xs
xsm
sm
md
lg

กะเหรี่ยง KNU โวยทัพพม่าโจมตีทางอากาศ ทำ ปชช.หนีตายกว่า 1.2 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงหลายร้อยคนหนีการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.
กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ เคเอ็นยู ประณามกองทัพพม่าใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ พร้อมเผยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของฝ่ายทหาร ทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์และปราศจากอาวุธต้องพลัดที่อยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 12,000 คน

ปลายเดือนที่แล้ว กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูได้บุกยึดฐานทัพแห่งหนึ่งของพม่าในรัฐกะเหรี่ยง และสังหารทหารพม่าไป 10 นาย นำมาซึ่งปฏิบัติการโจมตีตอบโต้จากฝั่งกองทัพ

กะเหรี่ยงเคเอ็นยูออกมาประกาศจุดยืนต่อต้านกองทัพพม่าที่ยึดอำนาจไปจากรัฐบาลพลเรือนของ อองซาน ซูจี เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว พร้อมระบุว่าได้ให้ที่พักพิงแก่นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารหลายร้อยคน

ล่าสุด วันนี้ (3) เคเอ็นยูได้ออกคำแถลงประณาม “การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ด้วยการทิ้งระเบิดและโจมตีทางอากาศอย่างไม่หยุดหย่อน” ตั้งแต่วันที่ 27-30 มี.ค. ซึ่งเป็นเหตุให้พลเรือนและเด็กจำนวนมากเสียชีวิต

“การโจมตีทางอากาศยังทำให้ประชาชนกว่า 12,000 คน ต้องอพยพหนีตายออกจากหมู่บ้าน และกำลังก่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่”

ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารพม่า ยืนยันว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศพุ่งเป้าอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่กองพลน้อยที่ 5 ของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งบุกยึดฐานทัพและสังหารทหารพม่าก่อน

“เรามีการโจมตีแค่เพียงวันเดียว” เขายืนยันกับเอเอฟพี “เราได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) แล้ว หากพวกเขายอมทำตามข้อตกลงนี้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเกิดความขัดแย้งกันอีก”

สื่อของชาวกะเหรี่ยงและนักสิทธิมนุษยชนรายงานว่า กองทัพมีการทิ้งระเบิดและโจมตีทางอากาศหลายต่อหลายครั้งทั่วพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ชาวกะเหรี่ยงประมาณ 3,000 คน ข้ามแม่น้ำสาละวินหนีตายมายังฝั่งไทยเมื่อวันจันทร์ (29 มี.ค.) ทว่า ส่วนใหญ่เดินทางกลับไปยังฝั่งพม่าแล้วตั้งแต่วันพุธ (32) โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยืนยันว่าเป็นการส่งกลับแบบ “สมัครใจ”

สถานการณ์ความวุ่นวายในพม่าเริ่มขึ้นหลังจากกองทัพ ซึ่งนำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกาศยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 1 ก.พ. จนทำให้ประชาชนลุกฮือต่อต้านและเรียกร้องให้ทหารคืนสิทธิ์ในการบริหารบ้านเมืองให้แก่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพม่าถูกปิดกั้นแทบทุกทาง โดยกองทัพได้ปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, สัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมถึงตัดอินเทอร์เน็ตในเวลากลางคืนจนถึงช่วงสายมาเป็นระยะเวลาเกือบ 50 วันแล้ว

พื้นที่ชายแดนพม่าส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุมของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ ที่จับอาวุธต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการปกครองตนเองมานาน

เขตอิทธิพลของกองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independent Army : KIA) ทางตอนเหนือของพม่าก็เริ่มมีกิจกรรมทางทหารเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่วันมานี้

ที่มา: เอเอฟพี






กำลังโหลดความคิดเห็น