xs
xsm
sm
md
lg

รวบอำนาจ 31 กฎหมาย ชิงได้เปรียบเลือกตั้ง??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 3 พ.ค.64 นำเสนอรายงานพิเศษ รวบอำนาจ 31 กฎหมาย ชิงได้เปรียบเลือกตั้ง??



กว่า 1 สัปดาห์แล้วที่มีการประกาศเรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 3 ออกมา

สาระสำคัญของประกาศฉบับด่งกล่าว คือการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย ทั้งหมด 31 ฉบับ มาไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียวเป็นการชั่วคราว

เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน

โดยเป็นที่ทราบกันดีถึงเหตุผลให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ กับการระบาดระลอกที่ 3 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.64 เป็นต้นไป

เพื่อให้ข้อสั่งการสามารถสั่งตรงจากนายกรัฐมนตรีไปยังส่วนปฏิบัติการ โดยมิต้องผ่านรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆตามปกติ

แต่ก็มีคำถามว่า การรวบอำนาจมาไง้ที่นายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ต้องการอะไรกันแน่ เพราะร่วม 1 สัปดาห์ที่ผ่านไป ก็ยังไม่มีการใช้อำนาจให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อสั่งการ หรือแผนการบูรณาการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในภาพรวมใดๆที่เป็นผลจากอำนาจพระราชบัญญัติ 31 ฉบับออกมา

เพราะการประกาศยกระดับพื้นที่ 6 จังหวัดเป็นสีแดงเข้ม ตลอดจนการออกมาตรการเข้มงวดที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นต้นมานั้น ก็ถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ มากกว่าการใช้อำนาจโดยตรงตามประกาศฉบับที่ 3

ยกตัวอย่างเช่น การบริการจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ก็ยังไร้ซึ่งความชัดเจน ทั้งที่กฎหมายหลายฉบับที่รวบอำนาจมาที่นากยรัฐมนตรี ล้วนแล้วแต่เป็นอำนาจโดยตรง เกี่ยวกับการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติยา พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ หรือพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น

แม้แต่การวางโรดแมปแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้สาธารณชนรับทราบ และสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับเอื้อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่เห็นแต่อย่างใด

ทั้งที่การวางโรดแมปถือเป็นโมเดลการทำงานที่ พล.อ.ประยุทธ์ นิยมใช้ และพูดจนคุ้นปากมาตั้งแต่สมัย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จะเป็นการถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจง และให้ข้อมูล ถึงวัตถุประสงค์ของการรวบอำนาจกฎหมายหลายสิบฉบับไว้ที่ตัวเอง และจะมีการใช้อำนาจล้นมือดังกล่าวในเรื่องสำคัญใดบ้าง และมีกระบวนการอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพว่า การทำงานแบบบูรณาการต่อไปข้างหน้า

เพราะหากไร้ความชัดเจนอย่างในตอนนี้ ท่ามกลางกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล กระแสโจมตีถึงความไร้ประสิทธิภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งเฟคนิวส์ที่กระหน่ำเข้าใส่รัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ก็พาลให้ประชาชนหลงเข้าใจอย่างที่มีการปล่อยข่าว หรือมีการวิเคราะห์เป็นตุเป็นตะต่างๆนานาออกมา

กระแสข่าวที่แรงที่สุดในตอนนี้เห็นจะเป็นการประเมินสถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ที่อาจนำไปสู่การยุบสภา

ตามมาด้วยกระแสข่าวที่ว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ รวบอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับมาไว้กับตัวเอง ก็เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองในช่วงที่มีการยุบสภา และการเลือกตั้งครั้งใหม่

ตั้งท่าจะยุบสภา และถืออำนาจกฎหมายเหล่านี้เข้าคูหาเลือกตั้ง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง มากกว่าที่จะใช้เพื่อแก้ไขวิกฤตโควิด-19

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และร้ฐบาล ไม่ชี้แจงว่า ต้องการใช้อำนาจ 31 พระราชบัญญัติในทิศทางใด หรือติดขัดปัญหาใด ก็ไม่ผิดที่ผู้คนจะวิเคราะห์และเข้าใจไปเช่นนั้น

ดังนั้นทางที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน พล.อ.ประยุทธ์ และร้ฐบาล จึงควรที่จะออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น