xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชีวิต-ความคิด “พระศักดา” ใช้เฟซบุ๊กเผยแผ่หลักธรรม-สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน จนมีผู้ติดตามกว่า 2.6 ล้าน!

เผยแพร่:



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปทำความรู้จัก “พระอาจารย์ศักดา สุนฺทโร” พระนักเทศน์ชื่อดัง วัดธรรมาภิมุข (ไร่ป่า) จ.ตราด เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “พระศักดา สุนฺทโร” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2.6 ล้านคน เหตุใดพระอาจารย์จึงใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแผ่หลักธรรมและสร้างแรงบันดาลใจสู่พุทธศาสนิกชน

ปัจจุบันโลกแห่งการสื่อสารได้วิวัฒนาการไปมาก โดยผู้คนหันมาสนใจติดต่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ทเวิร์คกันมากขึ้น หนึ่งในช่องทางสื่อสารที่คนทั่วโลกนิยมใช้ก็คือ เฟซบุ๊ก

สำหรับเมืองไทย น่าสังเกตว่า ไม่เฉพาะคนทั่วไปที่ให้ความสำคัญกับเฟซบุ๊ก แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ชื่อดังหลายรูป ยังใช้เฟซบุ๊กในการเผยแผ่ธรรมะหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพื่อเข้าถึงพุทธศาสนิกชนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงวัด หนึ่งในพระสงฆ์ชื่อดังที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางเผยแพร่ธรรม รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในโลกออนไลน์ ก็คือ พระครูสังฆรักษ์ศักดา สุนฺทโร เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “พระศักดา สุนฺทโร” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.6 ล้านคน


เปิดความตั้งใจแรก ไม่ได้อยากบวช แต่อยากเป็นตำรวจ!

“บวชก็ตั้งใจเพียงแค่ว่า อยากจะเข้ามาดูหนังสือเพื่อเตรียมไปสอบตำรวจ ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจเหลือเกิน
เห็นเขาใส่ชุดตำรวจ ดูเท่จริงๆ แต่พอบวชมาแล้ว จากเดิมที่เราไม่ได้ศรัทธาพระ แต่พอเรามาอยู่ร่วมกันกับพระ เราก็ยิ่งเห็นพระบางองค์ มันอาจจะผิดที่เรา เราอาจไปเลือกมองในส่วนที่ไม่ดีของเขาก็ได้ จนกระทั่งมาเกิดความรู้สึกว่า
พระมีส่วนที่ไม่น่าศรัทธาเยอะ แต่ก็มีความโชคดีซ้อนอยู่ในความไม่โชคดี อาจารย์ที่สอนพระอาจารย์ท่านบอกว่าสนใจเดินธุดงค์บ้างไหม สนใจไปปฏิบัติพระกรรมฐานบ้างไหม ก็เลยลองติดตามท่านไป พรรษาแรกก็ลองไปหาประสบการณ์ ลองฝึกนั่งสมาธิ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าลองปฏิบัติดู และที่เป็นแรงจูงใจมากที่สุดคือ อาจารย์พาเดินธุดงค์ไปในป่าลึกๆ ปรากฏว่า พอไปเจอพระที่ดี ที่ถูกจริตของเรา ท่านปฏิบัติจริงจัง เลยทำให้รู้สึกว่า น่าจะลองอยู่ต่ออีกสักนิดหนึ่งนะ เรื่องตำรวจ เดี๋ยวผัดไปก่อนก็ได้ ก็เลยอธิษฐานใจในโบสถ์เลยว่า ข้าพเจ้าพระศักดา สุนฺทโร อธิษฐานใจ บวช 10 ปี นับจากนี้ หากยังไม่ครบ 10 ปี จะยังไม่สึกเด็ดขาด”



เคยมีสัญญาใจกับ “สีกา” ก่อนบวช

“ตัดสินใจว่าลองดูสัก 10 ปี แล้วก็ไปบอกกับสีกาคนที่เคยสัญญากับเขาว่า จะขอบวชพรรษาเดียว แล้วจะสึกไปขอเขาแต่งงาน บอกว่า หลวงพี่จะบวชสัก 10 ปี เดี๋ยวสึก 30 แล้วค่อยว่ากัน เขาก็คอยจน 10 ปีนะ พอครบ 10 พรรษา เขาก็มาถาม หลวงพี่ ครบ 10 ปีแล้ว จะสึกวันไหน ยังไง ก็เลยบอกเขาไปว่า พอดีหลวงพี่เพิ่งอธิษฐานใจเมื่อเช้าว่า
ขอบวชต่ออีก 10 พรรษา เขาบอก ถ้าอย่างนั้นอีก 10 ปีข้างหน้า ก็ 20 ปีตั้งแต่บวชมา ไม่คอยแล้วนะคะ ปรากฏว่า ผ่านไปสัก 3 ปีหลังจากนั้น พรรษาที่ 12-13 โยมเขาก็แต่งงานไป”



ไม่กล้าให้คำมั่น จะบวชตลอดชีวิตหรือไม่?

“พอเราได้ตัดสินใจที่จะคิดอยู่ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รู้สึกว่า จะอยู่ได้ตลอดชีวิตหรือเปล่า ไม่เคยกล้าอธิษฐานว่า จะอยู่ตลอดชีวิต ขอทำแค่ปัจจุบันก่อนแล้วกัน ถึงปัจจุบัน 2563 บวชมาแล้วพรรษาที่ 27”



เปิดที่มาของการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเผยแพร่ธรรมะผ่านเฟซบุ๊ก

“พระอาจารย์ไม่ค่อยชอบโซเชียลมีเดียตอนแรกๆ รู้สึกว่า พระกับอินเทอร์เน็ตเป็นอะไรที่รู้สึกบอบบางมาก ไม่ควรไปแตะเด็ดขาด แต่พอนานเข้า รู้สึกว่า 1.โยมเข้าวัดน้อยจังเลย 2.ถึงจะเข้าวัดมา มือหนึ่งไหว้พระ อีกมือหนึ่งยังเขี่ยโทรศัพท์อยู่ ไม่มองหน้าพระด้วยซ้ำ เลยนึกเล่นๆ ว่า เดี๋ยวเถอะนะ เดี๋ยวฉันจะไปโผล่ให้โยมเห็นอยู่ในนั้นแหละ ชอบมองนักใช่ไหม เลยเกิดนึกขึ้นมาว่า ไหนลองทำเป็นธรรมะลงไปซิ”


ทุกเช้า สิ่งหนึ่งที่พระอาจารย์ศักดาจะทำสม่ำเสมอ ก็คือ ผลิตคลิปวิดีโอง่ายๆ ที่ให้ข้อคิดหลักธรรมและแรงบันดาลใจด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำและตัดต่อเพียง 10 นาทีก็เรียบร้อย พร้อมเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ก่อนออกบิณฑบาต


ถ้าพระนิพพานคือบันได 10 ขั้น ขอเป็น “ขั้นที่ 1” ให้ทุกคนเหยียบขึ้นไป

“(ถาม-มีหลักในการนำสิ่งรอบตัวมานำเสนอเป็นคำสอนอย่างไร?) อย่างแรกเลย วัตถุดิบ เราต้องแม่นพอสมควรว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร บวกกับเราที่ต้องมองโลกให้เห็นว่า ปัจจุบันโลกกำลังคุยเรื่องอะไรกันอยู่ ทุกคนเปิดทีวีมา กำลังคุยเรื่องนี้กันหมดเลย นี่แหละเขากำลังต้องการกินอาหารมื้อนี้ แต่เราจะปรุงออกมายังไงให้เขาอร่อยลิ้นที่สุด
แต่จะไม่อร่อยแบบว่า โยมตอนนี้กำลังคุยกันถึงเรื่องนี้ใช่ไหม ไอ้คนนี้มันอย่างนั้นๆ อร่อยลิ้นเขา แต่มันเป็นโทษกับเขา เขากำลังเป็นเบาหวาน เป็นมะเร็งอารมณ์ แต่พระอาจารย์ต้องปรุงให้เขาถูกลิ้นด้วย และไม่เป็นโทษกับเขาด้วย ถ้าหากพระนิพพานคือบันไดขั้นที่ 10 พระอาจารย์ขอเป็นบันไดขั้นที่ 1 ขอให้คุณขึ้นไปเหยียบยืนสัก 1 ขั้น 2 ขั้น
แล้วเดี๋ยวคุณก็ไปหาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแบบสายวิปัสสนา เพื่อความหลุดพ้นไปเลย แต่มันจำเป็นต้องมีขั้น 1-2 จริงๆ นะ”



หลายคนตั้งคำถาม พระเล่นเฟซบุ๊ก ผิดวินัยหรือไม่?

“การใช้เฟซบุ๊กมันก็เหมือนกับการสื่อสารกับโลกข้างนอก เราออกไปโลกข้างนอก แล้วก็มีโลกข้างนอกมาให้เราเห็นด้วย ก็คือเรื่องของคนอื่นที่เขาโพสต์ลงมา และสิ่งที่เราโพสต์ออกไป มันก็ไม่ต่างจากการที่เราเดินจากจุดนี้ถึงจุดโน้น เราต้องเห็นสิ่งที่อยู่รอบข้างแน่นอน และสิ่งที่อยู่รอบข้างเขาก็พร้อมที่จะให้เราเห็นเรื่องของเขาแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่พระใช้เฟซบุ๊ก ถ้าพระใช้เฟซบุ๊กไม่ได้ พระก็ไม่ควรจะเดินไปที่ไหนในโลกนี้ เพราะการเดินไปในโลกนี้
มันก็เห็นสิ่งที่อยู่รอบข้างเหมือนกัน การใช้เฟซบุ๊กเข้าไป มันก็เห็นสิ่งที่อยู่รอบข้างเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังเดินไป เราเลือกที่จะไม่มองสิ่งที่คนกำลังด่าเราตรงนี้ไหม เราเลือกที่จะไม่มองสิ่งที่จะทำให้เราเกิดราคะไหม
ทำให้เกิดความกำหนัดจากการมองสองข้างทาง เฟซบุ๊กก็เหมือนกัน เมื่อเราหลบเลี่ยงได้ที่จะไม่เข้าไปดูแพลตฟอร์มที่เขากำลังนำเสนอสิ่งที่ทำให้เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดความคิดหงุดหงิดของเรา พระอาจารย์จึงไม่ตอบคอมเม้นท์ใคร พระอาจารย์จึงไม่โต้ตอบกับใคร ขอนำเสนอทางเดียวคือ ฉันมีหน้าที่แค่ถ่ายเสร็จ ฉันโพสต์”



ยอมรับ ปัจจุบันเหนื่อยกับการเดินทาง เพราะมีกิจนิมนต์ปีละประมาณ 900 ที่!

“วันหนึ่งมีกิจนิมนต์ประมาณ 3 ที่ เช้าที่หนึ่ง บ่ายที่หนึ่ง กลางคืนที่หนึ่ง ปีหนึ่งประมาณ 900 ที่ ที่ต้องไป ถ้าอยู่ใกล้กัน คงไม่เท่าไหร่ แต่บางทีไกลกันเหลือเกิน ที่หนึ่งตอนเช้าอยู่หาดใหญ่ สงขลา ตอนบ่ายอยู่เชียงใหม่ กลางคืนอยู่อุดรฯ ซึ่งพระอาจารย์รู้สึกเหนื่อยกับการนั่งเครื่องบิน 20 กว่าเที่ยว เยอะเหลือเกิน แต่โยมนิมนต์แล้ว เราจะทำยังไงดี ตอนนี้พยายามลดงานข้างนอกลง แต่พระอาจารย์ก็ไม่ทิ้งงานภาวนานะ นั่งรถไป เราก็สามารถกำหนดพุทโธ อยู่กับลมหายใจของเราได้นะ ถ้าเรารู้สึกว่าวัดอยู่ทุกที่”


บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ สงเคราะห์ผู้ป่วย-ผู้ยากไร้!

“พระอาจารย์เห็นว่า เป็นกิจกรรมที่ควรสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นงานสาธารณสงเคราะห์ที่สงฆ์ต้องสงเคราะห์ เพราะของที่เราบิณฑบาตได้มาแต่ละวัน มาจากมือของคนที่มั่งมี เมื่อมาอยู่กับมือเรา มันก็ถ่ายโอนไปสู่คนที่ไม่มี
จากคนที่มั่งมีไปสู่คนที่ไม่มี ถ้ามาถึงมือเรา แล้วเรากักไว้เก็บไว้ ตุนไว้ ความมั่งมีของคนมันก็ไปสู่คนไม่มีไม่ได้ ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งว่า ถ้าอย่างนั้นเราเป็นคนเจ้าโทสะ เราก็ต้องฝึกตัวเองให้เป็นคนมีเมตตา เมื่อได้ของมาปุ๊บ เราต้องรีบถ่ายโอนไปให้คนอื่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นการฝึกตัวเองจริงๆ”



หากมองถึงอนาคต พระอาจารย์ศักดายืนยันว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด พร้อมใช้ความถนัดที่มี ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป


“พระอาจารย์ก็จะเป็นอย่างนี้ไปจนถึงอนาคต เพียงแต่เมื่อวัยเปลี่ยนไป หรือรูปแบบชีวิตเปลี่ยนไป เหมือนกับถนัดเรื่องการพรีเซ็นต์หรือนำเสนอไปแล้ว เราก็อาศัยการที่เราถนัดนี่แหละทำงานให้ประโยชน์คนอื่นไปด้วย จุดประสงค์ก็เพื่อพยายามหาวิธีลดกิเลสในตัวเรา เพียงแต่เรามีวิธีของเราแบบนี้”


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์NEWS1 ( IPM ช่อง64 / PSI ช่อง211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือ ยูทูบ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos












กำลังโหลดความคิดเห็น