xs
xsm
sm
md
lg

สาวกส้มตำควรระวัง! ศูนย์วิจัยโรคปรสิตเตือนทานปูนาดิบ-ส้มตำปูดิบ เสี่ยงพยาธิใบไม้ปอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศูนย์วิจัยโรคปรสิตเผยผลวิจัย ผู้ที่ชื่นชอบส้มตำปูดิบ หรือปูนาดิบ ควรเพิ่มความระมัดระวัง และควรเปลี่ยนไปทานแบบสุก เพราะผลวิจัยชี้พบพยาธิใบไม้ปอดในปูนาดิบ และพบบริเวณมันปูเป็นส่วนใหญ่ พร้อมทิ้งท้ายดิบก็ย่อมเสี่ยงต่ออันตรายกว่า สุกเป็นดี

วันนี้ (10 มี.ค.) เพจ “ศูนย์วิจัยโรคปรสิต Parasitic Disease Research Center” ได้ออกมาเตือนภัยกับผู้คนที่ชอบทานปูนาดิบ โดยระบุข้อมูลว่า “เดือนนึงๆ ท่านกินปูนาดิบบ่อยแค่ไหน ผู้ที่ชื่นชอบส้มตำปูดิบคงต้องระวังมากยิ่งขึ้น มาดูกันว่าปูนามีระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ปอดมากน้อยเท่าไหร่ จากรายงานการสำรวจของอาจารย์พัชรี ครูขยัน และคณะ (2563) ที่นำปูนาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จำนวน 205 ตัว มาตรวจหาตัวอ่อนระยะเมตาเซอร์คาเรีย (ระยะติดต่อ)

โดยผลการสำรวจพบว่า ปูจำนวน 160 ตัว มีระยะติดต่อพยาธิใบไม้ปอด Paragonimus spp. มีความชุกคิดเป็น 78% มีความหนาแน่นเท่ากับ 4.3±3.3 ตัว/ปู 1 ตัว พบในปูทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โดยพบจำนวนมากในปูขนาดใหญ่ และพบบริเวณมันปูเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจคือ ระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ปอดนี้ เป็นพยาธิใบไม้ปอดชนิดใด เพราะในไทยมีหลายชนิด และชนิดที่ก่อโรคในคนไทยที่มีรายงาน คือ Paragonimus heterotremus, P. pseudoheterotremus และ P. westermani
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าดิบๆ ก็ย่อมเสี่ยงต่ออันตรายอยู่แล้ว สุกเป็นดีที่สุด นำมาสื่อต่อ รู้เท่าทัน ตระหนัก แบบไม่ตระหนก เพื่อความปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ life without parasites สนับสนุนให้คนไทยปลอดภัยไร้ปรสิต ติดตามอ่านเพิ่มเติมตามแหล่งข้อมูลข้างล่างจ้า โดยมีเอกสารอ้างอิงพัชรี ครูขยัน และคณะ. การติดเชื้อของตัวอ่อนระยะเมตาเซอร์คาเรียในปูนาจากจังหวัดนนทบุรี วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย”

ทั้งนี้ โรคพยาธิใบไม้ในปอดพบได้ในประเทศแถบภูมิภาคเขตร้อนในทวีปเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย นอกจากนั้น ยังมีรายงานพบในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ ในไทยพบมากในจังหวัดสระบุรี นครนายก และเชียงราย เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาและท้องนา ชาวบ้านมักนิยมจับปูนาและปูภูเขาบริโภคดิบๆ บางรายเอามาดองน้ำส้มหรือน้ำปลาเพียงคืนเดียวแล้วรับประทาน ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในปอดเข้าสู่ร่างกาย

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะอาการคล้ายเป็นวัณโรคของปอด คือ มีอาการไอ โดยเริ่มจากไอเล็กน้อยจนกลายเป็นเรื้อรัง ในระยะแรกผู้ป่วยจะไอมากในตอนเช้า เสมหะมีลักษณะเหนียวสีขาวข้น ต่อมาจะกลายเป็นสีเขียวมากขึ้น ในที่สุดจะมีโลหิตปนออกมากับเสมหะ ถ้าอาการรุนแรงมากจะไอออกมาเป็นโลหิตสดๆ หรือพบพยาธิออกมากับเสมหะ ในรายที่ทำงานหนักผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอก หากหนอนพยาธิเข้าไปในสมองจะมีอาการคล้ายผู้ที่เป็นเนื้องอกในสมอง หรือมีอาการชัก แบบเป็นลมบ้าหมู สายตาจะเห็นผิดปกติไป ถ้าหนอนพยาธิอยู่บริเวณใต้ผิวหนังจะทำให้มีอาการบวมเคลื่อนที่คล้ายกับเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด


กำลังโหลดความคิดเห็น