xs
xsm
sm
md
lg

ถูกใจตรงสเปกลุงเขาล่ะ เบื้องหลังดัน “อาคม” เป็น “ขุนคลัง” ตอกย้ำรัฐราชการเป็นใหญ่ ** โพลก็คือโพล คนค้านมากกว่าหนุน “เพื่อไทย” ร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์” แต่โลกความเป็นจริง อยู่ที่ “เจ้าของพรรค” ตัดสินใจ

เผยแพร่:


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ-คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร-สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ข่าวปนคน คนปนข่าว



**ถูกใจตรงสเปกลุงเขาล่ะ เบื้องหลัง ดันอาคมเป็นขุนคลัง ตอกย้ำ รัฐราชการเป็นใหญ่-สภาพัฒน์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นาทีนี้เชื่อกันว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ว่างมาระยะหนึ่งจากที่ “ปรีดี ดาวฉาย” โบกมือลาไป ก็ปรากฏชื่อ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คมนาคม สมัย คสช. คือ คนที่น่าจะเข้ามาแทนที่

เหตุผลที่ทำไม “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เลือก “อาคม” นี่ต้องบอกว่า หนึ่งนั้น “อาคม” ถือเป็นหนึ่งในคนใกล้ชิด “ลุงตู่” มานาน อาจจะเรียกว่า เป็น “คนในบ้าน” ที่รู้มือ รู้ใจกันอย่างยิ่ง

สอง นี่คือเหตุผลสำคัญเลยทีเดียว ถ้าดูจากโปรไฟล์ และประวัติการทำงาน เส้นทางของ “อาคม” เกือบทั้งชีวิตนั้น รับราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ “ลุงตู่” ปลื้มนักปลื้มหนา

เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ, เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผน จากนั้นไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สศช., รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2553 ตามลำดับ ก่อนที่จะขึ้นเป็น รมว.คมนาคม ต่อจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

จะเห็นว่า หลังจากการลาออกของทีมเศรษฐกิจที่นำโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และ “สี่กุมาร” ความที่ ลุงตู่ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง ซึ่งนิยมระบบ “รัฐราชการ” เป็นใหญ่ ชื่นชอบใช้กลไกราชการบริหารงานประเทศ วางน้ำหนักและให้บทบาทสภาพัฒน์ เป็นตัวขับเคลื่อนนั่น การดึง “อาคม” ที่เคยเป็นอดีตเลขาสภาพัฒน์เข้ามาคุมคลัง และอาจจะได้รับมอบหมายดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด... “อาคม” จึงเป็นขุนคลังในสเปกที่ลุงถูกใจ ใช่เลย

ในความเชื่อมั่นของลุง น่าจะมองว่า “อาคม” มีความเข้าใจในพื้นฐานของรัฐบาลอยู่แล้ว เข้ามาก็จะทำงานได้ทันที ยิ่งประสานกับสภาพัฒน์ ก็น่าจะลงตัวไร้รอยต่อ เพราะเติบโตมากับสภาพัฒน์

ดูๆ แล้วอาคมจะเป็นทีมเวิร์ก “รัฐราชการ” ให้ลุงตู่ได้แบบไร้ที่ติ !!

นอกจากนั้น การทำงานร่วมกับคีย์แมนรัฐบาลปัจจุบัน รองนายกฯเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน อย่าง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ก็น่าจะไม่มีปัญหาเช่นกัน เพราะก็ต่างเป็น “คนใกล้ชิด” ทำงานกับลุงมาด้วยกัน

ขณะที่ หาก “อาคม” เข้ารับหน้าที่ รมว.คลัง ก็จะเป็นการหวนกลับมาร่วมงานประสานกับ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีต รมช.คมนาคม อีกครั้ง ในฐานะที่ ไพรินทร์ เป็นมือไม้ให้นายกฯ ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ใน ศบศ.

ว่ากันว่า ที่จะต้องจับตาและอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ก็คงอยู่ที่คนการเมืองเขี้ยวลากดิน “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง ที่ออกตัวว่า “พร้อมมาก” ก่อนหน้านี้ว่า จะมีลองเชิง ลองของ กันอยู่หรือไม่ เหมือนๆ ที่ “อุตตม สาวนายน” และ “ปรีดี ดาวฉาย” เคยเจอกันมาแล้ว

และที่จะถูกจับตาอีกอย่างว่า จะเป็นปัญหาหรือไม่ คือ สไตล์การทำงานของอาคมเอง!!

ต้องไม่ลืมว่า สไตล์ของอาคม สมัยที่อยู่คมนาคม รับรู้กันว่าเป็นสไตล์ข้าราชการขนานแท้ เป็นแบบฉบับของคน “สภาพัฒน์” แท้ๆ ที่ให้ความสำคัญกับหลักการและกรอบความคิดที่ติดยึดระเบียบราชการจนบางครั้ง “ไม่กล้าตัดสินใจ” ส่งผลให้งานล่าช้า โครงการใหญ่ไม่เกิด หรือไม่ทันใจฝ่ายการเมือง

สรุปว่า ชั่วโมงนี้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ถือเป็นคนที่ตรงสเปกของ “ลุงตู่” ที่จะเลือกให้เป็น รมว.คลังคนใหม่ เหนือตัวเลือกอื่นๆ ที่เคยปรากฏเป็นข่าวมา

ส่วน “อาคม” จะเป็นขุนคลังที่มากฝีมือ เข้ามาแล่วช่วยแก้ปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตามที่ประชาชนหวัง หรือจะเป็นแค่ตัวขับเคลื่อนรัฐราชการ ที่ไม่ทันการณ์ของลุง อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป



**โพลก็คือโพล คนค้านมากกว่าหนุน “เพื่อไทย” ร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์” แต่โลกความเป็นจริง อยู่ที่ “เจ้าของพรรค” จะตัดสินใจ

ผลสำรวจความเห็นประชาชน เรื่อง “ความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทย” โดยนิด้าโพล ที่เปิดเผยออกมาเมื่อวาน (4 ต.ค.) สะท้อนมุมมองที่หลากหลายต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน “พรรคเพื่อไทย” หลังจาก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พร้อมแกนนำคนสำคัญหลายคนไทยพรรค และ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ลาออกจากหัวหน้าพรรคก่อนได้รับเลือกเข้ามาเป็นหัวหน้าอีกรอบ ซึ่งผู้ตอบคำถาม ร้อยละ 37.16 มองว่า เป็นแค่การปรับเปลี่ยนทั่วๆ ไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ร้อยละ 19.30 เห็นว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า อาจมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้ ร้อยละ 9.27 เชื่อว่า เป็นกลลวงทางการเมืองของพรรค ในการเอาชนะรัฐบาล ร้อยละ 8.36 เห็นว่า คนใน “ตระกูลชินวัตร” จะเข้ามาควบคุมพรรคเอง ร้อยละ 7.14 ระบุว่า เป็นสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะแตก ร้อยละ 6.00 มองว่า พรรคเพื่อไทยกำลังมีข้อตกลงปรองดองกับรัฐบาล ร้อยละ 4.71 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ร้อยละ 3.65 เห็นว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าพรรคฯ ไม่สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

...ส่วนความเห็นต่อการที่พรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาล “ลุงตู่” พบว่า มีผู้ที่เห็นด้วยมาก แค่ร้อยละ 15.88 เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และจะได้ช่วยบริหารประเทศให้ดีขึ้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์การทำงานการเมืองมานาน ขณะที่ ร้อยละ 16.41 ค่อนข้างเห็นด้วย เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง สร้างการปรองดอง สามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ ส่วนร้อยละ 16.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีแนวทางการทำงานทางการเมืองไม่เหมือนกัน มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ทำงานร่วมกันได้ค่อนข้างยาก และ “กลุ่มใหญ่สุด ร้อยละ 49.09 ไม่เห็นด้วยเลย” เพราะแนวคิดจุดยืนทางการเมือง การทำงานมีความแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเข้าร่วมอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้
...ประเด็นสุดท้าย เมื่อถามความเห็นหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พบว่า ร้อยละ 24.09 เห็นด้วยมาก เพราะจะได้มีการแก้ไขปัญหา พัฒนา เปลี่ยนแปลงการเมืองไทยร่วมกัน ร้อยละ 22.11 ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะจะได้มีการบริหารจัดการปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนายกฯ บ้าง ร้อยละ 14.51 ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยาก ขณะที่บางส่วนยังต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป และ “กลุ่มใหญ่สุด ร้อยละ 37.54 ไม่เห็นด้วยเลย” เพราะแนวทางการทำงาน อุดมการณ์แตกต่างกัน ต้องการให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคอื่นร่วม เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของพรรคอย่างชัดเจน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

จะเห็นว่า จากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” คนส่วนใหญ่ยังคัดค้านมากกว่าสนับสนุน หากพรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่จากปรากฏการณ์ “กราบสะเทือนแผ่นดิน” ของ “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ณ ป้อมเพ็ชร เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ตามมาด้วยการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของพรรค ที่ “คุณหญิงหน่อย” และแกนนำพรรคในก๊วนเดียวกัน ลาออกจากกรรมการยุทธศาสตร์และกรรมการบริหารพรรค จนนำไปสู่การเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” กลับมาเป็นหัวหน้าตามเดิม แต่ได้ “ประเสริฐ จันทร์รวงทอง” มาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ แทน “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ที่ลาออกตามคุณหญิงสุดารัตน์นั้น เป็นสัญญาณถึงการแต่งตัวรอเข้าร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ยิ่งมีกระแสข่าวความไม่พอใจของผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ ต่อพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ในหลายๆ เรื่อง รวมความเป็นจริงที่ว่า คนในพรรคพลังประชารัฐ ก็มี “ดีเอ็นเอ” ของพรรคเพื่อไทยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่พรรคเพื่อไทย จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพียงแค่รอเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสมเท่านั้น

ส่วนโพลที่บอกว่ามีคนค้านมากกว่าคนสนับสนุนให้ 2 พรรคนี้ร่วมรัฐบาลกัน ก็ปล่อยเป็นเรื่องของโพล จะเอานิยายอะไรกับผลสำรวจความเห็นคนแค่ 1,300 กว่าคน และนั่นก็เป็นความเห็นของบรรดากองเชียร์ หรือ “ติ่ง” ของแต่ละฝ่ายเท่านั้น แต่ในโลกของความเป็นจริง การที่แต่ละพรรคจะร่วมรัฐบาลกัน มันอยู่ที่ “เจ้าของพรรคตัวจริง” ของแต่ละพรรคจะตัดสินใจ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น