นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนปราสาทบราน (Bran Castle) แห่งทรานซิลเวเนีย ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะของ “ปราสาทแดรกคูลา” ในเดือนพฤษภาคม จะมีร่องรอยของรูเจาะแทบทุกคน แต่รอยเจาะดังกล่าวปรากฏอยู่ที่แขน มิได้อยู่ที่คอ ทั้งนี้ ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจังหวัดบราซอฟ ประเทศโรมาเนีย ดินแดนแสนงดงามแห่งยุโรปตะวันออก ไปตั้งศูนย์ชั่วคราวเพื่อการแจกวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่เรือนเล็กในผืนแผ่นดินปราสาทบราน อันเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่โดดเด่นของภูมิภาคทรานซิลเวเนีย
ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะโปรโมตให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปรับการฉีดวัคซีน จึงมีการจัดกิจกรรม “แจกวัคซีนมาราธอน” ที่ปราสาทแดรกคูลา ในทุกสุดสัปดาห์ตลอดเดือนพฤษภาคม 2021 โดยประเดิมเริ่มต้นกันในวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา
บรรยากาศในศูนย์แจกวัคซีนแห่งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์น่าเอ็นดูเกี่ยวกับท่านเคานต์แดรกคูลาจอมผีดิบดูดเลือด เช่น บนชุดป้องกันการติดเชื้อของเหล่าแพทย์และพยาบาลจะติดสติกเกอร์รูปเขี้ยวปลายแหลมเปี๊ยบเหยาะรอยเลือดขำๆ ชวนให้อมยิ้มเมื่อได้พบเห็น อีกทั้งโปสเตอร์ภาพเข็มฉีดยาบนแนวฟันแดรกคูลาที่ชวนให้นึกถึงเขี้ยวแหลมๆ เจาะบนคอเหยื่อเพื่อดูดเลือด ลูกเล่นเหล่านี้ให้ความรู้สึกเขย่าขวัญ ฮาๆ มันๆ เต็มไปด้วยสีสันวันหยุดพักผ่อน
ทุกท่านที่เข้าไปใช้บริการในศูนย์ฯ ที่ปราสาทบรานอันเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนประเภทที่ต้องฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
ที่ผ่านมาวัคซีนไฟเซอร์ได้รับอนุมัติใช้งานเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 เป็นกรณีฉุกเฉินโดยสำนักงานอาหารและยา (FDA) ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 โดยเป็นผลงานการพัฒนาระหว่างบริษัทไฟเซอร์กับบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี
ปราสาทบรานในภูมิภาคทรานซิลเวเนียแห่งนี้ถูกกล่าวขวัญกันมาเนิ่นนานว่า เป็นแรงบันดาลใจให้นักประพันธ์ไอริชคนดังคับโลก บราม สโตกเกอร์ เจ้าของอมตะนวนิยายเรื่อง “แดรกคูลา” สร้างจินตนาการแห่งสถานสิงสู่ของผีดิบดูดเลือด ซึ่งพัฒนาตัวละครขึ้นมาจาก เจ้าชายวลาด เทเปซ (หรือ วลาดีมีร์ ในรัสเซีย) ผู้ปกครองทรานซิลเวเนียในโรมาเนียยุคกลาง ผู้ซึ่งขึ้นชื่อด้านความโหดเหี้ยมในการทรมานเชลยศึก ทั้งนี้ หลังจากที่นวนิยายแดรกคูลาปรากฏตัวในบรรณพิภพเมื่อปี 1897 ก็ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม และกลายเป็นรากฐานของวรรณกรรมสยองขวัญกลุ่มผีดิบดูดเลือดในปัจจุบัน
ผู้บริหารกิจการท่องเที่ยวของปราสาทบรานให้ความอนุเคราะห์แก่รัฐบาล ในการใช้สถานที่เป็นศูนย์แจกวัคซีน โดยส่วนหนึ่งก็ตั้งความหวังว่าบริการเชิงสาธารณสุขนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลกันมาเยือนปราสาทแดรกคูลา ซึ่งเงียบเหงาซบเซานับจากที่เกิดโรคระบาดโควิด 19
ในทุกสุดสัปดาห์ตลอดเดือนพฤษาคม ศกนี้ ผู้ที่สมัครใจขอรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 สามารถเดินเข้าไปรับการฉีดได้โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า
ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ก็สามารถเข้าชมนิทรรศการ “52 เครื่องทรมานสุดโหดแห่งยุคกลาง” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นิทรรศการจัดกันไว้ด้านในของตัวปราสาท
“แนวคิดคือ เราแสดงให้เห็นวิธีที่คนยุโรปถูกจิ้มเมื่อ 500-600 ปีที่แล้ว” กล่าวโดย อเล็กซานดรู พริซคู ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของปราสาทบรานแห่งเทือกเขาคาร์เพเทียน เทือกเขาอันชอุ่ม งดงาม และมีความยาวสูงสุดอันดับ 3 ของยุโรป
เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ปราสาทแดรกคูลา ยังได้รับของที่ระลึก คือ ประกาศนียบัตรสรรเสริญความกล้าหาญและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งบอกด้วยว่าบุคคลที่ปรากฏนามในประกาศนียบัตรจะได้รับการต้อนรับเข้าสู่ปราสาทไปตลอด 100 ปีข้างหน้า
ผอ.พริสคู ให้สัมภาษณ์แก่เอพีด้วยว่า ปราสาทบรานได้รับการร้องขอมากมายจากชาวต่างประเทศที่อยากจะมาขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ณ สถานที่สยองขวัญแห่งนวนิยายยอดนิยมระดับโลกแห่งนี้ แต่ก็ต้องปฏิเสธไป เพราะว่าเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในโรมาเนียเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าใช้บริการที่โบราณสถานสถาปัตยกรรมกอธิกแห่งนี้
หนุ่มเฟอร์นันโด โอรอซโค นักพัฒนาตลาดพลังงานทางเลือกวัย 37 กะรัต เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวที่มาเยือนปราสาทบรานแห่งนวนิยายแดรกคูลาเมื่อวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม 2021 และได้รับประกาศนียบัตรแห่งความกล้าหาญและความรับผิดชอบต่อสังคมไปชื่นชม บริษัทที่หนุ่มโอรอซโคสังกัดด้วยนั้นอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และเขามีหน้าที่มาสร้างตลาดในโรมาเนีย รอยเตอร์รายงานไว้อย่างนั้น
โอรอซโคบอกว่าตั้งใจมาเที่ยวชมปราสาทบราน และคิดว่าไหนๆ ก็มาถึงแล้ว เข้าไปฉีดวัคซีนซะด้วยเลย แบบว่าได้ทริปพิเศษ มาหนึ่ง-ได้ถึงสอง พอเรียกได้
สำหรับผลการรณรงค์ชวนเชิญให้คนโรมาเนียเข้ารับการฉีดวัคซีนในสัปดาห์ประเดิมกิจกรรม "แจกวัคซีนมาราธอน” ที่ปราสาทแดรกคูลานี้ ปรากฏตัวเลขว่ามีผู้เข้ารับวัคซีนเกือบ 400 ราย
ต้องยอมรับว่ากิจกรรมครั้งนี้ซึ่งเน้นจะกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวจากโรคโควิด 19 และยอมรับการฉีดวัคซีนนั้น ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เมื่อได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของหนุ่มลิวิวอู เนคูลา นักท่องเที่ยวชาวโรมาเนียที่ไปเยือนปราสาทแดรกคูลา และประทับใจกับโปสเตอร์ กระทั่งตัดสินใจรวบรวมความกล้า ยอมเดินเข้าไปรับการฉีดวัคซีน และแฮปปี้มากที่ได้เข้าชมนิทรรศการเครื่องทรมานสุดโหดแห่งยุคกลาง
รัฐบาลโรมาเนียประกาศว่าจะรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้ได้ 10 ล้านคนภายในเดือนกันยายน ศกนี้ และได้ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนแบบที่อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ เช่น ศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แบบที่ประชาชนขับรถเข้าไปรับบริการโดยไม่ต้องลงจากรถ อีกทั้งศูนย์แจกวัคซีนมาราธอนแบบว่าให้บริการกันตลอด 24 ชั่วโมงตามสถานที่ใหญ่ๆ เดินทางสะดวกตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น หอสมุดแห่งชาติ ในกรุงบูคาเรสต์
“ศูนย์เหล่านี้จัดให้แก่ทุกท่านที่ต้องการรับวัคซีนแต่ไม่อยากจะทำนัดหมายล่วงหน้าออนไลน์” ผอ.บีทริส มาห์เลอร์ แห่งโรงพยาบาลมาริอุส นาสตา ให้สัมภาษณ์แก่เอเอฟพีอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั้งประเทศนั้น ดูเหมือนว่าชาวโรมาเนียเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มต่ำที่สุดที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับชาวยุโรปตะวันออกอื่นๆ ทั้งนี้ เป็นผลการสำรวจที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2021 โดยองค์การโกลบเซ็ก (Globsec) ซึ่งเป็นนักคิดนักวิเคราะห์ภาคเอกชนในบราติสลาวา ในการนี้ ประชาชนในโรมาเนียได้รับแจกวัคซีน ได้แก่ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า
เอเอฟพีให้ตัวเลขว่าชาวโรมาเนียเกือบ 3.6 ล้านรายได้รับวัคซีนหนึ่งโดสเรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลปักหมุดเบื้องต้นว่า ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2021 จะต้องฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ให้แก่ประชาชนไม่น้อยกว่า 5 ล้านราย ซึ่งจะเป็นนจุดหมายเพื่อประกาศว่าโรมาเนียได้กลับสู่สภาวะปกติแล้ว
ที่ผ่านมาโรมาเนียเคยประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ขั้นร้ายแรง โดยในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2020 โรมาเนียประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างหนัก เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ที่เหมาะสม พร้อมกับมีการแพร่ระบาดอยู่ในโรงพยาบาลและในบรรดาบุคลากรทางสาธารณสุข โดยตรวจพบว่าพนักงานในระบบการดูแลสุขภาพติดเชื้อโควิด 19 มากกว่า 8,000 ราย
รัฐบาลโรมาเนียแก้วิกฤตด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างเข้มงวด มีการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน โดยยกเว้นให้เป็นบางเงื่อนไขและผ่อนปรนแก่เหตุผลความจำเป็นเพียงไม่กี่กรณี
โรมาเนียมีประชากร 19 ล้านราย และตามสถิติของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปคินส์ ระบุว่าชาวโรมาเนียที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 มีมากกว่า 1 ล้านราย และมีการเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 29,000 ราย
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : รอยเตอร์ เอเอฟพี เอพี ซินหัว วิกิพีเดีย คอมมอนวิกิพีเดีย เดอะเมเยอร์ดอทอียู และสแตติสตาดอทคอม)