ศูนย์ปฏิบัติการทางทะเลฯ ที่ 4 เผยภาพแปลกตา น้ำทะเลรอบเกาะช้างเปลี่ยนเป็นสีเขียว ระบุเกิดจากปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ อาจมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเล แต่ไม่มีผลต่อคนมาก ยกเว้นผู้ที่แพ้ง่าย
ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จังหวัดตราด เผยภาพแปลกตา น้ำทะเลบริเวณเกาะช้าง จ.ตราด เปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีเขียว ระบุมาจากปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ โดย ศูนย์ฯ ดังกล่าวได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจของศูนย์ ดังนี้
28 ตุลาคม เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬบริเวณรอบเกาะช้าง มอเห็นเป็นตะกอนสีเขียว แต่ไม่ต้องตกใจ อาจมีผลต่อสัตว์ทะเล ไม่มีผลต่อคนมากนักยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ง่าย แต่นั่งดูเพลินๆ ไม่มีอันตราย
สำหรับ “ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ” หรือ Red Tide เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในท้องทะเลทั่วไปทั่วทุกมุมโลก
สาเหตุของปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ เกิดจากการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ของสาหร่ายเซลล์เดียวจำพวก “แพลงก์ตอนพืช” ในบริเวณทะเลแถบนั้น ซึ่งมีอีกหนึ่งชื่อเรียกขานว่า “แพลงก์ตอนบลูม”
แพลงก์ตอนบลูม เมื่อเกิดขึ้น จะทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี ซึ่งโดยปกติจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือเขียว แต่บางครั้งก็อาจเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีม่วง
อย่างไรก็ดี การเกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ บางครั้งอาจเกี่ยวข้องกับผลผลิตของชีวพิษ การขาดแคลนของออกซิเจนละลาย หรือผลกระทบเชิงลบอื่น ๆ
ทั้งหมดนี้โดยปกติแล้วจะเรียกว่า สาหร่ายสะพรั่งที่มีความอันตราย ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดจากปรากฏการณ์นี้เกี่ยวข้องกับอัตราการตายของสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ อย่างที่อาศัยอยู่ในทะเลรวมไปถึงแนวชายหาด เช่น ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
ด้วยเหตุนี้ทาง ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จังหวัดตราด จึงออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับแฟนเพจว่า การเกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ทั้งขาดอากาศ และเป็นพิษ แต่จากขนาดที่เกิดขึ้นที่ทะเลเกาะช้าง ดูเหมือนยังกินบริเวณไม่กว้างมาก ทำให้สัตว์ทะเลอาจหลบหนี หรือ ได้รับผลกระทบไม่นานจนถึงขนาดเสียชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ทางศูนย์ฯ กำลังทำการติดตามผลต่อไป