xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหน้าชัดๆ ขบวนการล้มคดี “บอส อยู่วิทยา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คดีนายวรยุทธหรือ"บอส" อยู่วิทยา ทายาทเศรษฐีกระทิงแดงที่รวยติดอันดับของประเทศ ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเหตุเกิดเมื่อปี2555 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเมื่อช่วงกลางปี2563 ถือเป็นคดีอื้อฉาวที่สะท้อนให้เห็นความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรมที่สังคมกดดันให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ต้องดำเนินการตรวจสอบใหม่ กระทั่งเมื่อ วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคดีนี้โดย มี ** “ศ.วิชา มหาคุณ”** เป็น “ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน”

โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รวมไปถึงอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์อีกหลายมหาวิทยาลัย อาทิ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายกสภาทนายความ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

หลังจากนั้นเพียงประมาณ 1 เดือน คณะกรรมการทำรายงานสรุปส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปตั้งแต่ วันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยในการแถลงข่าว ศ.วิชา ระบุอย่างชัดเจน ว่า มีขบวนการช่วยเหลือ นายวรยุทธ “บอส” อยู่วิทยา ทั้งยังมีการสมคบคิดกันอย่างเป็นระบบ และ นายกรัฐมนตรีก็ได้ส่งรายงานฉบับนี้ ไปที่หน่วยสังกัด ทั้งอัยการและตำรวจ ให้ตรวจสอบคนที่เกี่ยวข้อง แต่จนกระทั่งวันนี้ก็ไม่มีการดำเนินการทางวินัยใด ๆ ที่เป็นรูปธรรม

ล่าสุด "รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ" โดยสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเครือผู้จัดการ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กได้นำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงฉบับศ.วิชา ออกมาตีแผ่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างละเอียด พบว่า รายงานได้ระบุ ชื่อ-นามสกุลของผู้ที่เกี่ยวข้องเอาไว้อย่างละเอียดจำนวน 7 คน และที่ถือว่าเป็นตลกร้าย และ เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างที่สุด ที่ปรากฎว่า ทุกวันนี้ ผู้ร่วมขบวนการหลายคนนอกจากจะไม่โดนเอาผิดแล้วยังกลับได้ยศได้ตำแหน่ง เติบโตในสายงาน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้สร้างพยานเท็จโดยการนำตัว **นายสุเวศ หอมอุบล** ลูกจ้างของครอบครัวอยู่วิทยา มามอบตัวรับสมอ้างว่าเป็นผู้ขับรถ แม้ต่อมาในวันเดียวกันผู้ต้องหายอมจำนนมามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนกลับให้การภาคเสธ โดยอ้างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความผิดของผู้ตายและผู้ต้องหาเพิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว
ข้ออ้างอันเป็นเท็จนี้เป็นเหตุให้ **พันตำรวจเอก วิรดล ทับทิมดี** พนักงานสอบสวน ตั้งข้อหาอันเป็นเท็จและไม่ชอบด้วยกฏหมายต่อผู้ตายซึ่งตายในทันทีหลังจากถูกชนว่าเป็นผู้ต้องหาร่วม ทั้งที่การตั้งข้อหาจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีชีวิตอยู่และได้แจ้งข้อหาให้แก่ผู้นั้น ในวาระแต่งตั้งโยกย้าย รองผู้บังคับการ (รองผบก.) ถึงผู้กำกับการ(ผกก.) ประจำปี 2563 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เพิ่งเซ็น ให้ พ.ต.อ.วิรดล ย้ายจาก ผกก.สอบสวน กลุ่มงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจจราจร ไปเป็น ผกก.ฝ่ายอำนวยการ4 กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น

ขณะที่นายตำรวจคนอื่นๆ ก็ได้ดิบได้ดีไม่แพ้กัน อาทิ “พล.ต.อ.ม.” ที่นั่งเก้าอี้ใหญ่โตใน สตช.และจะเกษียณอายุราชการ ในเดือนกันยายนปี 2564 นี้ เช่นเดียวกับ “พล.ต.ท.พ.” ที่ก็ใหญ่โตไม่แพ้กันในเก้าอี้ “พิเศษ” ในสตช.ก่อนเกษียณอายุราชการ

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกลับได้รับผลในทางตรงกันข้าม เช่น เมื่อมีการออกหมายจับผู้ต้องหา พลตำรวจตรี อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ (ผบก.ตท.) ได้แจ้งให้ตำรวจสากลทราบถึงหมายจับผู้ต้องหาเพื่อนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี แต่ปรากฏว่าหลังจากปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้น พลตำรวจตรีอภิชาติฯ ได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ ประจำกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 น่าเชื่อว่าเป็นการโยกย้ายที่มีความไม่ปกติ อันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง

กล่าวโดยสรุป มีการดำเนินการแทรกแซงกระบวนการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการดำเนินคดีมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหารให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงทำให้คณะกรรมการชุดอาจารย์วิชา มหาคุณ สรุปในรายงานว่า “กระบวนการทั้งสิ้นนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย” พร้อมมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

1.ต้องเริ่มกระบวนการตรวจสอบใหม่ให้ถูกต้องในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหายาเสพติด ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

2.จะต้องมีการดำเนินการทางวินัยและอาญา ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมในขบวนการนี้ คือ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้บังคับบัญชาที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการ ทนายความ พยานที่ให้การเท็จ ผู้ใช้และผู้สนับสนุนในการทำผิดกฏหมาย ส่วนพันตำรวจเอกธนสิทธิ์ และรองศาสตราจารย์สายประสิทธิ์ ได้สมัครใจให้ข้อมูลจึงควรกันไว้เป็นพยาน

3.ต้องมีการดำเนินการทางจริยธรรม จรรยาบรรณ มารยาท โดยองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง อย่างจริงจังและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ

4.ควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้บังคับบัญชา ผู้มอบอำนาจ ต้องกำกับดูแลแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจให้ถูกต้องตามกฏหมายและจริยธรรม หากผู้บังคับบัญชาละเลยให้ถือว่าเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่

5.คณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป แต่เห็นควรเสนอให้มีการแก้กฏหมายและระเบียบในประเด็นเร่งด่วนคือ

1.1 สำนักงานอัยการสูงสุด การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการในเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ต้องให้ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหามาร้องด้วยตนเอง และต้องระบุเหตุ พยาน หลักฐานให้ครบถ้วน การร้องขอความเป็นธรรมเกินหนึ่งครั้งต้องมีพยานหลักฐานใหม่

1.2 สำนักงานอัยการสูงสุด การมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมกับการสั่งไม่ฟ้อง ต้องมอบอำนาจให้รองอัยการต่างคนกัน แต่ไม่ว่าจะผลพิจารณาจะเป็นอย่างไรต้องรายงานให้อัยการสูงสุดทราบทุกกรณี

1.3 การมอบอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องเป็นไปตาม ม.74 และกรณีสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของอัยการ ต้องรายงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกครั้ง

1.4 เพิ่มประมวลกฏหมายอาญาเรื่องอายุความ ว่าถ้าผู้ต้องหาหลบหนีในระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา ให้ฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีผู้ต้องหาได้ และให้นับเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
กำลังโหลดความคิดเห็น