในป่า
“ยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่เรายังไม่รู้จัก และกำลังจะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะค้นพบพวกมัน จากการที่ถิ่นอาศัยถูกคุกคามโดยกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ดังนั้น ก่อนที่พืชหรือสัตว์จะสูญหายไปก่อนที่เราจะรู้จักมันจึงจำเป็นต้องช่วยกันศึกษาทรัพยากรธรรมชาติของเราอย่างจริงจัง” ดร.วียะวัฒน์ กล่าว
ด้าน นางสาวบังอร ช่างหลอม นักวิชาการ อพวช. ผู้ค้นพบหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลก กล่าวว่า ตัวอย่างหอยทากจิ๋วถูกค้นพบครั้งแรก โดย นายธัญญา จั่นอาจ อดีตผู้อำนวยการกองวัสดุอุเทศธรรมชาติวิทยา อพวช. จากนั้น เธอได้นำตัวอย่างมาศึกษาและจำแนกชนิดร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา จึงแน่ใจว่าเป็นหอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก จึงช่วยกันบรรยายลักษณะ ตั้งชื่อเป็นหอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก ได้แก่
หอยทากจิ๋วผิวตาข่าย (Retilaculated Microsnail: Acinolaemus cryptidentatus) พบในถ้ำวัว จังหวัดแม่ฮ่องสอน หอยทากจิ๋วชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่ผิวเปลือกมีลวดลายคล้ายตาข่ายละเอียด และมีตำแหน่งของฟันในช่องเปิดเปลือก (Apertural Teeth) แตกต่างจากหอยทากจิ๋วชนิดอื่นๆ อาศัยเกาะบนผนังถ้ำที่แห้งๆ และมีแสงส่องถึงเล็กน้อยเท่านั้น พบแพร่กระจายเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย
หอยทากจิ๋วเมืองออน (Muengon Microsnail: Acinolaemus mueangonensis) พบในถ้ำเมืองออน จังหวัดเชียงใหม่ หอยทากจิ๋วชนิดนี้มีตำแหน่งของฟันในช่องเปิดเปลือก (Apertural Teeth) แตกต่างจากหอยทากจิ๋วชนิดอื่นๆ ที่เคยมีรายงานมาก่อนหน้านี้ อาศัยเกาะบนผนังและหินงอกหินย้อย มีแสงส่องถึงเล็กน้อยและมีความชื้นสูง พบแพร่กระจายเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย
หอยทากจิ๋วผิวตาข่ายและหอยทากจิ๋วเมืองออน นับว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศเขาหินปูนเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เป็นอาหารให้กับสัตว์ชนิดอื่นๆ ในห่วงโซ่อาหาร เช่น นก และสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำ ปัจจุบันหอยทากจิ๋วมีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยจำเพาะต่อภูเขาหินปูนและมีการกระจายเป็นบริเวณแคบ
"ส่วนใหญ่มักพบหอยทากจิ๋วกระจายอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น อีกทั้งยังถูกคุกคามจากการท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ การระเบิดทำลายภูเขาหินปูนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมทำปูนซีเมนต์ การรุกล้ำพื้นที่ถ้ำเพื่อทำการเกษตรที่มีการใช้สารเคมี" นางสาวบังอร กล่าวทิ้งท้าย