xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เปิดโปรเจกต์ PPP “แลนด์บริดจ์” 1 แสนล้าน ผุด “ท่าเรือ-มอเตอร์เวย์-รถไฟ” เชื่อมชายฝั่งชุุมพร-ระนอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“คมนาคม” ลุยแลนด์บริดจ์ จ้างศึกษาผุดท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนองและชุมพร พร้อมโครงข่ายมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ เชื่อจุดเด่นย่นเวลาขนส่งทางเรือ 2 วันครึ่ง ดันไทยฮับอาเซียน “ศักดิ์สยาม” คาดเปิด PPP 1 แสนล้านบาท เอกชนลงทุนเบ็ดเสร็จ

วันนี้ (1 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่าโครงการนี้จะเป็นการบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือน้ำลึก ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ ฝั่งอันดามัน และท่าเรือชุมพร ฝั่งอ่าวไทย โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยหรือ Smart Port ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบออโตเมชัน รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ตลอดจนวางระบบการขนส่งทางท่อเพื่อก่อสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน ตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ที่ช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน

ทั้งนี้ คาดการณ์วงเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP พัฒนาท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ ส่วนระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา วงเงิน 67.8 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 30 เดือน ซึ่งจะสรุปการศึกษาในปี 2565 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการ จากนั้นจะเป็นการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน PPP ภายในปี 2565 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะลดระยะเวลาในการขนส่งทางเรือจากเส้นทางเดิมที่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกาลงได้ 2 วันครึ่ง และจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งทางน้ำของอาเซียน นอกจากนี้ โครงการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดี และจะส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้เพิ่มจาก 2% ในปัจจุบัน เป็น 10% หลังจากโครงการแล้วเสร็จเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี 
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดียต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 100,000 ลำ/ปี และคาดว่าในปี 2567 การรองรับปริมาณเรือของช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพ โดยคาดการณ์ภายใน 30 ปี หรือในปี 2593 ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า หรือมีประมาณ 400,000 ลำ/ปี

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า หลังจากนี้ต้องลงพื้นที่ศึกษารายละเอียดกำหนดจุดเหมาะสมก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งแนวมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ เพื่อให้กระจายความเจริญตามแนวเส้นทาง ซึ่งมูลค่า 1 แสนล้านบาทนั้นไม่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

“จากการพูดคุยกับทูตหลายประเทศให้ความสนใจโครงการ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีกลุ่มทุนใหญ่ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งหลังจากรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศจะต้องโรดโชว์ แจ้งข้อมูลให้ทูตประเทศต่างๆ ทราบ มั่นใจว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์ จะปรับโฉมการเดินทางและระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของโลก”

สำหรับการศึกษามีขอบเขต ประกอบด้วย 1. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม 2. ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3. จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4. วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน และ 5. สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน






กำลังโหลดความคิดเห็น