xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทสหรัฐอเมริกากับการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



อ.สมชัย แสนภูมี
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเข้าสู่สภาวะสงครามเย็นระหว่างขั้วอำนาจเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทมีต่อประเทศโลกที่ 3 มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค สหรัฐอเมริกาจึงนำกองทัพเข้าไปประจำการในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยตามแนวทางแบบ Hard power เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายของอุดมการณ์และทำสงครามจิตวิทยากับคอมมิวนิสต์และส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น CIA, United States Information Service (USIS) และอื่น ๆ ร่วมกับการใช้ Soft power โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยต่างๆเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในไทย ผ่านนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริการ่วมกับนักวิจัยไทย หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง บทบาทของสหรัฐอเมริกาแบบ Hard power เริ่มลดลง แต่ยังคงใช้แนวทางแบบ Soft power เช่น ให้ทุนจำนวนมากสนับสนุนองค์การพัฒนาเอกชนต่าง ๆ สร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังคงให้ความสำคัญและมีบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนอย่างเปิดเผยผ่าน National Endowment for Democracy (NED) และ US Agency for International Development (USAID) โดยเฉพาะองค์การพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทเรียกร้องประชาธิปไตย สื่อออนไลน์ที่สนับสนุนแนวทางเสรีประชาธิปไตย อาทิ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ฮิวแมนไรท์ วอช ประเทศไทย, ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), Asian Network for Free Elections Foundation, The 101 เป็นต้น ซึ่งบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการให้ทุนสนับสนุนองค์กรเหล่านี้นั้นเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย โดยองค์กรต่าง ๆ สามารถแสดงความจำนงเพื่อขอรับเงินสนับสนุนได้ทุกปี แต่อย่างไรก็ตาม การให้ทุนสนับสนุนองค์กรเหล่านี้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมของนักศึกษาในปี 2563 และบทบาทของ iLaw ในการรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามการสำรวดของ NIDA Poll ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นและเชื่อว่าจะทำให้เกิดความมรุนแรงทางการเมืองระหว่างประชาชนด้วยกัน

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมบางอย่าง ดังที่ปรากฎการให้ทุนกับองค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ทุนวิจัยและสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องแก่นักวิชาการไทยผ่านหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ หรือ USAID และโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น