xs
xsm
sm
md
lg

ต่อให้ร่าง “ยุทธศาสตร์” สมช.จะดีสักแค่ไหน หากแต่ผู้นำไม่เอาไปปฏิบัติจริง “ภัยแทรกซ้อน” จชต.ก็จะยังคงอยู่

เผยแพร่:



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้/ โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก

เมื่อไม่นานมานี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ (สมช.) ได้มีการจัดประชุมเพื่อหารือ รับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างนโยบายการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ก่อนที่จะนำเสนอรัฐสภา เพื่อใช้ในการเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา และแก้ปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมโรงแรมซีเอสปัตตานี

ซึ่ง “ร่างนโยบาย” หรือ “ยุทธศาสตร์” ที่ สมช.นำมาเสนอเพื่อให้เกิดการวิพากษ์ในครั้งนี้ ก็ยังยึดแนวเดิมๆ โดยมีการเพิ่มอะไรต่อมิอะไรเข้ามาไม่มากนัก เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่มีการพัฒนา หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เหตุผลที่ร่างนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ความมั่นคงำไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก อาจจะเป็นเพราะปัญหาของ “ไฟใต้” ที่เกิดขึ้นยังอยู่ใน “วังวน” เดิมๆ เช่นเดียวกับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาก็ยังยึดโยงอยู่กับปัจจัยเดิมๆ และเพิ่งจะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา

เช่น เรื่องของพืชเศรษฐกิจกิจใหม่ อย่าง ไผ่ กาแฟ และโกโก้ เพื่อเป็นทางเลือกของการทำสวนยางพารา ที่วันนี้มองอย่างไรก็ยังไม่มีท่าทีว่าราคาจะดีขึ้น เรื่องของเมืองต้นแบบที่ 1, 2, 3 ซึ่งมีความก้าวหน้า หลังจากที่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้เข้ามาขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ และที่อาจจะใหม่หน่อยคือ “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน ที่หากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำได้สำเร็จ และไม่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงจาก “เอ็นจีโอ” และไม่มีการผสมโรงในการ “คัดค้าน” จาก “ปีกทางการเมือง” ของขบวนการ “บีอาร์เอ็น” เกิดขึ้น ก็จะเห็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หลายประเด็นที่ผู้เข้าร่วมวิพากษ์ร่าง หรือยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือการแก้ปัญหาความมั่นคง ยังพบว่าเป็นปัญหาเดิมๆ ตั้งแต่เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความยากจน สุขอนามัย ความขัดแย้งทางความคิดเห็น เรื่องศาสนา การสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เรื่องของความไม่ปลอดภัย และความมั่นคงที่เป็นงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

โดยเฉพาะในเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ที่ยังเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังแก้ไม่ตก ทั้งที่เรื่องของภัยแทรกซ้อนที่อยู่ในร่างฉบับนี้ ก็ไม่มีอะไรที่ใหม่ ยังเป็นภัยในรูปแบบเดิมๆ คือพูดถึงปัญหายาเสพติด ปัญหาธุรกิจข้ามชาติ การค้ามนุษย์ น้ำมันเถื่อน และของหนีภาษี เป็นต้น

โดยข้อเท็จจริงของภัยแทรกซ้อนที่กล่าวถึง ที่สามารถดำรงอยู่ได้ยาวนาน ล้วนแล้วแต่มาจากเรื่องของผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น การแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อนจึงต้องแก้ที่ต้นตอ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ ต้นตอที่หล่อเลี้ยงภัยแทรกซ้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงอยู่ คือ หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต่างหาประโยชน์จากธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น น้ำมันเถื่อน เข้ามาได้เพราะมีการจ่ายส่วยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ยาเสพติดที่ดำรงอยู่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ค้า เช่นเดียวกับการทำผิดกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่หมดไปจากพื้นที่ ล้วนมาจากเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องเรียกรับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น

ถ้ารู้ต้นตอของปัญหา แต่มาแก้ที่ปลายเหตุ ก็เชื่อว่า สมช.จะยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนา และความมั่นคงอีกกี่ครั้งก็ยังไม่สามารถถอดเรื่องของภัยแทรกซ้อนแบบเดิมๆ เก่าๆ ออกไปได้ เพราะปัจจัยจากเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ยิ่งเป็นชนวนเหตุให้คนทำผิดกฎหมายมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ก็จะเรียกร้องผลประโยชน์มากขึ้นตามมา

โดยข้อเท็จจริง ภัยแทรกซ้อนที่มีผล และมีอันตรายต่อความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ สมช. และหน่วยงานความมั่นคงในประเทศต้องเข้าใจ และเร่งแก้คือองค์กรจากต่างประเทศหลายๆ องค์กร ที่ได้ลงหลักปักแหล่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น องค์กรกาชาดระหว่างประเทศ หรือ “ไอซีอาร์ซี” และ “แพทย์ไร้พรมแดน” ที่มีอันตรายต่อความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งเชื่อว่า สมช.เป็นผู้รู้ปัญหานี้ดีกว่าทุกหน่วยงาน ว่า “ไอซีอาร์ซี” มีอันตรายต่อแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และปฏิบัติการ “รุกล้ำอธิปไตย” ของเราอย่างไร และควรจะจัดการอย่างไรกับปัญหาที่เป็นภัยแทรกซ้อนจากองค์กรต่างประเทศนี้ เพราะหากปล่อยไว้อาจจะมีองค์กรอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

รวมถึงภัยแทรกซ้อนที่คนในพื้นที่จุดขึ้นเอง อย่างการนำเอา “ดุ้นฟืน” ที่ติดไฟในพื้นที่ 3 จังหวัด ออกไป “กวัดแกว่ง” ให้ลุกลามในพื้นที่อื่นๆ จนกำลังกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาเกิดขึ้น จากการที่องค์กรไทยพุทธบางองค์กรได้ดำเนินการอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องติดตามให้ดีว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเอง จากความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐ ในเรื่องการส่งเสริมศาสนาอิสลาม หรือเกิดจากบางองค์กรของประเทศมหาอำนาจเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง

ล่าสุด ส.ส.มุสลิมจากจังหวัดสงขลา ถึงกับตั้ง “กระทู้ถาม” ในสภาผู้แทนราษฎรต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะจัดการอย่างไรกับปัญหาความแตกแยกทางศาสนาที่เกิดขึ้นแล้ว วันนี้เรื่องความแตกแยกทางศาสนาจึงเป็นปัญหาระดับชาติ และหากยังไม่มีการจัดการให้เด็ดขาด ก็จะถูกนำเข้าสู่เวทีของ “ยูเอ็น” และกลายเป็นปัญหาระดับโลก และเมื่อถึงวันนั้นจะมี “ฝรั่ง” กับ “แขก” มาจัดการให้เรา เพื่อที่จะให้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา

เพราะอย่าลืมว่า 16 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทูตของประเทศตะวันตกทุกคนที่เดินทางมาติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถามเหมือนกันคือ ปัญหาของไฟใต้เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนาใช่หรือไม่ และสาเหตุหนึ่งที่ “ไอซีอาร์ซี” พยายาม “ดื้อตาใส” ไม่ยอมถอยออกจากพื้นที่ จ.ปัตตานี เป็นเพราะมองเห็นแล้วว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะเดินไปสู่ความขัดแย้งเรื่องศาสนา จึงปักหลักรอการ “สุกงอม” ของปัญหา เพื่อที่จะให้เข้าทางขององค์กรของต่างชาติ

จุดอ่อนอีกประเด็นหนึ่งที่ร่างของ สมช.ยังต้องมีอยู่ คือเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่ง สมช.ให้น้ำหนัก และมองภาพชัด โดยเฉพาะในอนาคตที่ “สื่อ” และ “สาร” เป็นเรื่องที่รวดเร็ว รุนแรง ซึ่งหากไม่มีการตั้งรับ หรือการเปิดแนวรุกที่ถูกต้อง จะยิ่งนำพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น

แต่โดยข้อเท็จจริง ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบในเรื่องการสื่อสาร การสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน เพราะแม้แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ยอมรับว่า ทุกวันนี้การสื่อสารทำความเข้าใจ เป็นเพียง “หนังหน้าไฟ” ไม่ใช่ “เจ้าภาพ” ที่แท้จริง และงบประมาณก็ไม่ได้ “มหาศาล” อย่างที่คิด และแม้แต่ ศอ.บต.เอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในมิติของการพัฒนา ก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการสื่อสารสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงๆ จังๆ ในขณะที่ฝ่ายปกครองทุกระดับในพื้นที่ ไม่เคย “กระดิกหู” กับเรื่องของการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใน ว่ามีความสำคัญต่อสถานการณ์ความไม่สงบอย่างไร

ที่สำคัญหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ ซึ่งถึงแม้จะมีสถานะเป็นแค่หนังหน้าไฟก็จริง แต่ก็ไม่มียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องที่จะทำการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ปกติธรรมดา ที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของไฟใต้มากมายนัก เช่น “โอไอซี” หรือองค์กรมุสลิมโลก ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกปี แต่สิ่งที่เราได้รับคือคำชมจากโอไอซี ว่าเราจัดการกับปัญหาไฟใต้ได้ดี แต่โอไอซีไม่เคยเอ่ยปากประณามบีอาร์เอ็นว่าเป็นคนร้ายที่เข่นฆ่าคนกว่า 7,000 คน ว่าเป็นคนผิดที่สมควรได้รับการสาปแช่ง และโอไอซีก็ไม่เคยมีแนวคิดที่จะทำความเข้าใจกับบีอาร์เอ็น ในฐานะที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน เพื่อให้หยุดทำในสิ่งที่ผิดบาป ทั้งทางโลกและทางศาสนา

แล้วกับสถานการณ์ไฟใต้ เราสร้างความเข้าใจตรงไหนกับประชาชน แนวร่วมที่ต่อสู้เจ้าหน้าที่ และถูกวิสามัญ กลายเป็น “วีรบุรุษ” มีการแห่ศพว่าเป็นผู้ “พลีชีพ” เพื่อพระเจ้า แทนที่จะเป็นคนร้าย และที่สำคัญแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นสังคมที่มีแต่ “มือล่าง” แต่ไม่เคยมี “มือบน” ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยมีการสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง และแท้จริงใช่หรือไม่

โดยรวมร่างหรือ “ยุทธศาสตร์” ที่นำเสนอโดย สมช. เนื้อหาสอดรับกับสถานการณ์ของไฟใต้ แต่ปัญหาของ สมช.คือเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ แต่ผู้นำไปปฏิบัติเป็นหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งมากมายหลายหน่วย ถ้าแต่ละหน่วยนำเอาไปปฏิบัติจริง ปัญหาก็จะเบาบางลง แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ ยุทธศาสตร์ของ สมช.ก็เป็นได้แค่ “ตำรา” ที่วางอยู่บนหิ้ง เพื่อรอให้ฝุ่นจับเท่านั้นเอง

แต่ที่น่าน้อยใจแทน สมช. คือหน่วยงานนี้ถูก “การเมือง” ไม่ให้ความสำคัญเหมือนในอดีต ที่มีความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ของความมั่นคงของประเทศ แต่วันนี้แม้แต่ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ซึ่งเป็นผู้นำหน่วยเบอร์ 1 ก็ยังถูกการเมืองยัดเยียด “นายพล” ที่อกหักจากการโยกย้าย ให้มาเป็นเบอร์ 1 ของ สมช. ทั้งที่เจ้าตัวก็ไม่เต็มใจ หรือการเมืองไม่เข้าใจว่า สมช.อ่านว่า “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” การจะเอาใครเข้ามาเป็นเบอร์ 1 ต้องมีการคัดเลือกคนที่มีความรู้ ความสามารถ เพราะ สมช.เป็น “เสาหลัก” ของการทำยุทธศาสตร์ความมั่นคง

ดังนั้น อย่าได้ซ้ำร้อยในอดีตที่ “ขุนทหาร” บางคนบอกว่า “ถ้าสุไม่เอาก็ให้เต้” เพราะนี่คือ “ตรรกะ” ที่พาให้บ้านเมือง “วิบัติ” มานักต่อนักแล้ว และโปรดเข้าใจเสียใหม่ว่า สมช.อ่านว่า “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมือง ในเก้าอี้ตำแหน่ง “ผู้นำ” ให้แก่ใครบางคน!
กำลังโหลดความคิดเห็น