xs
xsm
sm
md
lg

ลดขยะพลาสติก! ปกป้องวาฬ เท่ากับว่าช่วยฮีโร่ลดโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



วันอนุรักษ์วาฬโลก (World Whale Day) ซึ่งตรงกับทุกวันเสาร์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ และในทุกปี “วาฬ” (Whale) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มักถูกกล่าวถึงวิถีการดำเนินชีวิตในบทบาทของฮีโร่ช่วยโลกลดโลกร้อน

เนื่องจากวาฬเพียงหนึ่งตัว สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับต้นไม้จำนวนถึง 1,000 ต้น

ข้อมูลโดยกองทุนเงินตราระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) รายงานเอาไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว “ การช่วยปกป้องปลาวาฬหนึ่งตัวนั้นเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้หลายพันต้นเลยทีเดียว”

วาฬเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพ
วาฬกับคาร์บอนไดออกไซด์

สิ่งสำคัญคือวาฬเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่โตและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะวาฬที่มีขนาดใหญ่ ปกติวาฬจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 60 ปี ซึ่งในช่วงชีวิตหนึ่งจะสามารถสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 33 ตัน ในขณะที่ต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แค่ 0.022 ตันต่อปีเท่านั้น

เมื่อวาฬตายลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้นจะจมลงไปยังก้นมหาสมุทรพร้อมกับร่างของวาฬและถูกเก็บอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายร้อยปี เรียกกลไกนี้ว่า ‘carbon sink’ เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นบรรยากาศได้มีประสิทธิภาพมาก

วาฬกับแพลงก์ตอนพืช
แพลงก์ตอนพืชขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนแหล่งใหญ่ของโลกที่อยู่ในทะเล ถึงแม้จะมีขนาดเล็กแต่ด้วยปริมาณที่มีอยู่ แพลงก์ตอนพืชผลิตออกซิเจนคิดเป็น 50% จากปริมาณออกซิเจนทั้งหมดบนโลก และยังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 37 ล้านล้านตัน คิดเป็น 40% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกผลิตขึ้นอีกด้วย ซึ่ง IMF กล่าวว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับนี้ต้องใช้ต้นไม้ที่เจริญเติบโตเต็มที่ถึง 1.7 ล้านล้านล้านต้นในการดูดซับ คิดเป็นป่าอเมซอนถึง 4 ผืน

นอกจากนี้ วาฬยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนพืชจากพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘Whale pump’
ปกติวาฬใหญ่จะดำน้ำลึกเพื่อหาอาหารและจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ของเสียเหล่านี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชทั้งธาตุเหล็กและไนโตรเจน ทำให้แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตได้ดี

อีกเหตุผลคือ วาฬเป็นสัตว์อพยพ ย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลทำให้สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรได้ไกล ส่งผลให้การกระจายสารอาหารเป็นไปอย่างทั่วถึงกินบริเวณกว้าง
IMF ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนพืชเพียง 1% จากปริมาณทั้งหมดที่มีอยู่ จะสามารถเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากหลายร้อยล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับต้นไม้ที่เติบโตเต็มที่ถึง 2 ล้านล้านต้น

เส้นทางการอพยพที่เป็นไปได้ของวาฬหลายๆ ชนิด
วาฬกับการอนุรักษ์
แต่ถึงอย่างนั้นประชากรของวาฬทั่วโลกยังอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ถึงแม้การล่าวาฬเพื่อการค้าจะถูกสั่งห้ามอย่างเป็นทางการในหลายๆประเทศไปตั้งแต่ปี 1986 แต่ยังมีวาฬมากกว่า 1000 ตัวถูกฆ่าในแต่ละปีจากข้อมูลของ World Wildlife Fund (WWF)

นอกจากการล่า วาฬยังเป็นสัตว์ใหญ่ในทะเลที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติกสูง มีรายงานวาฬเกยตื้นเสียชีวิตแล้วผ่าท้องพบขยะพลาสติกอุดตันในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ 1 กิโลกรัมไปจนถึง 40 กิโลกรัม สาเหตุการเสียชีวิตหลักอีกอย่างคือผลกระทบการจากอุตสาหกรรมประมง ไม่ว่าจะเป็นอาการบาดเจ็บเพราะชนเรือหรือติดอวนลากโดยไม่ได้ตั้งใจ

IMF ได้ประมาณมูลค่าของวาฬ 1 ตัวว่ามีค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแค่เฉพาะจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชมวาฬตามแหล่งธรรมชาติ ซึ่งถ้ารวมจำนวนวาฬที่มีทั้งหมดในปัจจุบันจะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งหมดที่กล่าวมา ถ้าเราสามารถเพิ่มปริมาณวาฬวาฬที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 1.3 ล้านตัวให้เป็น 4-5 ล้านตัวได้ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1.7 ล้านล้านตันต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์วาฬตกอยู่ที่ประมาณคนละ 500 บาทต่อปีเท่านั้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.weforum.org/agenda/2019/11/whales-carbon-capture-climate-change/
https://www.imf.org/external/pubs/ft/fandd/2019/12/natures-solution-to-climate-change-chami
https://time.com/5733954/climate-change-whale-trees/
https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/03/whale-dies-88-pounds-plastic-philippines/
https://www.blockdit.com/articles/5dea46312c6ecd39b877fae2/#

IMF ได้ประมาณมูลค่าของวาฬ 1 ตัวว่ามีค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ


CREDIT CLIP : CBC Kids
กำลังโหลดความคิดเห็น