xs
xsm
sm
md
lg

อัยการแถลงผลสอบ “เนตร นาคสุข” สั่งไม่ฟ้อง “บอส” ยึดตามระเบียบ แต่ให้ตั้งข้อหาเสพโคเคน-ขับรถเร็วเพิ่ม หลังพบหลักฐานใหม่

เผยแพร่:



MGROnline - คณะทำงานทีมอัยการแถลงผลตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” ของ “เนตร นาคสุข” พบยึดตามระเบียบพิจารณาข้อเท็จจริงจากในสำนวนของตำรวจ แต่จะตั้งข้อหาเสพโคเคนและขับรถเร็วเพราะเป็นหลักฐานใหม่


เมื่อเวลา10.00 น. วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ห้องประชุม สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี กรณีไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต แถลงข่าวผลการตรวจสอบพิจารณา โดยผู้แถลงประกอบด้วย นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด ,นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน, นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี คณะทำงาน,นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เลขานุการคณะทำงาน,นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา คณะทำงาน และ น.ส.เสฏฐา เธียรพิลากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบคำถามสื่อต่างประเทศ

นายประยุทธ กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด แล้วมีความเห็นว่า นายเนตรได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจ รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อพิจารณาอันเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ซึ่งต่อมาผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นไม่แย้ง คำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คณะทำงานเห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตร เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว

แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว คณะทำงานตรวจพบว่า คดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้ โดยคณะทำงานมีความเห็นว่า คณะทำงานตรวจพบในสำนวนสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ ผู้ต้องหาที่
1 ในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหาที่1 ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี (อายุความตามกฎหมาย10 ปี)

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว อันเป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีกก็ตาม แต่ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญ คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุ ดร.สธน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยาน ที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ โดย ดร.สธน ได้ทำรายงานการคิดคำนวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของผู้ต้องหาที่
1 แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน

“นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อ จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคิด คำนวณหาความเร็วของรถ และตนได้คิดคำนวณพร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาที่ 1 ได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

ทั้งสองประเด็นดังกล่าว คณะทำงานจึงมีความเห็นและนำกราบเรียนอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป” นายประยุทธ กล่าว

นายชาญชัย กล่าวถึงกรณีผลตรวจว่านายวรยุทธเสพโคเคนและเมาแอลกอฮอล์หรือไม่ ว่า ขณะตรวจวัดแอลกอฮอล์ ผู้ต้องหาที่ 1 ตรวจเลือดพบมีปริมาณแอลกอฮอล์ 69 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคำนวณอัตราแอลกอฮอล์ที่ลดลง15 เปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ถ้าหาดื่มแอลกอฮอล์ขณะเกิดเหตุก็จะมีปริมาณ 389 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเมาจนไม่มีสติขับรถได้ แต่ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่มีพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่าขับรถในขณะเมาสุรา ส่วนประเด็นสารที่พบในเลือดมาจากการที่ร่างกายได้รับโคเคนนั้น จะเกิดจากการที่เสพยาเสพติดหรือเกิดจากกรณีอื่นก็ได้ ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนสอบทันตแพทย์ระบุว่าได้ให้ยาผู้ต้องหารักษาฟัน จึงไม่ดำเนินคดีข้อหาเสพยาเสพติด ซึ่งคณะทำงานไม่เห็นด้วย จึงขอให้สอบสวนว่าสารดังกล่าวมาจากการเสพโคเคนหรือยาปฏิชีวนะ

นายชาญชัย กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นปัญหาเชิงระบบจากดุลพินิจของพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว เราควรจะร่วมกันเข้าไปสอบสวนอย่างทันท่วงที ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดควรจะมีกรอบระยะเวลาให้ยุติได้ด้วยความเป็นธรรม ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ร้องครั้งเดียว และกรณีความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่แตกต่างกันแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ควรให้มีการตรวจพิสูจน์กันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง 

ด้าน นายอิทธิพร กล่าวว่า ทางสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัยในคำสั่งของพนักงานอัยการเป็นอันมาก น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคล แต่เนื่องจากคณะทำงานไม่มีอำนาจพิจารณาในส่วนของตัวบุคคล
เราจึงมีความเห็นเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ พ.ศ.2553 ว่าเรื่องนี้จะมีความบกพร่องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่อัยการสูงสุดต้องดำเนินการ หากสื่อมวลชนหรือประชาชนมีข้อมูลในเรื่องประเด็นความเร็วรถยนต์ ที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาขับรถความเร็วเท่าใดขอให้แจ้งมายังอัยการ เพื่อที่อัยการจะดำเนินคดีต่อไป

เมื่อถามว่าการพิจารณาดำเนินคดีจะต้องใช้พยานหลักฐานเรื่องความเร็วและเรื่องโคเคน นำไปให้ตำรวจสอบสวนใหม่ใช่หรือไม่ และเมื่อสอบสวนแล้วจะนำมาพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาใหม่ได้หรือไม่ 

นายอิทธิพรกล่าวว่า พนักงานสอบสวนจากกองพิสูจน์หลักฐานมีเพียงกระดาษใบเดียว ไม่มีมีวิธีคิดหรืออธิบายสูตรความเร็ว เหมือนตอนที่คิดและเปิดเผยสูตรต่อสื่อมวลชน แต่ปรากฏว่าภายหลัง ดร.สธน อธิบายโดยมีตัวเลขพร้อมหลักฐานการคิดคำนวณแต่ไม่มีในสำนวน ตรงนี้คือประเด็น ถ้ามีเรื่องนี้ในสำนวนอย่างที่สื่อมวลชนลงและ ดร.สธน จะช่วยงานในเรื่องความเร็วต่อในคดีนี้ ถ้าเป็นตนสั่งจะให้ตรวจความเร็วรถทุกคัน เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิด อัยการจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้

นายปรเมศวร์ ตอบคำถามเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมเป็นช่องทางการประวิงเวลา จะเป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ว่า ในการร้องขอความเป็นธรรมมีการร้องเข้ามาจนอัยการไม่รับ ฝ่ายผู้ต้องหาก็ไปร้องกมธ.ที่สภาฯ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และ กมธ.ก็ส่งเรื่องกลับมาอัยการ แต่อัยการก็ยังไม่เชื่อและสั่งสอบสวน พยานที่ร้องในชั้น กมธ.เป็นพยานเก่าเกือบทั้งหมด มีพยานปากใหม่เป็น ทหารอากาศ 2 คน ที่เพิ่มเข้ามา มีเพียงพยานปากนายจารุชาติที่เป็นพยานปากเดิม หลังจากเกิดเหตุ 5 วัน ว่ารถของผู้ตายขับอยู่ด้านหน้าและเบียดไปช่องทางเดียวกับรถเฟอร์รารี่ แต่ตอนแรกที่ให้การไม่ได้แจ้งความเร็ว ส่วนตำรวจที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ให้ความเห็นว่าจากร่องรอยของรถยนต์ไม่น่าจะใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. ความเข้าใจที่ว่าชนแล้วลากไปไกลกว่า 200 เมตร เพราะว่าการชนด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. การปะทะจะต้องแรงกว่านี้ แต่ตนก็เชื่อว่ารถเฟอร์รารี่ไม่ได้ขับแค่ 80 กม./ชม. เพราะสภาพศพค่อนข้างสมบูรณ์ ที่พูดกันในสื่อและโซเชียล อย่างเรื่องพยานใหม่ ถ้าพยานหลักฐานเหล่านี้มีผู้เชี่ยวชาญก็สามารถนำมาปรับใช้ได้

นายชาญชัย กล่าวว่า การพิจารณาของอัยการทำตามข้อเท็จจริงในสำนวน แต่ก็มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อ เพราะเราทราบข้อเท็จจริงในสำนวนทำให้ฟังเรื่องความเร็วรถผู้ต้องหาไม่เกิน 80 กม./ชม. และมีรถจักรยานยนต์ขับปาดหน้า ความเร็วรถเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าความเร็วจะมากกว่า 80 กม./ชม. แม้จะมีรถมาปาดหน้า อัยการจะต้องเปลี่ยนแปลงความเห็นของนายเนตรที่สั่งไม่ฟ้อง เพราะคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญเชื่อได้ว่ารถปิกอัพของนายจารุชาติบังรถจักรยานยนต์ ส่วนความเห็นของนายเนตรที่บอกนายวรยุทธชน ด.ต.วิเชียร เป็นเหตุสุดวิสัยก็เป็นดุลยพินิจ แต่ถ้าพยานหลักฐานในเรื่องความเร็วเปลี่ยนไปก็จะนำมาพิจารณาใหม่ และที่เจ้าของสำนวนให้ความสำคัญของนายจารุชาติ เพราะเป็นพยานที่ปรากฏในคลิป

นายปรเมศวร์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นการสอบสวนนายจารุชาติว่า ในครั้งสุดท้ายได้เปิดกล้องวงจรปิด และนายจารุชาติยืนยันขณะเกิดเหตุได้ขับรถกระบะมาความเร็ว 50-60 กม./ชม. และนายวรยุทธขับตามหลังมาความเร็วประมาณ 60 กม./ชม.

เมื่อถามว่ารถยนต์ของนายวรยุทธขับมาคนละช่องทางกับนายจารุชาติ นายจารุชาติไม่เห็นเหตุการณ์ขณะชน จะทราบได้อย่างไรว่ารถของนายวรยุทธที่ขับมาช่องทางขวาสุดมีความเร็วเท่าใด 

 นายประยุทธ กล่าวกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นดุลยพินิจของผู้สั่งคดี เราจะไม่ก้าวล่วงเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ขณะทำงานเราเห็นยังไม่จบ คือพยานหลักฐานใหม่ ไม่ใช่ประเด็นที่วินิจฉัยไปแล้ว เราจึงแนะให้พนักงานสอบสวนไปสืบประเด็นใหม่ เราจะไปตอบแทนดุลยพินิจของใครไม่ได้ และดุลยพินิจดังกล่าวก็มีกฎหมายรองรับ

เมื่อถามถึงประเด็นการเพิกถอนหมายจับนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยาได้หรือไม่

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนสามารถยื่นเรื่องขอเพิกถอนหมายจับต่อศาลได้ทันที แต่หากว่าอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเรื่อง พ.ร.บ.ยาเสพติด และข้อหาขับรถโดยประมาทจากพยานหลักฐานใหม่ พนักงานสอบสวนก็สามารถยื่นขอหมายจับจากศาลใหม่ได้

เมื่อถามถึงประเด็นหนังสือมอบทนายขอความเป็นธรรม มีการลงลายมือของนายวรยุทธทั้งที่ตัวอยู่ต่างประเทศ หนังสือมอบอำนาจขอความเป็นธรรมและการร้องขอความเป็นธรรมจะเป็นโมฆะหรือไม่ 

นายประยุทธ กล่าวว่าตรงนี้ในระเบียบการร้องขอความเป็นธรรมไม่มีข้อมูล ทุกวันนี้การยื่นขออุทธรณ์คดีของศาล มีการแก้กฎหมายว่าจะต้องนำตัวมาปรากฏตอนฟ้อง ตรงนี้เราจึงต้องมาทบทวน เพราะกฎหมายยังเขียนไม่ถึง

เมื่อถามถึงข้อสรุปนายเนตร นาคสุข มีความผิดหรือไม่ และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายเนตรหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า คณะทำงานไม่มีอำนาจวินิจฉัยในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเสนออัยการสูงสุดให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการฯ พ.ศ.2553 จะเป็นเรื่องการสอบวินัยหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เราคงไปวิจารณ์ใครผิดถูกไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดวิธีการในการพิจารณาในเรื่องของวินัยเอาไว้แล้วว่ามีขั้นตอนกระบวนการอย่างไร อำนาจหน้าที่เป็นของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่จะเป็นผู้พิจารณา เราไม่สามารถพิจารณาได้ เราจึงเสนอให้อัยการสูงสุดดำเนินการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อถามย้ำว่าเป็นการเสนอสอบวินัยหรือไม่

นายอิทธิพร กล่าวว่า เขียนอย่างไรก็ทำตามนั้น พ.ร.บ. มีทั้งเรื่องวินัยและอีกหลายเรื่อง








กำลังโหลดความคิดเห็น