xs
xsm
sm
md
lg

‘หมอจุฬาฯ’ กระทุ้งรัฐต้องบอกความจริง ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ไทยได้แค่ 62%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ชัดเจน ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ ย่านทองหล่อ สายพันธุ์อังกฤษ หลุดจาก State Quarantine ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ไขข้อข้องใจถึงประสิทธิภาพ 2 วัคซีนโควิด-19 ในไทย ตัวหนึ่งฉีดไปแล้ว ป้องกันการติดเชื้อได้แค่ 2% อีกตัวไม่ปรากฏข้อมูล ขณะที่ทั่วโลกเน้นสรรพคุณวัคซีน คือ ป้องกันการติดเชื้อได้ ชี้วัคซีนสรรพคุณดีทั้งตัวป้องกันติดเชื้อได้ 90% ขึ้นไป แต่ไทยไม่เลือกใช้ ระบุ 3 สายพันธุ์ที่จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรง คือ อังกฤษ B.1.1.7 แอฟริกาใต้ และบราซิล แนะรัฐบอกความจริงสรรพคุณวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้ตระหนักป้องกันการระบาดรุนแรง!

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีต้นตอมาจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ จนเกิดเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ (Super Spreader) เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงแล้วว่า เชื้อสายพันธุ์นี้เข้ามาระบาดในไทยได้น่าจะเกิดจากการหลุดรอดจากสถานกักกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งแม้จะมีการกักตัวครบ 14 วันแล้ว แต่ผู้ติดเชื้อบางคนไม่มีการแสดงอาการใดๆ และกว่าเชื้อจะฟักตัวก็พ้น 14 วันแล้ว ทำให้เชื้อมีโอกาสหลุดรอดและแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้

 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่สำคัญ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ยืนยันสายพันธุ์ที่พบในการระบาดขณะนี้ของสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่จะทำให้เกิดการระบาดได้รวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ปกติ 1.7 เท่า

อีกทั้งคนไทยต้องได้รับการฉีดวัคซีนเร็วที่สุด และครอบคลุมให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งแม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อเพียงแต่ว่าอาการของโรคจะน้อยลง

สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าและฉีดวัคซีนอยู่ 2 ชนิด คือ วัคซีนจีนซิโนแวค (Sinovac) และวัคซีนบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (Astra Zeneca) เทคโนโลยีออกซฟอร์ด ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนที่เหมาะกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าซิโนแวค

อย่างไรก็ดี สังคมเริ่มตั้งคำถามและมีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเฉพาะคนที่เป็นแพทย์ทั้งในเชิงแนะนำการใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 พร้อมๆ กับมองว่า วัคซีนโควิด-19 ทั้ง 2 ชนิดที่ฉีดอยู่ทุกวันนี้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่? และไทยควรอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนตัวอื่นได้แล้ว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และที่เคยระบาดมาก่อน เมื่อมีการระบาดระลอก 2 ก็จะเข้าสู่ระลอก 3 และจะมีระลอกต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าการระบาดหนักกว่าเดิมมาก จะมีการแพร่กระจายโดยเร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างไร เพราะบางสายพันธุ์อาจดื้อต่อการรักษา บางสายพันธุ์อาจดื้อจากภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นด้วยวัคซีน

“ระลอกแรกเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นของจีน จากนั้นเป็นสายพันธุ์ G ที่มีการระบาดทั่วโลก ปัจจุบันหลายประเทศเข้าสู่ระลอก 3 ระลอก 4 ก็จะเป็นสายพันธุ์ที่แตกไปจากเดิม ที่พบกันเยอะคือ สายพันธุ์สหราชอาณาจักร หรือสายพันธุ์ B.1.1.7 ที่ระบาดอยู่ในอังกฤษ ซึ่งไวรัสตัวนี้สามารถจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นและแบ่งตัวได้ดีขึ้น ทำให้เกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็ว”

รศ.นพ.ธีระ บอกว่า ไม่ใช่แค่สายพันธุ์อังกฤษ ยังมีสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 ซึ่งไวรัสตัวนี้สามารถหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และอาจมีผลต่อการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์บราซิล P.1 โดยทั้ง 3 สายพันธุ์ทำให้ทั่วโลกมีความกังวลว่าจะเกิดการระบาดรอบใหม่

“ที่ย่านทองหล่อจากการตรวจพบว่าเป็นสายพันธุ์สหราชอาณาจักร ก็เป็น 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่ทั่วโลกกังวลกัน ทุกคนจะต้องรู้จักป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะสายพันธุ์นี้ระบาดได้รวดเร็วมากที่ทั่วโลกมีความกังวลในการระบาดระลอกใหม่”

รศ.นพ.ธีระ บอกว่า ประชาชนต้องทำความเข้าใจเรื่องของวัคซีนจะได้ไม่ใช้ชีวิตประมาท เพราะวัคซีนมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งทั่วโลกมีการศึกษา วิจัย รวมถึงสรรพคุณก็จะแตกต่างกันไป ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้วัคซีนที่มีสรรพคุณสูง เช่น วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ วัคซีนของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson&Johnson) และวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)

“เราจะพบว่าสรรพคุณของไฟเซอร์ โมเดอร์นา จะแตกต่างจากวัคซีนของไทย ที่ฉีดซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งแม้จะฉีดวัคซีนไปแล้วก็สามารถติดเชื้อได้ และสามารถเอาเชื้อไปแพร่คนใกล้ชิดได้”






โดยในวงการแพทย์มีการพูดคุยกันถึงการจะเลือกใช้วัคซีนประเภทใด หรือตัวใด เพราะพื้นฐานในทางการแพทย์วัคซีนที่ฉีดไปแล้วนั้น สรรพคุณข้อแรก ต้องสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อเราฉีดแล้ว และเราไปพบคนติดเชื้อ แต่เราจะไม่ติดเชื้อ

ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ที่มีสรรพคุณที่ได้รับการพิสูจน์ว่าป้องกันการติดเชื้อได้มี 3 ตัว คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน & จอห์นสัน ซึ่งจะมีสรรพคุณป้องกันการติดเชื้อ 70%

“วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เราใช้หนึ่งในสองตัว สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แค่ 2% ส่วนซิโนแวคของจีนไม่มีข้อมูลปรากฏว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่ง 2 ตัวของเราดูท่าทางจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้”

สรรพคุณข้อที่สอง คือ วัคซีนที่ฉีดไปแล้ว หากติดเชื้อขึ้นมาสามารถป้องกันการป่วยได้ นั่นหมายถึงว่า หากติดเชื้อมาแล้วไม่เกิดอาการ ซึ่งการป้องกันการป่วยนั้นวัคซีนโควิด-19 จะมีสรรพคุณแตกต่างกันไป อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา พวกนี้สามารถป้องกันได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าที่เราใช้อยู่ป้องกันได้ประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์

“จึงไม่ได้เป็นการการันตีว่า ฉีดไปแล้วจะไม่ป่วย เพราะสรรพคุณป้องกันได้ 62% ก็แปลว่า มี 38 คนจาก 100 คน จะมีโอกาสป่วย”

ส่วนวัคซีนซิโนแวค ในเรื่องของการป้องกันการป่วยยังมีข้อมูลไม่ชัดเจน บางประเทศบอกป้องกันการป่วยได้ประมาณ 50% นิดๆ แต่บางประเทศบอก 90% ที่สำคัญวัคซีนซิโนแวค ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลวิจัยในวารสารทางการแพทย์อย่างชัดเจน

“คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคก็เปรียบเหมือนการโยนหัวก้อย คือ มีโอกาส 50 ต่อ 50”

ดังนั้น หากใครก็ตามที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า ก็ต้องรู้ว่าสรรพคุณของวัคซีนตัวนี้ทั้งในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการป่วยมีอัตราความเสี่ยงเป็นเช่นไร

“สรรพคุณของวัคซีน 2 ตัวนี้เมื่อฉีดไปแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อและป่วยได้ รัฐก็ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตไม่ประมาทเพราะคิดว่าได้วัคซีนไปแล้วก็เลือกที่จะใช้ชีวิตเสรีไปตามปกติ ไม่รู้จักป้องกัน”

สรรพคุณข้อที่สาม คือ เมื่อมีการฉีดวัคซีนไปแล้วจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ ซึ่งวัคซีนส่วนใหญ่จะได้ผลทางด้านนี้ โดยสรรพคุณที่ออกมาได้ผลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

“วัคซีนโควิด-19 ของไทยทั้ง 2 ตัว ฉีดไปแล้วไม่ป้องกันการติดเชื้อ จึงสามารถติดเชื้อได้ และเอาเชื้อไปแพร่คนอื่นได้ แต่ทำให้โอกาสตายน้อยลง เพราะป้องกันได้ จึงเป็นสรรพคุณที่จำกัด ส่วนวัคซีนที่เป็นที่พึงปรารถนาของทั่วโลก คือ วัคซีนดี ป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งปัจจุบันมีไม่กี่ตัว ซึ่งไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และโมเดอร์นา (Moderna) ก็ใช่ แต่เมืองไทยไม่เอาเข้ามา”

ที่มา: Facebook .นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ บอกว่า ในเรื่องของวัคซีนนั้นต้องดูว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ในความเห็นส่วนตัวถึงการระบาดในขณะนี้นั้นยังไม่คิดว่าเป็นการระบาดระลอก 3 เพราะถ้าดูข้อมูลทั้งหมดจะพบว่าการระบาดระลอก 2 จากปลายปี 2563 ถึงปลายเดือน มี.ค.2564 ยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ เพราะยังมีการติดเชื้อทุกวัน หลักสิบบ้าง หลักร้อยบ้าง

“ยังตัดไม่ได้ เพราะโรคแพร่กระจายไปทั่ว ปะทุขึ้นไม่ว่าตลาด โรงเรียน สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง จะเห็นว่าระลอก 2 ยังไม่เสร็จสิ้น แต่กำลังปะทุขึ้น ส่วนระลอก 3 จะมาเมื่อไหร่ ถ้าเราคุมยังไม่ดีก็จะสะสม มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดวันกักตัว ก็จะเจอการนำเข้าสายพันธุ์ที่ไม่เคยเจอจะมีสูง จากนั้นก็จะมีการระบาดที่หนักหน่วงตามมา”

ขณะเดียวกัน จะมีการระบาดรุนแรงหลังจากเดือนมีนาคมเป็นต้นไปอีก 7-10 สัปดาห์ หรืออาจจะเร็วกว่านั้นประมาณกลางเดือน พ.ค.ถึง มิ.ย.นี้ ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการป่วย สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคนไทยคือการป้องกันตัวเอง (Self Protection)


โดยเฉพาะเดือน เม.ย. มีช่วงวันหยุดยาว และสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในขั้นวิกฤต ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ จึงขอให้งดการท่องเที่ยว เดินทางเฉพาะจำเป็นจริงๆ สวมหน้ากาก ล้างมือ และรักษาระยะห่าง ซึ่งจะได้ผลมากที่สุด

“สิ่งที่ควรทำ คือ ใส่หน้ากากสองชั้น หน้ากากอนามัยไว้ข้างใน ใส่หน้ากากผ้าไว้ด้านนอก เพราะพิสูจน์ว่าป้องกันดีกว่าใส่ชั้นเดียว แต่ถ้าใส่เป็นหน้ากากอนามัยสองชั้น ไม่ได้ช่วย แต่การใส่หน้ากากผ้าด้านนอก จะเน้นให้มันกดทับหน้ากากด้านในให้มันฟิตกับใบหน้า ส่วนเฟซชิลด์ไม่ได้ช่วยอะไร และหมั่นสังเกตอาการตัวเอง ถ้าเป็นก็ให้รีบไปตรวจรักษา”

นั่นคือวิธีการป้องกันตัวเองในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ดีที่สุดหากเรายังไม่สามารถได้วัคซีนที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ ที่ดีพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อและการป่วยได้!


กำลังโหลดความคิดเห็น