xs
xsm
sm
md
lg

“นางฟ้าแม่ค้าทุเรียน” บินฝ่าโควิด ปอกเอง-ขายเอง-ลูกค้าตรึม!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เจาะใจ! แอร์โฮสเตสสายการบินดัง หันมาสวมถุงมือ ถือมีดปอกทุเรียนขาย สร้างรายได้ในวันที่โควิดมาจนฟ้าปิด “เครื่องบินจะ Take off ต้องต้านลม นี่คือโอกาสให้เราทะยานขึ้น”



โควิดทำเส้นทางชีวิตเปลี่ยน!

“ใครจะไปคิดว่าวันนึงฟ้าจะปิด เราจะไม่สามารถเดินทางกันได้ ไม่มีใครคิดว่าสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้น โควิดกระทบทุกคน ทุกเซกเตอร์ในสังคม ในจุดนี้จีจี้มองว่าเราจะต้องคิดแล้ว สเตปต่อไปเราจะทำยังไงกันดีที่จะก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้”

“จีจี้-ชาภา พันสุทธิรางกูร”แอร์โฮสเตสวัย 30 ปี สังกัดการบินไทย เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงบทบาทของชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 แน่นอนว่าอาชีพของเธอนั้นก็เป็น 1 ในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทุกสายการบินจำเป็นต้องลดเที่ยวบิน



ทว่า…ในวิกฤตก็ยังมองเห็นแสงสว่าง เพราะเธอมองเห็นทางรอดจากผลไม้เศรษฐกิจ นั่นก็คือ “ทุเรียน” ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน เพราะเส้นทางที่เธอเลือกใหม่นั้น ดูจะขัดแย่งกับการอาชีพลูกเรือที่ทำมา 7 ปีอย่างสิ้นเชิง

จีจี้ต้องเริ่มนับศูนย์ในบทบาทของแม่ค้าขายทุเรียน ตั้งแต่การเลือก การปอก ตลอดจนขายด้วยตนเอง โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นตลาดในการซื้อ-ขาย ด้วยความพยายามและแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง ทำให้ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน เธอสามารถขายทุเรียนไปแล้วกว่า 12 ตัน!

สตาร์ทกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือ หน้าทุเรียนจันทบุรีออกพอดี ถึงวันนี้ก็ 11-12 ตันแล้วค่ะ คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเยอะมาก แต่จริงๆ แล้ว แม่ค้าทุเรียนที่เป็นสวนหรือทำมานานแล้ว เขาคุยกันหลักร้อยตันขึ้น สเกลเรายังเล็กมาก ด้วยความที่เป็นสวนของครอบครัว เป็นญาติฝั่งของคุณแม่ ตอนที่เขาชวนเราไปทำเราก็เกรงใจ เขาก็บอกว่าถ้าจีจี้อยากลองก็เอาไปล็อตแรกก่อน ถ้าฟีดแบ็กดีเขาก็ยินดีที่จะช่วยเหลือเราต่อ จากวันนั้นมาก็ทำมา 2 เดือนแล้วค่ะ



ตอนนี้ทางสวนของบ้านเรามีหมอนทอง ก้านยาว ชะนี พวงมณี คือ พันธุ์หลักๆ ที่เรามีอยู่ ที่รับมาปีนี้สตาร์ทซีซัน 90-100 บาท ก็ลองคูณกับ 600-700 กิโลที่เอามาค่ะ ถ้าราคาแพงคือขึ้นไปถึง 130-150 บาท รับมาเต็มคันรถกระบะประมาณ 600-700 กิโลได้ ทุเรียน 1 ลูก ก็ 3-4 กิโลแล้ว ยังไงรถคันนั้นมันขายได้แน่นอน แต่หลักที่สำคัญเลยคือ ผู้ซื้อคือใคร ถ้าขายส่งก็ง่ายหน่อย เขารับไปทีนึง 200-300 กิโล

จีจี้เรียนจบบัญชี อยู่กับตัวเลขมา ยังออกจากคอมฟอร์ตโซนไปเป็นแอร์ฯ แล้วทำไมจะขายทุเรียนไม่ได้ ตอนนี้ต้องเรียกว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว (หัวเราะ) ตอบไลน์ อ่านแชต ยกเอง ส่งเอง แพ็กเอง แกะเอง รีวิวเองทุกอย่าง เป็นแม่ค้าออนไลน์ เราไม่ได้คิดว่าจะขายดี”

สำหรับทุเรียนจากแม่ค้ามือใหม่รายนี้ มีทั้งแบบยกลูกไปปอกเอง และขายแบบแกะเนื้อ โดยเนื้อทุเรียนล้วนมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ขีดละ 100 บาท



“มีทั้งขายปลีกและขายส่งค่ะ จีจี้บริหารด้านการขายปลีกอย่างเดียว เราปอกเอง ในส่วนของแกะเนื้อขายขีดละ 100 บาท เป็นราคาที่จับต้องได้ ไม่แพงจนเกินไป 1 กล่อง 5 ขีด สามารถสั่งเพิ่มได้ ทางด้านขายส่งให้ที่บ้านดู อย่างที่เรียนให้ทราบว่าบางเจ้าแม่ค้าในกรุงเทพหรือนนทบุรีที่เขารับไปจากเราทีนึง 100-200 โล ตรงนี้คือตัวที่ทำให้ยอดมันเพิ่มขึ้นมาก

ในส่วนของแกะเนื้อเราส่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลค่ะ จริงๆ มีลูกค้าต่างจังหวัดที่อยากจะทาน แต่ด้วยความที่เรายังไม่มั่นใจว่าส่งวันนี้อาจจะกรอบนอกนุ่มใน แต่พอไปถึงมือเขาแล้วมันจะยังอยู่ในสภาพที่สวยงามเหมือนที่เราแกะไปหรือเปล่า จีจี้ยังไม่วางใจเท่าไหร่ที่จะส่งไป แต่ยกลูกไปแกะเองเราส่งได้หมด มีตั้งแต่ยะลา นราธิวาส จนถึงเชียงใหม่

การเลือกทุเรียนมีเกรด A, B, C เขาจะดูว่าทรงสวยมั้ย 5 พูเต็ม 6 พูเต็มหรือเปล่า เกรดนี้ส่วนใหญ่คนในประเทศอาจจะได้ทานน้อยหน่อย เพราะจะส่งออกได้ราคาดี กลายเป็นว่าพอโควิดมาปุ๊บ อาจจะมีปัญหาในเรื่องการส่งออกเพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าปีนี้คนในประเทศได้ทานของดีในราคาไม่แพงค่ะ”

7 ปีกับบ้าน “การบินไทย”

อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้น ก่อนหน้าที่เธอจะมาขายทุเรียนนั้น เธอมีอาชีพหลักคือแอร์โฮสเตสประจำการบินไทย ด้วยความที่มีใจรักการในงานบริการและผูกพันกับองค์กร ทำให้จีจี้ประจำอยู่สายการบินนี้มานานถึง 7 ปีแล้ว

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะมาทำอาชีพนี้ จีจี้เรียนจบบัญชีภาคภาษาอังกฤษมาจากธรรมศาสตร์ ได้เคยไปทำบัญชี แล้วกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน ทำโรงกลึง แต่เรารู้สึกว่าความชอบหรือความสนุกตอนที่เราเรียนกับตอนทำงานมันไม่เหมือนกัน ก็เลยคิดว่าจะทำอะไรดี

ประจวบเหมาะกับที่การบินไทยเปิดรับพอดี ตอนนั้นเพิ่งอายุ 23 ก็อยากที่จะท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา เราก็เลยลองสมัครดูค่ะ งานออฟฟิศอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่ออฟฟิศของลูกเรือคือเครื่องบิน พอเครื่องแลนด์เสร็จ เราสามารถไปเที่ยวข้างนอกได้ ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดี น่าจะมีอะไรที่เหมาะกับเรามากกว่า ก็เลยลองเลือกที่จะทำงานแอร์โฮสเตสค่ะ



จีจี้เป็นคนที่เข้ากับใครก็ได้ สมมติเจอกันครั้งแรก เราสามารถที่จะคุยกับเขาได้โดยที่ไม่เคอะเขิน ในอีกมุมเป็นคนที่รักงานบริการ เป็นคนที่ชอบดูแลคนอื่น จีจี้เลยมองว่า เรามี soft skill ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นเรา แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ ไฟลต์แรก ไฟลต์ที่ 2 มันเริ่มเข้ากับเรา เราก็เลยทำมาเรื่อยๆ เริ่มต้นกับการบินไทยจนทุกวันนี้ 7 ปีก็คือบ้านหลังเดิม

สำหรับอนาคตในสายอาชีพนี้ เธอยังมองว่า หากวันหนึ่งฟ้าเปิดได้อีกครั้ง ก็ยังอยากที่จะกลับไปให้บริการผู้โดยสารเช่นเดิม

“ในการเป็นลูกเรือ อย่างตอนแรกเริ่มต้นเข้าไป อาจจะเป็นลูกเรือที่ทำ Economy class สเตปต่อไปคือขึ้นไปทำ Business Class และ First Class แม้กระทั่งสอบเป็นผู้จัดการเที่ยวบิน จริงๆ แล้วงานลูกเรือไม่ได้มีขีดจำกัดเพราะ เราไม่ได้ fix ว่าเก้าโมงจะต้องเข้างาน ห้าโมงออกจากงาน เราอาจจะมีวันว่างที่สามารถจะไปทำอย่างอื่นได้

ตอนแรกเราก็คิดว่างานนี้เป็นงานที่รายได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็แลกมาด้วยสุขภาพเพราะกิน-นอนไม่เป็นเวลา ไฟลต์ยุโรปส่วนใหญ่จะออกเที่ยงคืน ไปถึงที่นู่นประมาณเที่ยงบ้านเรา แทบจะไม่ได้นอนเลย 1 รอบนาฬิกา เราก็ต้องมองตัวเองแล้วว่า สุขภาพเราไหวมั้ย

การบินไทยก็น่ารักตรงที่ว่าให้สัญญาเรายาว สัญญาตอนนั้นถึงอายุ 45 และต่อปีต่อปีได้ถึงอายุ 60 อันนี้คือสัญญาก่อนหน้าโควิด จีจี้มองแค่ว่า ถ้าวันนั้นอายุเรา 40 สุขภาพเรายังได้ หรือแม้กระทั่งเรา 50 ถ้าเรายังมีความสุข ก็อาจจะทำต่อ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้ปิดกั้นตัวเองว่าเราจะต้องทำอย่างเดียว เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำอย่างอื่นด้วย”



ปัจจุบัน ด้วยวิกฤตโควิดจะกระทบต่อการทำงาน แต่เธอยังมีสภาพเป็นพนักงานขององค์กรนี้ ขณะที่การเยียวยาต่างๆ จากทางต้นสังกัดก็ยังต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด

จริงๆ แล้วรายได้หลักๆ จะมีเบสเงินเดือน นอกเหนือจากนั้นคือค่าบิน เราเรียกว่า Flight Per diem ในเมื่อไม่ได้บิน ตรงนี้ก็หายไป เขาก็สามารถซัปพอร์ตเราได้ในเรื่องของเงินเดือน ด้วยความที่การบินไทยเข้าฟื้นฟูอย่างที่เห็นกันในข่าว จากวันนี้เป็นต้นไปก็ต้องฟังนโยบายต่อไปว่าเขาจะทำยังไงกับรายได้ของเรา

จีจี้เองในฐานะที่เป็นพนักงานของการบินไทย เราเองก็ต้องพึ่งพาอาศัยบริษัท เพราะฉะนั้นถ้าการจัดการบริหารมันดีขึ้น ทุกๆ คนก็แฮปปี้ พนักงานก็แฮปปี้ค่ะ

การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นของบ้านเรา ด้วยความที่ต่างประเทศเขาอาจจะมีอะไรที่พร้อมกว่าเราในด้านของ Structure ของกำลังการผลิตวัคซีน หรือในด้านของการรับมือกับวิกฤตทั้งหลาย ไม่ใช่แค่วิกฤตทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น วิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตทางสังคม ทุกๆ อย่างเขาก็เลยอาจจะทำได้ดีกว่าเรา ไม่ได้บอกว่าอันนี้ดีหรือไม่ดีนะคะ แต่ทุกอย่างมันต้อง step by step”



และก่อนหน้าที่จะมาขายทุเรียนนั้น นางฟ้าการบินไทยผู้นี้มีอีกรายได้เสริม คือ การเปิดคอร์สฝึกการเป็นลูกเรือ ตลอดจนเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษ ที่ทำมาได้กว่า 5 ปีแล้ว

“ก่อนอื่นเรามองตัวเองว่าศักยภาพของเราทำอะไรได้บ้าง อันดับแรกเลยตัวจีจี้ชอบภาษาอังกฤษ ระหว่างวันว่างที่เรามี ก่อนหน้านี้ เราเทรนน้องๆ ที่เข้าอยากที่จะทำลูกเรือ เทรนเขาขึ้นมาให้เขาไปสมัครแล้วผ่าน ตรงนั้นถือว่าเป็นความภูมิใจ ว่างานที่ 2 ของเราสามารถสร้างอาชีพให้กับคนอื่นได้

เรื่องที่ 2 การเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษ เราทำเองง่ายๆ จากเพจ “Aircrew academy ฮาวทูสมัครแอร์” ในการสอนภาษาอังกฤษและมีการสอนออนไลน์ด้วย ซึ่งเราทำของเรามาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว จุดนี้ก็เลยมองว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องมีแหล่งรายได้ที่เดียว พอโควิดมาปุ๊บก็เลยมองตัวเองว่า จากสิ่งที่เราเคยทำออนไลน์มาก่อน เราเอามาต่อยอดอะไรได้บ้าง”



อาชีพแอร์โฮสเตส สอนอะไรมากกว่าที่คิด



“ตอนแรกเราเป็นแค่ผู้โดยสาร เราเห็นงานพี่แอร์โฮสเตสด้านเดียว เราไม่ได้คิดเลยว่าดีเทลมันจะเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย และในส่วนของเซอร์วิสนี่สำคัญมากๆ เพราะว่าเราเป็นหน้างาน เราสัมผัสกับผู้โดยสารโดยตรง

เคยมีกัปตันท่านหนึ่งพูดว่า ‘บินปลอดภัย ใจอบอุ่น’ สิ่งนี้คือจุดที่เรายึดของการบินไทย คนจะคิดว่างานลูกเรือคืองานบริการบนเครื่องบิน เดินสวยๆ เสิร์ฟอาหาร เสิร์ฟน้ำ แต่จริงๆ แล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ของงาน คือ การรักษาความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร ซึ่งมีตั้งแต่ทารก เวลาเครื่องขึ้น-ลง เขาอาจจะเจ็บหู แล้วเขาไม่สามารถบอกได้ เราในฐานะลูกเรือก็จะต้องเข้าไปช่วยคุณแม่คุณพ่อในการดูแลน้อง ยาวจนไปถึงผู้โดยสารสูงอายุ รวมถึงผู้โดยสารที่เจ็บป่วย

ประสบการณ์ที่จีจี้ประทับใจมากที่สุด ก็คือ การได้ช่วยชีวิตของผู้โดยสารบนเครื่อง จีจี้เคยเจอเคสผู้โดยสารเปิดประตูออกจากห้องน้ำมา แล้วเรายืนอยู่ตรงนั้นพอดี จุดนั้นคือเขาเป็นลมแล้วล้มใส่เราเลย เราก็คว้าเขาไว้ ลองคิดดูสิว่าถ้าไม่มีลูกเรืออยู่ตรงนั้น ถ้าหัวฟาดลงไปจะเกิดอะไรขึ้น

หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ เราก็ประกาศเรียกหมอ และช่วยปฐมพยาบาลผู้โดยสาร อุปกรณ์เหล่านี้การบินไทยมีครบอยู่แล้ว บนเครื่องจะมีที่ปั๊มหัวใจไฟฟ้าหรือมีกระเป๋ายา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเทรนมาเพื่อช่วยชีวิตผู้โดยสารค่ะ ในโมเมนต์นั้นจีจี้มองเลยว่า ไม่ใช่งานที่สบายหรือทุกคนจะคิดว่าภาพลักษณ์สวยงาม แต่มันคือการที่เราดูแลชีวิตคนนึงจริงๆ

จีจี้มองว่าทุกๆ งานมีความสวยงามของมัน แล้วแต่ว่าใครจะชอบอะไร แต่ว่างานแอร์โฮสเตสคือการทำงานกับคน เราจะต้องมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นจุดที่สำคัญมาก การที่เราได้คอนเน็กกับผู้โดยสาร หรือคอนเนกกับเพื่อนร่วมงาน บางวันเขาอาจจะมี Good day บางวันอาจจะมี Bad day แต่เมื่อเขาเข้ามาอยู่ในบ้านของเราแล้ว ทำยังไงให้เรารู้สึกดี รู้สึกอบอุ่น เหมือนที่บอกไปเบื้องต้นว่า ‘บินปลอดภัย ใจอบอุ่น’ ค่ะ (ยิ้ม)”



เมื่อนางฟ้าต้องจับมีดผ่าทุเรียน!

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่คนทั่วโลกยังต้องเผชิญอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีหลายธุรกิจ หลายอาชีพต้องปิดตัวลงไป แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

เช่นเดียวกันกับแอร์โฮสเตสคนสวยผู้นี้ เธอมีความคิดที่ว่า จะพึ่งพารับเงินเดือนจากต้นสังกัดอยู่อย่างเดียวไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมองหาลู่ทางอื่นไว้อีกทา และนี่คือจุดเริ่มต้นของการจับพลัดจับผลูมาเป็น “แม่ค้าทุเรียน” เรื่องราวจะเป็นยังไง ติดตามได้จากบรรทัดต่อจากนี้…



สวนทุเรียนเป็นสวนของญาติที่จันทบุรีค่ะ ก่อนหน้านี้ เราแทบจะไม่อยู่เมืองไทยเลย เพราะบินตลอด แล้วบ้านก็อยู่ที่กรุงเทพฯเป็นหลัก จันทบุรีเราแทบไม่ได้ไป แต่ก็ติดต่อสื่อสารกันอยู่ พอโควิดมามีนาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นเราก็ยังงงๆ กันอยู่ว่ามันจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าวิกฤตนี้มันจะผ่านไปได้ 3 เดือนก็แล้ว 6 เดือนก็แล้ว จนครบ 1 ปี

อารมณ์ตอนนั้นมันคือความไม่แน่นอน จากที่เราเคยแต่งตัวออกจากบ้านทุกวัน ทำงานที่เรามีความสุข พอเราไม่ได้ทำ จีจี้เชื่อว่าทุกคนดาวน์หมด แล้วเรารอมาปีนึงแล้ว ที่บ้านเขาก็บอกว่า อาจจะถึงเวลาแล้วนะที่เราน่าจะก้าวข้ามจุดนี้ไป รอได้ แต่ในระหว่างรอก็อาจจะต้องหาอย่างอื่นทำด้วย

เราก็ต้องมองตัวเองแล้วว่า เราจะพึ่งพาแค่เงินเดือน เราพอมั้ย อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะมองหาช่องทางอื่น บ้านที่กรุงเทพฯก็มาคุยกันว่า เราลองไปรับทุเรียนจากที่สวนมาดูมั้ย เพราะว่ายังไงเรามั่นใจว่าคุณภาพ ยังไงไม่น้อยหน้าคนอื่นแน่นอน ก็เลยลองถามเขาดูว่าโอเคมั้ย



เราเห็นอยู่แล้วว่าสวนเขามีผลผลิตต่อปีมากน้อยแค่ไหน เราก็เลยคิดว่าทุเรียนมันไม่เคยขายไม่หมด (หัวเราะ) พูดง่ายๆ ว่าดีมานด์มากกว่าซัปพลาย ถ้าเรามีของอยู่ในมือ แล้วของเราคุณภาพดี ทำไมมันจะไม่มีตลาดให้เรา ไม่ได้คิดอะไรไกล คิดว่าอยากขายของ (หัวเราะ) พอทางนู้นเขา Say yes ปุ๊บ เราก็ตีรถกระบะไปเอาเลย ด้วยความที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน คอยประคับประคองเราไป บอกว่าอย่าท้อนะ ทุกอย่างเรียนรู้ได้ เขาก็สตาร์ทให้เรา

หลังจากที่ตัดสินใจรับทุเรียนหมอนทองล็อตแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เธอต้องมาเรียนรู้เกี่ยวกับเจ้าผลไม้สุดอันตรายชนิดนี้ใหม่หมด นับตั้งแต่การเลือก การฟังเสียงความสุก การปอกให้สวยงามพร้อมขาย โดยมีคุณครูที่ชื่อว่า “ยูทูป” เป็นผู้มอบความรู้ให้

ความรู้ในการเลือกทุเรียนยังไม่เข้าใจเลย เป็นศูนย์ (หัวเราะ) แต่จี้เชื่อมั่นเลยนะคะว่า ถ้าเราตั้งใจแล้วว่าอยากพัฒนาตัวเอง โทรศัพท์เครื่องเดียวเราสามารถดูได้ทุกอย่าง ง่ายที่สุดและฟรีคือยูทูป มีคนมาแชร์เยอะมาก จีจี้ต้องขอขอบคุณพี่ๆ หลายคนในยูทูปที่เขาให้ความรู้โดยที่เขาไม่คิดสตางค์เลย คลิปแรกที่ไปเจอผ่าทุเรียนยอดวิว 3,000,000 วิว เรามองแล้วว่าตลาดทุเรียนไม่ธรรมดาและมีคนที่อยากเรียนรู้มาก



พอเรียนรู้จากในยูทูปแล้ว ต่อไปก็ต้องลงมือทำเอง การเลือกทุเรียนคือดูรูปร่างเขาก่อน ถ้าลูกสวย ไม่บิดเบี้ยว ก็จะทำให้การสุกของเขาสม่ำเสมอกัน ทุกๆ พู มันจะเต็มพูและอร่อยเท่ากันทั้งลูก เอามาลูกนึง ก็ค่อยๆ ทำตามที่เขาบอก ด้วยความที่ทุเรียนหนามเยอะ แล้วหนามหมอนทองคมที่สุด เราก็กลัว แต่ก่อนที่จะผ่าต้องฟังเสียงคือสิ่งที่สำคัญมาก แล้วมันไม่สามารถบอกได้ถ้าหูเรายังไม่ชินสุกหรือยังไม่สุก พูดง่ายๆ คือการดูทุเรียนคือ ตาดู หูฟัง มือผ่า

ผ่าลูกแรกไม่มีทางเป๊ะแน่นอน ลูกที่ 2 ก็อาจจะยังแต่ต้องดีขึ้น พอไปลูกที่ 10 เริ่มชินแล้ว จนผ่าได้ถึงทุกวันนี้ ถ้าใครอยากที่จะทำทุเรียนแต่ไม่กล้าผ่าเอง ลองดูก็ได้ค่ะ มือจีจี้ก็เล็กแค่นี้ยังทำได้เลย ถ้าเป็นคนที่เชี่ยวชาญทำครัวอยู่แล้ว อาจจะชินมากกว่าด้วยซ้ำ ดูร่องของหนาม ดูให้แม่น ถ้ามองพูเขาไม่แม่น ผ่าไปกลางพูปุ๊บ ไม่สวยแล้ว อย่างที่บอกว่าตลาดออนไลน์ สิ่งที่ขายได้คือรูปและรีวิว ถ้าเราผ่าลงไปแล้วไม่สวย พูนั้นก็ขายไม่ได้ หรืออาจจะไม่น่าทานเท่าที่ควร”

ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของทุเรียนนั้น อาจดูขัดกับความอร่อยที่ซ่อนอยู่ใต้หนาม เช่นเดียวกับจีจี้ ที่แม้ภายนอกเธอจะเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ดูน่าทะนุถนอม แต่ภายในกลับเข้มแข็ง เพราะได้รับการหล่อหลอมมาตั้งแต่เป็นแอร์โฮสเตส เธอยอมรับว่า ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าวันหนึ่งต้องมาจับมีดผ่าทุเรียนเช่นนี้



“ตอนที่ทำทุเรียนต้นฤดู น้ำหนักขึ้นเพราะว่าทานทุเรียนเยอะ แต่พอเราทำไปได้ซักเดือนนึง กลายเป็นว่าน้ำหนักลดเพราะการผ่าทุเรียนใช้แรงเยอะมาก มันไม่มีเครื่องจักรที่จะช่วยทุ่นเราได้ ก็เอาเท่าที่เราไหว เคยปอกสูงสุดต่อวันก็ตั้งแต่แปดโมงเช้ายันหกโมงเย็น ประมาณ 20-30 ลูกได้ ลูกนึงใช้เวลานานเหมือนกันนะคะ ต่ำๆ เลยครึ่งชั่วโมง บางทีต้องมีจุดพักบ้าง เพราะออกแรงไปเราใช้ข้อมือเต็มๆ เลย ซึ่งข้อมือก็มีปัญหามาตั้งแต่ตอนเป็นแอร์แล้ว วันนั้นก็สาหัสเหมือนกัน

ความรักสวยรักงามจีจี้เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมีในตัวเองอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน งานแอร์โฮสเตสก็หนักไม่แพ้กัน ข้างนอกทุกคนอาจจะคิดว่าบอบบาง (หัวเราะ) แต่ข้างในจะต้องแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเข้าเมฆเข้าฝน เราก็ต้องดูแลได้ ตรงนี้มันคือประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาแล้ว 7 ปี

พอมาทำทุเรียนก็เหมือนการก้าวข้ามออกจากคอมฟอร์ตโซน ตอนแรกที่เห็นทุเรียนมีหนามเยอะขนาดนี้ เรากลัวอยู่แล้วว่ามันจะแทงมือเรา ก็ต้องหาอะไรที่มาช่วยเรา ใส่ถุงมือสิ เราไม่จำเป็นต้องไปจับเขาแรงๆ เพราะทุเรียนเขาหนักอยู่แล้ว เราไม่ต้องประคองเขาเยอะ แค่จับพอให้มีดลงไปแล้วไม่สะบัด อันนั้นถือว่าใช้ได้ ซึ่งน้ำหนักมือในการที่เราจะถือมีดก็มาพร้อมประสบการณ์เช่นเดียวกัน ถ้าใครที่อยากเข้ามาทำตรงนี้ ต้องลอง เพราะ skill เหล่านี้ไม่สามารถสอนกันได้”



เกร็ดความรู้ เพื่อคอทุเรียน



“ทุเรียนเป็นผลไม้ร้อน หมายความว่า ถ้าเย็นเขาจะสุกช้า ถ้าเราเก็บเขาไว้ในที่เย็นหรือที่ชื้นจะมีปัญหาแล้ว เพราะเขาจะต้องคายน้ำตลอดเวลา ทุเรียนวันนี้ลูกค้าชั่งได้ 3 กิโล พรุ่งนี้น้ำหนักจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องปกติของทุเรียน เราต้องแจ้งลูกค้าให้ทราบธรรมชาติของทุเรียนเป็นแบบนี้

อันนี้อาจจะเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ว่า ไม่ควรวางเขาไว้ในห้องแอร์ การวางที่ดีคือไม่วางบนพื้นโดยตรง จะต้องมีผ้ารองก่อนแล้วค่อยนำทุเรียนมาวาง ตรงนั้นจะต้องเป็นที่แห้ง โล่ง มีลมผ่าน ไม่ใช่ที่อับชื้นหรือที่มีความเย็น เพราะถ้ามีความเย็นปุ๊บ เขาคายน้ำไม่ได้ ทุเรียนจะสุกไม่สม่ำเสมอ ข้างในผิวจะไม่สวย หรือแม้กระทั่งเน่าด้วยซ้ำค่ะ”



มอง “ตลาดออนไลน์” คือทางรอด

“ปกติทุกคนจะซื้อทุเรียนร้านหรือจากสวนที่คุ้นเคยกันเพราะเขาต้องมั่นใจในคุณภาพ พอโควิดมันเข้ามา ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนเปลี่ยนไปเลย ก็ทำให้ตลาดออนไลน์มันเปิดขึ้น ฟีดแบ็กดีค่ะถ้าเทียบแล้วสเกลไม่ได้ใหญ่มาก เหมือนแค่คนใกล้ตัว แต่พอมีสื่อเข้ามาช่วยสัมภาษณ์เราด้วย หน้าบ้านเราคนเห็นเยอะขึ้น เขาก็แอดไลน์แล้วก็โทรมาสอบถามข้อมูลว่าขายยังไง มีพันธุ์อะไรบ้าง ตรงนี้จีจี้เลยมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราอยู่ถูกที่ถูกเวลา”

สำหรับหญิงสาวคนนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกคนที่หันมาเอาดีทางด้านตลาดออนไลน์แล้วไปได้สวย ซึ่งนอกจากคุณภาพของสินค้าที่รับรองว่าไม่ด้อยกว่าใครแล้ว อีกส่วนมาจากโอกาสที่ครอบครัวการบินไทยมอบให้ และแรงสนับสนุนจากพี่น้องในสถาบันที่จบมา



“เราก็โพสต์รูปก่อนในว่าเดี๋ยวทุเรียนกำลังจะออกนะคะ จีจี้มีทุเรียนอยู่ ถ้าใครสนใจสามารถแอดไลน์หรือทักแชทมาได้ ก็ถ่ายรูป เลือกรูปที่มันดูน่าสนใจ ใส่แฮชแท็กเพื่อให้คนเขาหาเราเจอง่ายขึ้น แล้วก็ต้องเปิดโปรไฟล์ให้เป็นสาธารณะ ตอนแรกเราก็ไม่ได้อยากเปิดมากเพราะยังใส่ชุดการบินไทย เวลาทำอะไรที่เป็นส่วนตัวเราต้องคิดนิดนึง แต่พอโควิดมาปุ๊บ ทางบริษัทเองเปิดโอกาสให้เราสามารถไปหาช่องทางอื่นทำได้ เขาอยากที่จะให้กำลังใจพนักงาน ก็ไม่ได้ปิดกั้นเรา

การทำการตลาดให้บูม เราต้องคิดถึงการโพสต์แล้ว สเตปต่อไปคือเฟซบุ๊กกรุ๊ป ซึ่งก็มีเพื่อนอยู่คนนึงที่ให้คำแนะนำเรามา โพสต์ในกรุ๊ปใกล้ตัวแล้วกัน “ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ก็เล่าสตอรี่นิดนึงว่าเป็นแอร์การบินไทยนะคะ ตอนนี้ผันตัวมาขายทุเรียน ถ้ามีรุ่นพี่รุ่นน้องคนไหนที่อยากจะทานทุเรียนก็ติดต่อจีจี้มาได้นะคะ แค่นั้นเลยค่ะ

ผ่านไป 4 วันมา 500 ไลก์ เราก็งง (หัวเราะ) แสดงว่าตลาดนี้ใช้ได้ ตลาดนี้มีกำลังซื้อ แล้วก็มีการสนับสนุน เหมือนครอบครัวเดียวกัน หน้าบ้านสวยแล้ว หลังบ้านจะทำยังไง นั่นคือ การเลือกของที่มีคุณภาพดีของเรา การแกะทุเรียนที่ดูแล้วสวยงาม เนื้อไม่เละเกินไป ไม่สุกเกินไป ไม่ห่ามเกินไป ต้องเป๊ะเหมือนกัน”

และเป็นโชคดี ที่จีจี้จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จึงได้มีโอกาสนำความรู้ด้านนี้มาใช้กับการค้าขายได้โดยตรง ผนวกกับทักษะของงานลูกเรือ ก็ยิ่งเป็นการเสริมให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น



“การทำบัญชีเรื่องต้นทุน-กำไร เป็นเรื่องปกติของการค้าขาย ต้องดูราคาท้องตลาดตลอดว่าเราจะขายเท่าไหร่ ถ้าช่วงไหนที่ราคาลง เราก็ต้องลงให้ลูกค้า เพื่อที่ว่าดีมานด์ตรงนี้ยังได้อยู่ ช่วงไหนที่ราคาขึ้น ก็ต้องพูดกับลูกค้าให้เข้าใจว่า ทางสวนส่งมาให้เราต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่าซัปพลายมันน้อยลง สถานการณ์ตลาดเป็นแบบนี้นะคะ ทุเรียนเป็นผลไม้ ต้องรอให้เขาโต ไม่เหมือนโรงงานที่มีสายการผลิตที่ไปได้เรื่อยๆ ก็ต้องคุยกันให้เข้าใจ

ในส่วนที่นำทักษะการเป็นแอร์โฮสเตสมาทำงานนี้ เราจะต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด อย่างตอนที่เป็นลูกเรือ พอเขาขึ้นมาบนเครื่อง จะต้องปลอดภัย ท้องต้องอิ่ม ตัวต้องไม่หนาว แต่พอมาทำทุเรียน ลูกค้าเขาจ่ายสตางค์มาหลักร้อยขึ้น เขาจะต้องมาพร้อมความคาดหวัง เหมือนกับผู้โดยสารที่เขาอยากได้รับการบริการที่ดี พร้อมกับสิ่งของคุณภาพดี

การทำธุรกิจ ปัญหาคือโจทย์ที่จะต้องแก้ไข ปัญหาคือส่วนหนึ่งของงาน เพราะฉะนั้นเราอย่าปิดกั้นปัญหา ต้องเปิดใจรับและพยายามแก้ไขไป สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงให้ลูกค้าเขารู้สึกว่าเรารับผิดชอบและอุ่นใจที่จะซื้อกับเรา ลูกค้าใหม่ก็สำคัญ แต่ลูกค้าประจำสำคัญมาก ถ้าเรา keep relationships ที่ดีกับลูกค้าไว้ได้ เราเลือกของคุณภาพดีให้เรารอบแรก ยังไงรอบที่ 2 เขาจะต้องมาหาเราแน่นอน จีจี้อยากจะฝากไว้กับคนที่อยากจะทำธุรกิจว่า มองยาวๆ นะคะ”

ในการทำธุรกิจนั้น ย่อมต้องมีวันที่เจอปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ และสำหรับผลไม้อย่างทุเรียนเอง ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติของผลไม้ชนิดนี้อย่างดี



“ทุเรียนมันอยู่ในเปลือก ถ้าเขาซื้อยกลูกไป จีจี้ก็ไม่เห็นเนื้อจนกว่าลูกค้าจะผ่า ซึ่งบางอย่างมันอาจจะเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้แจ้งว่าอย่าวางกับพื้นที่เย็น และจะต้องมีผ้าปูรองก่อน เพราะมันไม่ใช่ส่งทุเรียนวันนี้ ถึงวันนี้แล้วผ่าได้เลย บางทีจะต้องรอ 2-3 วัน เพราะฉะนั้นทางลูกค้าจะต้องจัดเก็บอยู่ในสภาพที่โอเค ตรงนี้จะต้องใส่ใจมาก

จีจี้บอกลูกค้าทุกคน ช่วยฟีดแบ็กบอกเรากลับมาทีว่าเนื้อลูกนี้เป็นยังไง มีปัญหามั้ย ทานแล้วอร่อยมั้ย เพื่อที่เราจะนำฟีดแบ็กไปพัฒนาต่อไป ถ้าผ่าไปแล้วมันเกิดปัญหาขึ้น เราต้องแจ้งสวน ต้นเป็นยังไง โอเคมั้ย

ในส่วนของแกะเนื้อ ด้วยความที่คนแกะไม่ได้ทาน คนทานไม่ได้แกะ สุกกำลังทานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน กรอบนอกนุ่มในของลูกค้ากับกรอบนอกนุ่มในของจีจี้ เลเวลอาจจะไม่เท่ากัน เราดูเนื้อแล้วเราว่าอันนี้โอเค แต่ลูกค้าทานแล้วแข็งไป เราก็ต้อง จำความชอบของแต่ละคนให้ได้”

ก้าวข้ามปัญหา “ต้องมีวันที่แดดออก”

เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า ใช้อะไรเป็นตัวช่วยให้ก้าวผ่านในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม่ค้าคนสวยกล่าวว่า ด้วยความที่เป็นคนมองโลกในแง่ดีและไม่หนีปัญหา จึงทำให้ในทุกครั้งที่เจอเรื่องทุกข์ใจ เธอสามารถแก้ไขมันจนผ่านมาได้

“อย่างแรกเลย การมองโลกในแง่ดี สำคัญมาก เพราะว่าโควิดมาปุ๊บ ทุกคนมืดหมด ทุกอย่างจะคลี่คลายเมื่อไหร่ สิ่งสำคัญที่จีจี้เรียนรู้จากการเป็นแอร์ฯก็คือ เครื่องบินจะ Take off ได้ ต้องต้านลมเท่านั้น ในเมื่อวิกฤตมันเข้ามาแล้ว นี่คือโอกาสให้เราทะยานขึ้น ถ้าเราจอดเครื่องบินเฉยๆ เราก็จะอยู่ที่เดิม อย่ากลัวปัญหา ยิ้มรับปัญหาซะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ต้องยอมรับให้ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน



การที่เราบริหารจัดการ แก้ปัญหาให้เขาได้คือเรา Take off แล้ว ยิ่งเราTake off ได้มั่นคงแค่ไหน เราก็สามารถที่จะพาศักยภาพของเราได้สูงเท่านั้น เพราะฉะนั้นการมองโลกในแง่บวกเป็นสิ่งที่ดี เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป เดี๋ยวมันจะต้องโอเค วันนี้ฟ้าอาจจะยังปิดอยู่ อาจจะยังเดินทางกันไม่ได้ แต่มันก็ต้องมีวันที่ฟ้าเปิด ลองคิดดูว่าธุรกิจอื่นเขาหนักกว่าเราตั้งเยอะ ไหนจะต้องมีลูกน้องที่ต้องดูแล เขาเองก็จะต้องผ่านตรงนี้ไปให้ได้เช่นเดียวกัน

ทุกคนจะถามว่าโลกสวยไปหรือเปล่า คิดดีแล้วยังไงต่อ จีจี้อยากจะถามกลับไปว่าการมองโลกในแง่ร้าย ทำให้เราดีขึ้นยังไงได้บ้าง การมองโลกในแง่ร้ายไม่เพียงแค่บั่นทอนวันนี้เท่านั้น ยังบั่นทอนคุณในระยะยาวด้วย ต้องมองกันยาวๆ มองให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ได้ค่ะ”

ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยนิด เธอจึงไม่อาจเรียกตนเองว่าเป็น “มือโปร” ด้านทุเรียนได้ แต่เธอก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งฝีมือของตนเองจะต้องพัฒนาขึ้นอย่างแน่นอน



“ยังพูดไม่ได้เลย แต่จีจี้มองตัวเองว่าเป็นนักเรียน ป.1 ที่ขยัน (หัวเราะ) ความรู้ก็เท่าที่ได้ อาจจะเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ ถูก แต่ประกอบกันเป็นประโยคต้องใช้เวลา วันนี้เราอาจจะเขียน ก.ไก่ ไม่สวย วันหน้าเราต้องเขียนให้สวย จนวันนึงเราประกอบเป็นประโยค เป็นเนื้อเรื่อง เป็นบทความได้

ทุกอย่างมาพร้อมประสบการณ์ ตอนแรกไม่เคยเข้าใจเลยว่าประสบการณ์คืออะไร เพราะเราคิดว่ามีความรู้ก็พอแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ประสบการณ์เราจะได้ก็ต่อเมื่อเราลงมือทำ ความผิดพลาดในวันนี้ วันหน้าเราจะต้องไม่ผิดค่ะ อันนี้คือเป้าหมายที่จีจี้มอง

จีจี้มองจุดแข็งตรงที่ว่าเรามี Story ที่เล่าได้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่คิดว่าจะมาทำทุเรียนเลย แต่พอมันเกิดโควิดขึ้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมเจอเหมือนกัน อีกเรื่องนึงคือการเป็นตัวเอง การที่เรามีความ unique ในแต่ละคน 7,000 ล้านคน ในโลก 70 ล้านคนในประเทศไทย ไม่มีใครเหมือนกัน ต้องหามันให้เจอว่าคืออะไร และใช้ตรงนั้นให้เป็นประโยชน์

จีจี้ค่อนข้างเชื่อในการที่คนเราเกิดแรงบันดาล แรงบันดาลใจคือจุดสตาร์ทที่ดี แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการลงมือทำอย่างจริงใจและจริงจัง อันนี้คือสิ่งที่สำคัญมากการกล้าที่จะเอาตัวเองออกมา การกล้าที่จะเป็นหน้าร้าน ต้องถามตัวเองว่าคุณพร้อมมั้ย ถ้ายังไม่พร้อม ยูทูปเลยค่ะ หาความรู้เพิ่มเติม ฟรี ง่าย วันนี้เราอาจจะยังไม่เจอทางของเรา แต่ในเมื่อเราดูไปเรื่อยๆ มันจะต้องเกิด Inspiration แน่นอน เพราะฉะนั้นจีจี้ไม่อยากให้ทิ้ง อยากจะให้ก้าวข้ามผ่านจุดนั้นไปให้ได้”



สำหรับอนาคตในการขายทำทุเรียนของสาวจีจี้นั้น ดูจะไปได้สวยทีเดียว เพราะขณะนี้ได้รับการติดต่อจากสวนทุเรียนแห่งอื่น ให้เธอช่วยดูแลการขายที่กรุงเทพฯให้แล้ว

“ถ้าเป็นทางจันทบุรี สวนของเราก็จะหมดไม่เกินมิถุนายน ตรงนี้เราก็คุยกับทางสวนแล้ว เราขอทำทุเรียนต่อไปทุกๆ ปีนะ เขาบอกโอเคเลย และความโชคดีที่เรามีรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ทางใต้ ติดต่อเรามาว่าเขาเองไม่เก่งมาร์เก็ตติ้ง แต่เขามีสวนนะ เดี๋ยวทุเรียนใต้จะมา อย่างที่ยะลาหรือสงขลาเริ่มติดต่อเรามาแล้ว จีจี้สนใจที่อยากจะพัฒนามั้ย เราอยู่กรุงเทพฯ เราสามารถบริหารจัดการ ทำเหมือนเดิมเลย แต่รับทุเรียนจากสวนเขามา

ตรงนี้อาจจะเป็นสเตปต่อไปที่จีจี้มอง ก็คือ ทุเรียนใต้ เพราะเขาจะออกหลังจากทุเรียนจันทบุรี ประมาณ 1-2 เดือน อย่างที่บอกว่าการที่เราทำธุรกิจ ลูกค้าไม่ได้มาหาเราแค่ครั้งเดียว มันคือการ Maintain ความสัมพันธ์นี้ไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีของที่ดี เขาโอเค เราอาจจะส่งต่ออันนี้ให้ คนที่ชอบทานทุเรียนก็อยากทานตลอด แต่ด้วยความที่หน้ามันมีแค่นี้ ถ้ามีของให้เขาทาน จีจี้ก็รู้สึกว่าเหมือนได้ดูแลเขาต่อ เรายังมีโอกาสได้เติบโตอีก”

ท้ายที่สุดนี้ แอร์โฮสเตสผู้หันเดินหน้าเป็นแม่ค้าทุเรียนเต็มตัว ได้ฝากถึงคนในสังคมที่กำลังเผชิญวิกฤตร่วมกัน ว่า ยังไม่สายที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะมีเพียงแค่โทรศัพท์เครื่องเดียว ก็สามารถหาความรู้ หาแรงบันดาลใจ ตลอดจนสร้างงานสร้างอาชีพให้ตนเองได้



“การเลือกของที่ตรงกับตัวเองและคุณภาพดี เพราะสมัยนี้การขายออนไลน์ รีวิวคือสิ่งที่สำคัญ สิ่งเหล่านั้นคือฟีดแบ็ก ถ้าคุณขายของที่ไม่ดี คุณก็จะได้ฟีดแบ็กที่ไม่ดี ความสัมพันธ์ของคุณกับลูกค้าก็จะสั้นมาก ถ้าอยากที่จะทำธุรกิจ อยากให้มองยาวๆ ใช้ของที่มีคุณภาพดี สุดท้ายแล้วจีจี้ก็เชื่อ ออนไลน์ส่วนนึง แต่ปากต่อปากสำคัญกว่า

การเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคน แต่ถ้าเรามองว่าการเปลี่ยนแปลงคือโอกาส ถ้ามองว่าการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป การทำธุรกิจคือการมีโทรศัพท์แค่เครื่องเดียวก็สามารถทำได้ ถ้าคุณเปลี่ยน Mindset ตรงนี้นิดเดียว คุณก็จะมองเห็นโอกาสมากมายเลย

พอวิกฤตมา เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้จีจี้ก็ได้มาจากการเป็นลูกเรือเหมือนกัน วันนี้บินเช้า พรุ่งนี้ต้องบินเที่ยงคืน ต้องปรับตัวตลอดเวลา หลายๆ คนมองว่าวิกฤตคือสิ่งที่มาทำให้ความปกติของเขาไม่ปกติ ทำไมไม่มองว่า สิ่งนี้มันมาเคลียร์สิ่งที่เก่าออกไปแล้วนำสิ่งที่ใหม่เข้ามา ฝนมันตกได้ไม่ตลอด เดี๋ยวมันต้องมีวันที่แดดออก แต่วันที่แดดออก คุณพร้อมหรือเปล่า คุณกล้าที่จะเติบโตมั้ย หรือคุณอยากจะอยู่เท่าเดิม”



GG’s Lifestyle



“ตั้งแต่ตอนที่เป็นแอร์แล้ว จีจี้ชอบที่จะดูแลสุขภาพ ด้วยความที่งานเรานอนไม่เป็นเวลา กิน-นอนไม่เป็นเวลา ขึ้นไปบนเครื่อง ความดันอาหารเปลี่ยน ออกซิเจนต่ำ ถ้าเราไม่ดูแลตัวเองให้ดีเราจะป่วยง่ายมาก จุดนี้จีจี้เลยมองว่า การที่เราดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เลยเป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย ไม่ได้เคยเสียเงินเข้าฟิตเนสมานานมาก เราว่าง ก็พกเสื่อโยคะไป แล้วก็โยคะในโรงแรมเองเลย หรืออยากคาร์ดิโอ คลิปมีเยอะมากในยูทูป สไลด์ไม่หมดเลยค่ะ

อีกส่วนหนึ่งเป็นคนที่ชอบต้นไม้มาก ชอบอยู่กับธรรมชาติ ชอบสวน พอโควิดมาปุ๊บ ทุกคนก็อยู่บ้านเพิ่มมากขึ้น มาอินเรื่องต้นไม้ ด้วยความที่เราอยู่ในการบินไทย สังคมเราค่อนข้างใหญ่ ก็จะมีเพื่อนที่ทำสวนทำต้นไม้ เราก็ได้ความรู้จากเขามาด้วย ก็มีโอกาสซื้อต้นไม้ ซึ่งตอนนี้ต้นไม้สามารถเป็นโมเดลธุรกิจที่ได้รายได้เยอะพอสมควร ไม่ใช่มองแค่สวยงามเท่านั้น มองไกลกว่านั้นว่าถ้าต้นนี้โตขึ้นไป เราสามารถที่จะหารายได้จากลูกหลานของต้นไม้ได้เช่นเดียวกัน”









ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Sharpar Pansuthirangkul” และอินสตาแกรม @gg_pan
ติดต่อสอบถามซื้อทุเรียน: โทรศัพท์หรือแอดไลน์ 063-946-2262



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น