xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันยังติดเชื้อโควิด เกิน 200 ราย/วัน เสียชีวิตเพิ่มอีก 28 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


การตรวจ Rapid Test ซ้ำครั้งที่ 2 ให้กับกลุ่มแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่มีความเสี่ยงต่ำประมาณ 1,000 คน (ภาพอาร์ทีไอ)
อาร์ทีไอนิวส์ รายงาน (10 มิ.ย.) ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่วันนี้ 266 ราย ผลตรวจ Rapid Test รง.ต่างชาติโรงงาน KYEC ครั้งที่ 2 พบ 30 คน มีผลตรวจเป็นบวก ขณะที่วัคซีน COVID-19 ที่กำลังพัฒนาในไต้หวันได้รับการขึ้นทะเบียนแบบ Emergency Use Authorization (EUA) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน จึงต้องมีการกำหนดข้อมูล ตรวจสอบมาตรฐาน และกลยุทธ์การพัฒนาวัคซีนให้ครอบคลุม

ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวันแถลงวันนี้ (10 มิถุนายน) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 266 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 3 ราย คือผู้เดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา และผู้ติดเชื้อในประเทศ 263 ราย ส่งผลทำให้ตอนนี้ไต้หวันมีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 12,222 ราย โดยพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่สูงสุดยังเป็นนครนิวไทเป 112 ราย, กรุงไทเป 58 ราย, เหมียวลี่ 43 ราย, นครเถาหยวน 14 ราย, จีหลง 12 ราย, จางฮั่ว 10 ราย, ฮัวเหลียน 7 ราย, หนานโถว/ซินจู๋ที่ละ 2 ราย และอี๋หลาน/ไถตง/ไถหนานที่ละ 1 ราย ขณะที่วันนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 28 ราย ส่งผลให้ไต้หวันมีจำนวนผู้เสียชีวตสะสมแล้ว 361 ราย

นอกจากนี้กรณีคลัสเตอร์แรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ KYEC เมืองเหมียวลี่ ซึ่งเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) ได้ทำการตรวจ Rapid Test ซ้ำครั้งที่ 2 ให้กับกลุ่มแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่มีความเสี่ยงต่ำประมาณ 1,000 คน พบว่ามี 30 คนที่ผลตรวจรอบแรกเป็นลบคือไม่พบเชื้อ แต่พอตรวจรอบที่ 2 กลับมีผลตรวจเป็นบวก จึงได้นำตัวทั้ง 30 คน ไปไว้ยังสถานที่กักกันโรคส่วนกลางและดำเนินการตรวจ PCR ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้กำลังรอผลตรวจยืนยันแบบ PCR เทศบาลเมืองเหมียวลี่แถลงว่า สำหรับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มใหม่วันนี้ 43 ราย ประกอบด้วยแรงงานต่างชาติ 40 ราย และชาวไต้หวัน 3 ราย แบ่งเป็นโรงงานจิงหยวน (KYEC) 11 ราย, โรงงานจื้อปัง (Accton) 28 ราย, โรงงานลี่จีเเตี้ยน (Powerchip Technology) 1 ราย, โรงงานจิงติ่ง (Fiti Group) 1 ราย และโรงงานไถซิน (Tyson Bioresearch) 1 ราย

ด้านสำนักงานอาหารและยาไต้หวัน ได้ออกมาชี้แจงถึงการผลิตวัคซีนในประเทศของบริษัท Medigen Vaccine Biologics Corporation หรือ MVC ระบุว่า เพื่อวัคซีน COVID-19 ที่กำลังพัฒนาในไต้หวันได้รับการขึ้นทะเบียนแบบ Emergency Use Authorization (EUA) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน จึงต้องมีการกำหนดข้อมูล ตรวจสอบมาตรฐาน และกลยุทธ์การพัฒนาวัคซีนให้ครอบคลุม

ตั้งแต่ปีที่แล้วสำนักงานอาหารและยาได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเกี่ยวกับทดลองทางคลินิกภายในประเทศ, การเก็บข้อมูลสถิติ, เภสัชวิทยากับพิษวิทยา, การผลิตกับการวิจัยพัฒนา และการสาธารณสุข มาร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ หลายครั้ง จนได้ข้อสรุปเป็นมาตรฐานสำคัญ 3 ประการคือ การแนบรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง, มาตรฐานการประเมินความปลอดภัย และเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพการรักษา

ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นการขอขึ้นทะเบียนแบบ EUA เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสาธารณสุขเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่การพิจารณาตรวจสอบเมื่อเปรียบเทียบกับการขึ้นทะเบียนยาปกติแล้วถือว่าไม่แตกต่างกันมาก คือประสิทธิภาพและประโยชน์ของวัคซีนจะต้องมากกว่าความเสี่ยง จึงจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้
กำลังโหลดความคิดเห็น